โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
ถึงเวลาต้องอำลาปีเก่า 2565 มุ่งหน้าสู่วันใหม่ ปีใหม่กันแล้ว วันแห่งความหวังที่รอเราอยู่ ความสำเร็จต่างๆ ที่จะมาจากมันสมองและสองมือริเริ่มและลงมือทำครับ
วันนี้ผมจะมาคุยเรื่องไทม์ไลน์ ปี 2566 ที่เราได้สแกนหาความเสี่ยงที่จะรอเราอยู่ข้างหน้าบ้างครับ แน่นอนว่า ปี 2566 เรายังหนีไม่พ้นวังวนของความเสี่ยงที่จะต้องผจญภัยกันต่อเนื่องจากปี 2565
ปีที่แล้วต้องยกให้เป็นปีแห่งการช็อกโลก นั่นเพราะ จู่ๆ ต้นปีโลกก็มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาเหนือคาด ราคาน้ำมันพุ่งติดจรวด ตามด้วยเงินเฟ้อขึ้นกระฉูดเร็วเกินคาด และต่อด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยถี่ และแรงฟ้าผ่าตลอดทั้งปี นำโดยสหรัฐฯ เป็นภาพฝันร้ายว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศหลักๆ ของโลก
นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตต่างๆ ตามมาอีก โดยเฉพาะวิกฤต Zero Covid ในจีน วิกฤตอาหาร ความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน-ไต้หวันที่ร้อนระอุ สถานการณ์ต่างๆ ล้วนเป็นตัวแปรที่กดดันตลาดการลงทุน ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกร่วงระเนระนาด
นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ดัชนี S&P500 ปรับลดลงมาแล้ว -14.39% ดัชนี NASDAQ -26.70% ขณะที่ดัชนี CSI300 ของจีนปรับลดลง -22.01% ดัชนีเวียดนาม -30.03%
ส่วนดัชนี MSCI World -15.81%ตามด้วยดัชนี TOPIX สะท้อนตลาดหุ้นญี่ปุ่น -0.34% ตลาดหุ้นที่บวกได้ยกให้กับ ดัชนี SET 50 ของไทยที่บวก 0.31%
ปี 2565 ถือเป็นปีที่นักลงทุนล้วนบาดเจ็บกันถ้วนหน้า มากน้อย ก็ขึ้นกับต้นทุนการลงทุนและฝีมือการรับมือโลกที่มีความผันผวนสูง ที่เรียกกันว่า VUCA (Volatility Uncertainty Complexity and Ambiguity)
ปี 2566 เราก็ยังเผชิญหน้ากับตัวแปรต่างๆ เหล่านี้ต่อไปอีกปีครับ ที่เพิ่มเติมคือ ความผันผวนที่เข้มข้นขึ้นไปอีก จากผลข้างเคียงของฤทธิ์ยา ‘ดอกเบี้ยขาขึ้นปราบเงินเฟ้อ’ นั่นคือ อาการเศรษฐกิจถดถอยในฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป หากถามว่าจะเกิดขึ้นนานไหม ผมมีคำตอบครับ
สหรัฐฯ เจอเศรษฐกิจถดถอย ดอกเบี้ยทรง ต้องตราสารหนี้ หุ้น ‘เมกะเทรนด์’ ฝ่ามรสุมผันผวน
ผมขอขยายภาพของสหรัฐฯ เศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ล่าสุด อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 3.2% ดีกว่าที่มีการประมาณการณ์ในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ขยายตัว 2.6% และ 2.9% ตามลำดับ ที่สำคัญ GDP โตดีขึ้นจากที่หดตัว 0.6%ในไตรมาส 2 และหดตัว 1.4% ในไตรมาสแรกด้วยครับ ประเด็นต่อมา เงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้ผ่านจุด Peak แล้ว โดยในเบื้องต้น Consensus คาดว่า PCE Price Index เดือนพฤศจิกายน 2565 ลดลงแตะระดับ 5.5% จาก 6% เดือนตุลาคมก่อนหน้า เช่นเดียวกับ Core PCE คาดว่าจะลดลงมาที่ 4.6% จาก 5% ด้วย
นอกจาก GDP แข็งแกร่งแล้ว ยังพบว่า ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกน้อยกว่าคาดอีก นี่คือภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2565 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถี่และแรงติดต่อกัน 7 ครั้งในปีนี้ ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.25-4.5% สูงสุดรอบ 15 ปี จากต้นปีที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับ 0.00-0.25%
ไทม์ไลน์ที่สำคัญในปี 2566 ของสหรัฐฯ อยู่ที่ ‘เศรษฐกิจจะถดถอยแค่ไหน’ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับไทม์ไลน์ของ ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น แล้วจะเข้าสู่ขาลงเมื่อไหร่’ ครับ
ก่อนหน้านี้ ตลาดประเมินว่า ในช่วงต้นปี Fed จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และคาดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ 2 ครั้ง ดอกเบี้ยน่าจะสิ้นสุดที่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในช่วงกลางปี และอาจจะกระทบกับเศรษฐกิจถดถอยอย่างที่กลัวกันได้ ด้านเงินเฟ้อที่ผ่อนคลาย ก็หวังจะเห็นเฟดส่งสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยลงได้ในปลายปี 2566
