Pierre Cardin ร้านเสื้อผ้าบุรุษมีอายุกว่า 34 ปี ก้าวเข้าสู่ยุคบริหารของทายาทเจนเนอเรชั่นที่ 3 ขอปรับลุคให้เข้ากับยุคสมัย ขยายฐานสู่กลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น ปรับไลน์สินค้าไม่ได้มีแค่เสื้อเชิ้ตและสูทเพียงอย่างเดียว แต่มีชุดสไตล์ลำลอง ใส่ได้ทุกโอกาส พร้อมเปิด Flagship Store สาขาแรกที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 พระราม 3
Pierre Cardin ยุคเจน 3 ต้องวัยรุ่น
Pierre Cardin ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ขึ้นชื่อสำหรับเสื้อผ้าของสุภาพบุรุษ ในประเทศไทยได้อยู่ภายใต้การทำตลาดของ บริษัท พียูวี อินเตอร์ จำกัด ทำธุรกิจขายผ้า และเสื้อผ้าเป็นหลัก บริษัทได้ซื้อไลเซนส์เข้ามาในไทยกว่า 34 ปีแล้ว ภายในเครือมี 3 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ Pierre Cardin, Ungaro และ Valentino Rudy เป็นแบรนด์เสื้อผ้าสุภาพบุรุษทั้งสิ้น
แบรนด์ที่เป็นไฮไลต์ที่สุดของเครือก็คือ Pierre Cardin หลายคนอาจมีภาพจำของแบรนด์ว่าเป็นแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายที่มีดีไซน์ความเป็นผู้ใหญ่หน่อยๆ และเมื่อกลุ่มเป้าหมายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัวให้เท่าทันยุคสมัย เพราะผู้บริโภคเองก็มีทางเลือกเยอะมากขึ้น
ในแง่ของบริษัท Pierre Cardin ในประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคของเจนเนอเรชั่นที่ 3 แล้ว โดยผู้บริหารสาววัย 27 ปี “ป็อป – ณัฐวิภา ลีสวัสดิ์ตระกูล” ได้เริ่มเข้ามาดูแลธุรกิจได้ 2 ปีแล้ว เน้นดูเรื่องการตลาดเป็นหลัก
เมื่อโครงสร้างของบริษัทที่เปลี่ยนไป ทำให้แบรนดิ้งก็เปลี่ยนไปด้วย โจทย์ใหญ่ของณัฐวิภาก็คือ รีเฟรชแบรนด์ Pierre Cardin ให้ทันสมัยขึ้น วัยรุ่นขึ้น ดูเด็กลง ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหม่ๆ และมีสินค้าที่ตอบโจทย์ทุกโอกาส ไม่ได้มีแค่เสื้อเชิ้ต และเสื้อสูท
ณัฐวิภา ลีสวัสดิ์ตระกูล Executive Director บริษัท พียูวี อินเตอร์ จำกัด เริ่มเล่าว่า
“ตั้งแต่ที่ซื้อไลเซนส์แบรนด์เข้ามาได้มีการปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ยังคงความเป็นเสื้อผ้าทำงาน แต่อาจจะไม่ใช่เสื้อ สูทเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป มีไลน์เสื้อผ้าที่ใส่สบายมากขึ้น มีสินค้าปรับเปลี่ยนให้ใส่ได้ทุกสไตล์ มีเสื้อผ้าแนว Casual มากขึ้น มีกางเกงขาสั้นใส่ไปข้างนอกได้ เสื้อมีหลากหลายสี และมีเสื้อลายต่างๆ”
ด้วยโจทย์ของแบรนด์ที่ต้องรีเฟรชให้เด็กลง กลยุทธ์สำคัญก็หนีไม่พ้นการใช้พรีเซ็นเตอร์คนแรกของแบรนด์ ก็คือ “นนท์ – ธนนท์ จำเริญ” เพื่อต้องการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น และสร้างการรับรู้มากขึ้น จากเดิมที่กลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ คาดหวังอยากได้กลุ่มลูกค้าที่อายุ 30 ปีขึ้นไป และเป็นกลุ่มวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น
