ข่าวดี! UN เผยชั้น ‘โอโซน’ โลกกำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ

บรรยากาศโลกชั้น โอโซน ถือเป็นชั้นบรรยากาศที่ใช้ปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นตัวก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ต้อกระจกตา และทำลายพื้นที่เกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำลายชั้นโอโซนก็คือ มนุษย์ แต่ในช่วงหลายปีมานี้ มนุษย์เองก็พยายามจะลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเริ่มเห็นผล

สหประชาชาติ หรือ UN คาดว่า ชั้นโอโซนที่ปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์กำลัง ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับระดับปี 1980 ภายใน 40 ปีข้างหน้า ถ้านโยบายการควบคุมในปัจจุบันยังใช้อยู่ โดยพื้นที่ในแถบอาร์กติกจะกลับมาเป็นปกติภายในปี 2045 ขณะที่แอนตาร์กติกาน่าจะกลับสู่ระดับปกติภายในปี 2066

นักวิทยาศาสตร์และกลุ่มสิ่งแวดล้อมยกย่องการห้ามใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซนทั่วโลกว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดจนถึงปัจจุบัน และอาจเป็นแบบอย่างสำหรับการควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาวะโลกร้อนที่กว้างขึ้น

“ความสำเร็จของเราในการเลิกใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซน แสดงให้เราเห็นถึงสิ่งที่สามารถทำได้และต้องทำอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ” Petteri Taalas เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กล่าว

นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การปล่อยสารเคมีของคลอโรฟลูออโรคาร์บอน-11 หรือ CFC-11 ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นและโฟมฉนวน ซึ่งเป็นสารต้องห้ามที่เป็นศัตรูตัวฉลากของโอโซนได้ลดลงตั้งแต่ปี 2018 หลังจากเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นเวลาหลายปี รายงานระบุว่าส่วนใหญ่ของการปล่อย CFC-11 ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกของจีน

รายงานยังพบว่าสารเคมีคลอรีนที่ทำลายโอโซนลดลง 11.5% ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 1993 ขณะที่โบรมีนลดลง 14.5% นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 1999

Source