‘ราคาน้ำมันดิบโลก’ ได้ปรับตัวลงมาระดับช่วงก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์หลายตัวที่ปรับตัวลดลง เช่น ทองแดง นิกเกิล รวมถึงค่าระวางเรือ จะเป็นตัวแปรให้อัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายได้ในปี 2566 หลังจากเดือนมิถุนายน ปี 2565 เงินเฟ้อพุ่ง 9.1% สูงสุดรอบ 41 ปี ขณะที่ตัวเลขภาคแรงงานที่แข็งแกร่งตลอดทั้งปี 2565 และการท่องเที่ยวโลกฟื้นตัว
แต่ทุกอย่างมีความไม่แน่นอน เรื่องอาจไปไม่ได้สวยที่คาดกันไว้ก็ได้ครับ เพราะล่าสุด ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งในปี 2565 อาจจะทำให้เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนานกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ นั่นหมายถึงแรงกดดันภาคธุรกิจ และแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยอาจไม่ใช่แค่ช่วงสั้นๆ ตื้นๆ ก็เป็นได้ครับ
แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสลงทุนในสหรัฐฯ ปี 2566 ผมแนะนำตราสารหนี้ รับโอกาสภาวะดอกเบี้ยทรงตัว ปัจจุบันผลตอบแทนดอกเบี้ยกองทุน ETF ตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้คุณภาพดี สูงถึง 5-6% ส่วนตลาดหุ้นของสหรัฐฯ อาจจะดูไม่ได้หวือหวามากนัก แต่ยังมีหุ้นบางกลุ่มที่สามารถต่อสู้กับเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยได้ อย่างหุ้นกลุ่มสุขภาพ (Healthcare) ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่น หรือหุ้นเมกะเทรนด์อย่างกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับลดลงมามากในปีนี้ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2656 ดัชนี Nasdaq ปรับลดลงมาแล้ว -26.70% จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะเข้าลงทุนเพื่อรับเมกะเทรนด์ในอนาคต ท่ามกลางภาวะตลาดผันผวน
จีนเปิดประเทศ เศรษฐกิจพุ่ง ข่าวดีหุ้นเทคในสหรัฐฯ หุ้นจีนรอดีดล่วงหน้า
มาดูฝั่งเอเชียที่มีพี่เบิ้ม ‘จีน’ เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก เป็นความหวังสดใสของโลกในปีกระต่าย
เพราะไทม์ไลน์สำคัญที่มาแน่ๆ คือ การผ่อนคลายมาตราการ ZERO COVID ด้วยการเปิดประเทศของจีน ที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม 2566 ดังนั้น ภาพผลพวงต่างๆ ที่จะเกิดต่อเนื่อง คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนในประเทศพุ่งขึ้นมากแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภค การลงทุนทั้งธุรกิจและประชาชนจับจ่ายใช้สอย และเดินทางท่องเที่ยวกันอย่างเต็มที่ ล้วนเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
ส่วนการแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ฟองสบู่แตกในจีน ขณะนี้ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ การให้สินเชื่อพิเศษและการปรับลดดอกเบี้ย นอกจากนี้รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจหลายล้านล้านหยวนในปี 2565 ซึ่งเป็นแรงส่งคอยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลจีน
ไทม์ไลน์การเปิดประเทศของจีน ถือเป็นแรงหนุนสำคัญให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวได้ในภาพรวม ระบบห่วงโซ่อุปทานโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น ภาวะเงินเฟ้อโลกจะผ่อนคลายมากขึ้น ภาคท่องเที่ยวทั่วโลกฟื้นตัวโดยเฉพาะเอเชีย จะได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศจีน เพราะนักท่องเที่ยวจากจีนพร้อมเดินทางทั่วโลก
เขตปกครองพิเศษฮ่องกงกลายเป็นพื้นที่ล่าสุดของโลกที่ได้ยกเลิกมาตรการควบคุม Covid-19 โดยผู้ที่เดินทางเข้าฮ่องกงไม่จำเป็นต้องกักตัวอีกต่อไปเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากการใช้มาตรการ Zero Covid อย่างเข้มงวดสอดคล้องกับจีนแผ่นดินใหญ่
การเปิดเมืองครั้งนี้สร้างความหวังให้กับประชาชนอย่างมาก นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวในฮ่องกงสามารถเข้าเดินทางเข้าออกฮ่องกงได้อย่างอิสระ แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะมีมุมมองว่าอาจใช้เวลาเป็นปีในการฟื้นตัวกลับไปจุดเดิมก่อน Covid แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
การเปิดเมืองฮ่องกงที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของจีนในการค้าขายกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นเหมือนการ ‘ชิมลาง’ ก่อนที่จีนจะเดินหน้าเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
การเปิดประเทศจะทำให้ตลาดหุ้นจีนที่ปรับลดลงไปกว่า -22.01% ในปี 2565 ก็จะกลับมาผงาดได้อีกครั้งในปี 2566 และยังจะส่งอานิสงส์ไปถึงตลาดหุ้นทั่วโลกให้ฟื้นกลับมาได้ด้วย
ดังนั้นนักลงทุนควรเริ่มสะสมหุ้นจีนตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุนครั้งใหญ่ได้
