Vivienne Westwood กับการใช้ “พังก์” เป็นโอกาสทางการตลาด และการปั้นแบรนด์

(Photo by David M. Benett/Dave Benett/Getty Images)
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565 เป็นวันที่ข่าวการเสียชีวิตของวิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก การจากไปของราชินีแห่งแฟชั่นพังก์ด้วยวัย 81 ปีไม่เพียงทำให้โลกเทความสนใจไปที่ประวัติชีวิตโลนโผนของดีไซเนอร์แฟชั่นชาวอังกฤษคนเก่งเท่านั้น แต่ยังมีการกล่าวถึงแบรนด์ที่เป็นผลงานของวิเวียนอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาจุดยืน ”พังก์” ให้เปลี่ยนเป็นสไตล์ และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่โลกจดจำได้ในที่สุด

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของแบรนด์วิเวียน เวสต์วูด คือการโพสต์ Twitter เรื่องการเสียชีวิตอย่างสงบท่ามกลางครอบครัวที่เมืองแคลปแฮม ทางตอนใต้ของลอนดอน โดยทิ้งท้ายว่าโลกต้องการคนอย่างวิเวียน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า บทสรุปนี้ตอกย้ำถึงแนวคิดของแบรนด์ที่ต้องการให้วิเวียนเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา นักออกแบบผู้โด่งดังจากการนำสไตล์พังก์มาสู่โลกแฟชั่นชั้นสูงคนนี้ สามารถเปลี่ยนผ่านจากฐานะไอคอนวงการแฟชั่นพังก์ มาเป็นนักรณรงค์สิทธิมนุษยชนตัวแม่ไปแล้วเรียบร้อย

วิเวียนเคยสะท้อนมุมมองเรื่องการทำกิจกรรมรณรงค์สิทธิมนุษยชนของตัวเอง ว่ายุคสมัยของเธอนั้นมีการแบ่งขั้วทางการเมืองโดยกลุ่มฮิปปี้และกลุ่มพังก์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้าน “กลุ่มคนผู้เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามเวียดนาม” ที่ยังคงมีอำนาจล้นฟ้า จุดยืนพังก์ในยุคนั้นจึงเป็นการแสดงท่าทีไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่าง ซึ่งเป็นแรงผลักดันเดียวกันกับการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวของเธอและทุกคน ที่จะไม่ยอมทนกับอำนาจหรือตรรกะที่จัดการโลกแบบผิดๆ อีกต่อไป

Photo : Shutterstock

เกรี้ยวกราด แหวกแนว แต่มีเหตุผล

สำนักข่าวเทเลกราฟวิเคราะห์ส่วนผสมการตลาดของความเป็นวิเวียน เวสต์วูด ว่าเป็นการรวมกันของความโกรธเกรี้ยวและความแปลกแหวกแนว บนความมีเหตุผลอย่างลึกซึ้ง ส่วนผสมนี้ทำให้วิเวียน เวสต์วูด ตกผลึกเป็นหนึ่งในแบรนด์ทรงอิทธิพลสุดล้ำค่าของชาติอังกฤษ

รากฐานอิทธิพลของวิเวียน มาจากทักษะพิเศษในฐานะนักออกแบบ สไตล์แฟชั่นต่อต้านวัฒนธรรมของ Westwood ได้รับความสนใจครั้งแรกในปี 1970 เมื่อเธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งร้านบูติกชื่อเซ็กซ์ (Sex) ร่วมกับมัลคอล์ม แมคลอเรน (Malcolm McLaren) ไม่นาน ร้านขายสินค้าแฟชั่นสไตล์พังก์ของทั้งคู่ก็กลายเป็นจุดหมายของกลุ่มนักดนตรีวงพังก์และร็อก และผงาดเป็นแหล่งรวมตัวผู้แสวงหาสไตล์ทางเลือกไม่เหมือนใครในเวลารวดเร็ว

