คำกล่าวยอดฮิตที่คนมักจะพูดกันคือ “พนักงานลาออกจากหัวหน้า ไม่ใช่ลาออกจากบริษัท” เพราะหลายคนที่ลาออกมักจะเกิดจากสถานการณ์ความสัมพันธ์ของตนกับหัวหน้า แม้ว่าเรื่องอื่นๆ เช่น เนื้องาน เพื่อนร่วมงาน จะดีก็ตาม แต่หัวหน้าแย่ๆ กลับทำให้พนักงานอยากให้เวลาเลิกงานมาถึงเร็วๆ
งานวิจัยของ Gallup จัดสำรวจวัยทำงานในสหรัฐฯ 7,000 คน และพบว่า 50% ของพนักงานที่เคยลาออก ออกเพราะต้องการจะหนีจากหัวหน้า
ในงานวิจัยเดียวกันนี้ยังพบด้วยว่า พนักงานส่วนใหญ่มองว่าหัวหน้าที่เคยเจอมามักจะมีปัญหาเรื่องการพัฒนาความสามารถของลูกน้อง ไม่สามารถให้ feedback การทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ และไม่สามารถตั้งเป้าหมายการทำงานให้ลูกน้องได้ชัดเจนพอ
นอกจากการพัฒนาทักษะให้ลูกน้องแล้ว พนักงานมักจะพบเจอหัวหน้าประเภท ‘toxic’ ด้วย และที่จริงหัวหน้าที่มีนิสัยเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อมการทำงาน มักจะเป็นตัวแปรที่ส่งให้ลูกน้องวิ่งไปเปิดเว็บไซต์หางานใหม่กันทันที
แล้วหัวหน้าที่มีพฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้ลูกน้องหางานใหม่ทันที? จากการสำรวจของ Signs.com พบว่า 10 พฤติกรรมของหัวหน้าที่ลูกน้องเกลียดที่สุด มีดังนี้
- ลำเอียง/มี ‘ลูกรัก’ ในที่ทำงาน
- ลักลอบนำเงินบริษัทไปใช้ส่วนตัว
- นำผลงานคนอื่นไปใช้เอาหน้า
- หาเรื่องเพื่อจะไล่ลูกน้องออก
- ประจานผลงานที่ไม่ดีให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นทราบ
- ใช้ตำแหน่งเพื่อหาความสัมพันธ์เชิงชู้สาว
- ใช้ยาเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ในที่ทำงาน
- จัดการบริหารเวลาได้แย่
- สุขอนามัยไม่ดี
- เฉื่อยชา
ทั้งนี้ เพศชายกับเพศหญิงมองพฤติกรรม “หัวหน้าแย่” ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว การจัดลำดับหัวหน้าที่แย่ที่สุดมีความแตกต่างระหว่างเพศ เช่น หัวหน้าที่แย่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในมุมมองของเพศชาย คือ “หาเรื่องเพื่อจะไล่ลูกน้องออก” ในขณะที่อันดับ 2 ในมุมมองเพศหญิงกลับเป็นเรื่อง “ลักลอบนำเงินบริษัทไปใช้ส่วนตัว”
แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ “ลำเอียง/มี ‘ลูกรัก’ ในที่ทำงาน” เป็นรูปแบบหัวหน้าที่ลูกน้องเกลียดที่สุดในทั้งสองเพศ นี่คือหัวหน้าที่ ‘toxic’ มากที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการมีลูกรักทำให้พนักงานคนอื่นรู้ตัวว่า ไม่ว่าจะทำดีเท่าไหร่ก็ไม่ได้เป็นคนแรกที่ได้เลื่อนขั้น และทำให้บรรยากาศโดยรวมกลายเป็นที่ทำงานของการ ‘เอาใจนาย’ มากกว่าได้ทำงานกันจริงๆ
อ่านเรื่องอื่นๆ ต่อ
- คำแนะนำถึงคนที่กำลังสับสนเพราะอาชีพมาถึงทางตัน อยากเปลี่ยนงาน หรือถูกเลย์ออฟ
- วิจัยพบ “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” ส่งรายได้บริษัทเพิ่ม 8% ลดภาวะ ‘burn out’ ในหมู่พนักงาน