ข่าวดียิ่งไปกว่านั้น คือ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการกำกับดูแลบัญชีบริษัทมหาชนของสหรัฐฯ (PCAOB) ออกมาชี้แจงว่า หน่วยงานสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้แล้ว ถือเป็นข่าวที่ลดความกดดันที่หุ้นจีนจะถูกถอดถอนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ความเสี่ยงในการถูกถอดถอนยังไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง เพราะ PCAOB ยังต้องตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีต่อไปอีก 3 ปี แต่สถานการณ์ต่างๆ ดูดีขึ้นมาก
การที่จีนพยายามให้ความร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ มากขึ้น การอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าถึงข้อมูลสำคัญทางบัญชีได้ถือเป็นก้าวสำคัญในการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ช่วยลดแรงกดดันความเสี่ยงที่บริษัทเทคโนโลยีจีนหลายแห่งจะถูกถอดถอนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังจากที่กดราคาหุ้นเหล่านี้ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากความเสี่ยงด้านนี้คลี่คลายลง การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนก็ดูน่าสนใจมากขึ้น
ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ท่องเที่ยวฟื้นแรงเกินต้าน ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัว
เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก หลังจากที่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ประเดิมด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่ง 50,000 ราย เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากเดือนกันยายน นอกจากนี้ Trip.com เผยสถิติการค้นหาเกี่ยวกับตั๋วเครื่องบิน โรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น จากประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่า 100% ทีเดียว ขณะที่สกุลเงินเยนที่อ่อนค่าในรอบ 32 ปี ยิ่งส่งผลดีต่อบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่มีแหล่งรายได้จากต่างประเทศ
ไทม์ไลน์ในปี 2566 อาจจะต้องติดตามการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มข้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม BOJ ได้ประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่น ให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมอยู่ในกรอบ -0.25% ถึง+0.25% ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด โดยยังคงรักษาจุดยืนในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (Ultralow Rate Policy) มาเป็นเวลานาน การปรับนโยบายการเงินครั้งนี้ ทำให้นักลงทุนมองว่า BOJ กำลังหันไปใช้นโยบายการเงินคุมเข้มตามทิศทางธนาคารกลางทั่วโลกที่พากันปรับขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้าหลายครั้งในปี 2565 ขณะที่บอนด์ยีลด์ญี่ปุ่นก็เด้งขึ้นเกือบ 70% สะท้อนการรับรู้จุดเปลี่ยนนี้
อย่างไรก็ตาม โอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีครับ เพราะกำลังเริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศเมื่อปี 2565 ภาคท่องเที่ยวจะเป็นตัวผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น อีกทั้งการที่เงินเฟ้อแม้จะอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังต่ำกว่าสหรัฐฯ และนโยบายการเงินยังมีช่องว่างให้ดำเนินการได้อยู่ เนื่องจากเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังใช้ดอกเบี้ยติดลบ -0.1% ที่สำคัญภาคธุรกิจได้ประโยชน์จากค่าเงินเยนอ่อนค่า จะหนุนผลประกอบการด้วย
จุดเด่นไทยไปต่อ ท่องเที่ยว-ต่างชาติย้ายฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ส่องลงทุนหุ้นไทย
ผมขอขายของดี ‘ประเทศไทย’ ปี 2566 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวแรงเต็มๆ ปี ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อน GDP เติบโตโดดเด่นในภูมิภาคนี้ หลังจากที่เราเปิดประเทศตั้งแต่กลางปีหลังเป็นต้นมา ทำให้ภาคท่องเที่ยว โรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้กลับมาคืนชีพอีกครั้ง จนทำให้ GDP ไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัวถึง 4.5% ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวสะสม 11 เดือนแรก ทะลุกว่า 10 ล้านคนแล้ว เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 60-70 เท่าจากช่วงเดียวกันปี 2564 ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อก็เริ่มลดลง หลังทำสถิติสูงสุดที่ 7.86% เมื่อเดือนกรกฎาคม และไหลลงต่อเนื่องล่าสุด 5.55% ในเดือนพฤศจิกายนแล้ว ลดแรงกดดันการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย
ไทม์ไลน์ใหญ่ของไทยคือ เรื่องการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในกลางปี 2566 เพราะการเลือกแต่ละครั้ง ย่อมมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมาก เมื่อเงินสะพัด ก็เป็นแรงหนุนกำลังซื้อในประเทศให้ฟื้นตัวทั่วถึงรากหญ้ากลับขึ้นมาได้ดีกว่าปีก่อนแน่นอนครับ
ที่สำคัญ วันนี้ บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าได้เข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น อาทิ BYD และบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. และ Foxcome สะท้อนการยกระดับของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต จึงไม่ต้องแปลกใจที่ปี 2565 ตลาดหุ้นไทยบวกสวนตลาดโลก
ในปี 2566 ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับมาคึกคักอีกครั้ง หุ้นที่มองว่าได้รับประโยชน์เด่นๆ หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม และโลจิสติกส์
ผมให้น้ำหนักในตลาดหุ้นไทยและญี่ปุ่นถือเป็นแหล่งลงทุนที่มีเสถียรภาพ เหมาะที่จะนำมาสร้างสมดุลให้กับพอร์ตลงทุนได้
‘เวียดนาม’ พื้นฐานเศรษฐกิจแกร่ง แหล่งโรงงานผลิตของโลก เฟ้นหาหุ้นดีราคาถูก
สุดท้ายดาวเด่นของโลก ‘เวียดนาม’ ยังโชว์ศักยภาพทางเศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่ง ช่วง 3 ไตรมาสปี 2565 GDP ขยายตัว 8.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่ง คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนาม ปี 2565 เติบโตสูงเกิน 7% จากภาคการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวสูงถึง 11% ทีเดียว และยังเป็นแลนด์มาร์กของนักลงทุนทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้าลงทุนโดยตรง (FDI) จากช่วงแรกนำโดยสัญชาติเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ตอนนี้สัญชาติฝรั่งตะวันตกก็มา ทั้งสหรัฐฯ และล่าสุดเยอรมัน รายชื่อบริษัทระดับโลกที่เข้าลงทุน ได้แก่ Lego, Samsung, Foxxconn, Xiaomi, Apple
เวียดนามเป็นประเทศที่ได้อานิสงส์จากปัญหาความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะมวยคู่ยักษ์ของโลก ‘สหรัฐฯ-จีน’ ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่นักธุรกิจจีน ต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และเลือก ‘เวียดนาม’ เป็นแหล่งผลิตแทน และเริ่มทำการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเสียด้วย ยิ่งทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจเวียดนามแข็งแกร่งและมีศักยภาพการเติบโตสูง
ปี 2566 ผมมองว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามน่าจะพลิกฟื้นดีขึ้น หลังจากที่ปี 2565 เกิดปัญหาต่างๆ นำโดย การจับปั่นหุ้น ตรวจสอบพบผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทุจริต เป็นต้น ตามด้วยธนาคารกลางเวียดนาม ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้นอย่างรวดเร็ว ดัชนี VNI ร่วงกว่า 30%
ขณะนี้แรงกดดันตลาดหุ้นเวียดนามเริ่มผ่อนคลาย รัฐบาลได้เข้ามาออกมาตรการช่วยเหลือพร้อมเริ่มยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสในตลาดหุ้นเวียดนามบ้างแล้ว และปี 2566 เศรษฐกิจยังมีโอกาสได้ไปต่อแรงกว่าปีก่อนหน้า ถือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตแรงสุดทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก
ผมมองว่าตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็นอีกตลาดที่นักลงทุนห้ามพลาดในการกระจายพอร์ตลงทุน ด้วยราคาหุ้นที่ปรับลดลงตั้งแต่ต้นปีมาถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ปรับลดลงไปแล้ว -30.03% ทำให้ P/E Ratio อยู่ที่ 10.8 ถือว่าราคาค่อนข้างถูก เมื่อพิจารณาจากความต้องการลงทุนเพื่อย้ายฐานการผลิต ด้วยค่าแรงต่ำ และประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมหาศาล จะทำให้เวียดนามมีเสน่ห์ และเป็นดาวเด่นได้ในระยะยาว
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณจะเห็นได้ว่าในแต่ละช่วงเวลาของปี 2566 จะมีโอกาสการลงทุนที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก หากที่ผ่านมาเราเสียเวลาไปกับการรอ นั่นเท่ากับเรากำลังพลาดโอกาสที่เงินจะงอกเงย