“แต่เดิมแบรนด์จะเป็นที่รู้จักของกลุ่มคนที่เป็นผู้ใหญ่ ตอนนี้อยากให้วัยรุ่นเข้ามารู้จักกับแบรนด์มากขึ้น อยากเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงได้ง่าย มีสไตล์ เรียบโก้ แต่เน้นคุณภาพเหมือนเดิม ไม่อยากให้รู้สึกว่าแก่ แต่ก็ไม่ถึงกับแฟชั่นจ๋า เสื้อผ้าอาจจะเป็นแนวเดิม แต่มีเนื้อผ้าให้เลือกแตกต่างกัน มีแพตเทิร์นแบบ Slim Fit ที่วัยรุ่นมากขึ้น และบางคอลเลกชั่นได้มีนัวตกรรมเนื้อผ้าที่ใช้เทคโนโลยียับยั้งแบคทีเรียและไวรัส เพิ่มมูลค่าให้เสื้อได้มากขึ้น”
ถ้าถามว่าการมาของ COVID-19 ทำให้แบรนด์เสื้อผ้าได้รับผลกระทบหรือไม่ ณัฐวิภาบอกว่า ในช่วงปีแรกๆ มีกระทบอยู่บ้าง เพราะผู้บริโภคไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ซื้อเสื้อผ้า แต่เมื่อผู้คนเริ่มปรับตัวได้ เริ่มซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ เริ่ม Work from Home มากขึ้น ก็เริ่มเกิดเทรนด์ของการแต่งกายแบบ Casual อยู่บ้าน เข้าประชุมแบบไม่ผูกเนกไท เน้นดูดี แต่แต่งกายแบบลำลอง
เปิด Flagship Store แห่งแรก
ในปี 2565 ที่ผ่านมา ยังมีมูฟเมนต์ที่สำคัญของแบรนด์อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปิด Flagship Store สาขาแรกที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 พระราม 3 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน
Flagship Store แห่งนี้มีพื้นที่ 70 ตารางเมตร มีสินค้าครอบคลุมตั้งแต่เสื้อ กางเกง สูท รองเท้า กระเป๋า และเข็มขัด ที่สาขานี้ยังมีกิมมิกพิเศษอยู่ที่ มีมุมให้บริการตัดเย็บแบบ Tailor-made ลูกค้าสามารถสั่งตัดเสื้อเชิ้ต รวมไปถึงชุดสูท เลือกผ้า และแบบได้ตามใจชอบเป็นแห่งแรก มีราคาเริ่มต้นที่ 1,800 บาท ใช้เวลาประมาณ 7-10 วันก็สามารถรับสินค้าได้
เหตุผลที่เลือกสาขานี้เป็นแฟลกชิพสโตร์แห่งแรก เนื่องจากย่านพระราม 3 เป็นย่านที่เชื่อมต่อทั้งสาทร สีลม กลุ่มคนอยู่อาศัยมีกำลังซื้อ และมีสำนักงานอยู่เยอะ มีกลุ่มคนวัยทำงานเยอะ เมื่อเป็นแฟลกชิพสโตร์ สามารถโชว์สินค้าได้มากขึ้น แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นด้วย
สาขานี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากร้านตัดเสื้อในภาพยนตร์เรื่อง The King’s Man วัสดุที่นำมาใช้ในการตกแต่งทำมาจากหินและสเตนเลสให้ความรู้สึกแข็งแรง และตกแต่งด้วยผ้าของแบรนด์เพื่อสร้างสีสัน โทนสีร้านเน้นสีสว่างด้วยสีครีม ขาว และน้ำเงิน
ปัจจุบัน Pierre Cardin มีจุดขายอยู่ 63 แห่ง แต่เดิมโมเดลร้านค้าจะเป็น Shop in Shop อยู่ในโซนห้างสรรพสินค้าเสียส่วนใหญ่ การเปิดแฟลกชิพสโตร์จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของแบรนด์ ในอนาคตอาจจะมีขยายโมเดลแฟลกชิพสโตร์อีก 1 แห่ง อาจจะเป็นที่ศูนย์การค้า ICS ที่จะเปิดตรงข้ามกับไอคอนสยาม
เป้าหมายสำคัญของแบรนด์ นอกจากจะสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่แล้ว ณัฐวิภาปิดท้ายว่า “ถ้าเป็นไปได้อยากได้ยอดขายมากขึ้น เติบโตเฉลี่ยปีละ 10%”