จากข้อมูลของ Variety ดีไซเนอร์คนดังได้นำเสนอการแต่งตัวรูปแบบใหม่ มีการรวมวัสดุแหวกแนวทั้งเศษผ้า วัสดุยาง และพลาสติกที่เย็บติดเข้าด้วยกัน ยังมีซิปและผ้าตาหมากรุกหลากหลาย รวมถึงเสื้อยืดลายกราฟิตี้สุดคลาสสิก ทั้งหมดนี้ต่อยอดจากวันที่เจ้าแม่แฟชั่นอย่างวิเวียนก้าวเข้าสู่รันเวย์ในปี 1981 โดยมีผลงานโบแดงชื่อไพเรทส์ (Pirates) ซึ่งเป็นคอลเลกชั่นร่วมที่เธอสร้างร่วมกับ McLaren

Photo : Shutterstock

งานของทั้งคู่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในเวลานั้น จุดเด่นคือการหลีกหนีออกจากโครงสร้างเสื้อผ้าสุดรัดกุม ซึ่งมักพบเห็นในทศวรรษก่อนหน้านั้น เมื่อเวลาผ่านไป วิเวียนสามารถแตกแขนงงานออกไปได้อีกไกล ตามข้อมูลจาก Vogue สาววิเวียนในเวลานั้นโละทิ้งแผ่นรองไหล่ที่ฮิตมากในยุคนั้น แล้วเลือกออกแบบเสื้อที่เข้ารูปมากขึ้น ทำให้ได้งานที่เพิ่มความเย้ายวนจากการเน้นสัดส่วนโค้งเว้าของผู้สวม จนในที่สุด วิเวียน เวสต์วูดก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ จากการดำเนินงานด้านแฟชั่นของเธอในปี 1992

ตอนนี้เองที่วิเวียนกลายเป็นข่าวพาดหัวตัวใหญ่ เพราะการไม่สวมชุดชั้นใน เข้ารับเครื่องราชฯ ที่พระราชวังบักกิงแฮม สะท้อนความขบถ และตัวตนของเธอแบบที่คนอังกฤษทั้งประเทศต้องจดจำ

ในช่วงทศวรรษที่ 90 สไตล์ของวิเวียนเปลี่ยนไปเป็นแนวเรโทร มีการผสมผสานงานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์และสัดส่วนที่ทันสมัย ทำให้เกิดช่วงเวลาบนรันเวย์ที่น่าจดจำที่สุดในยุคนั้น งานที่ทำให้โลกตะลึงที่สุดคือรองเท้าส้นสูง 9 นิ้วที่โชว์ในงาน A/W 1993 ซึ่งทำให้นางแบบระดับโลกอย่างนาโอมิ แคมเบลล์ล้มบนเวทีมาแล้ว

สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง

แม้จะเข้าสหัสวรรษใหม่หรือปี 2000 ขึ้นมา วิเวียนยังคงรักษากระแสความนิยมได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการนำเสนอคอลเลกชั่น Unisex ซึ่งเป็นคอลเลกชั่นสำหรับชายหัวใจหญิงในปี 2015 แน่นอนว่าคอลเลกชั่นนี้ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในสินค้ากลุ่มแรกๆ ที่นำเสนอลุค Unisex ต่อผู้ชมวงกว้าง ถือเป็นการย้ำภาพการเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงบนโลกแฟชั่น

นอกเหนือจากการจุดประกายให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นแล้ว เวสต์วูดยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านการบริโภคนิยมอย่างโจ่งแจ้ง รวมถึงการรณรงค์เรื่องวิกฤตสภาพอากาศ และยังเป็นผู้นำในการเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น ความไม่เท่าเทียมกันของค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ก่อร่างเป็นภาพจำติดตัวเธอไปในวันที่ลาจากโลกแล้ว

Photo : Shutterstock

รายงานระบุว่า วิเวียน เวสต์วูด จากไปท่ามกลางครอบครัว ซึ่งได้แก่ แอนเดรียส ครอนธาเลอร์ (Andreas Kronthaler) สามีของเธอ และลูกชายอีก 2 คน

ที่มา : Footwearnews, 440industries, Telegraph, Designtaxi