สรุปเวทีสัมมนา “AIS Greenovation The Road Towards Digital World” ที่ยิ่งตอกย้ำว่าปัญหา ‘สิ่งแวดล้อม’ ต้องเร่งช่วยกันแก้


หนึ่งในพาย 3 ชิ้นที่ เอไอเอส (AIS) ยึดเป็นแนวทางในการทำงานก็คือ ความยั่งยืน ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ รวมถึง สิ่งแวดล้อม ที่เอไอเอสให้ความสำคัญมาโดยตลอด ล่าสุดเอไอเอสเปิดเวทีสัมมนา AIS Greenovation The Road Towards Digital World เชื่อมต่อนวัตกรรมสู่การเติบโตในโลกดิจิทัลอย่างยั่งยืน” ชวนพาร์ทเนอร์และ Stake Holder มาถกประเด็นถึงด้านสิ่งแวดล้อมและแนวทางการทำงานเพื่อร่วมกันลด และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน


ไทยสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6 แสนล้านบาทจากโลกร้อน

ภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ได้มาเล่าให้ฟังว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม พื้นที่กรุงเทพฯ มีอุณหภูมิทะลุเกิน 40 องศา ที่ 42-44 องศาเลยทีเดียว ส่วนในยุโรปเองอุณหภูมิก็สูงขึ้น 5 องศาต่อเนื่อง 5 วัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการเปลี่ยนเเปลงทางสภาพภูมิอากาศถึง 6 ราย และการที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3-5 องศา ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 7 เมตร เลยทีเดียว

โดยนับตั้งแต่ปี 2011 ประเทศไทยได้สูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 6 แสนล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น เป็น 2.89 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่างบของประเทศทั้งหมดกว่า 3 ล้านล้านบาท


มี E-Waste ในไทยเพียง 10% ที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง

เอื้อง สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS เล่าถึงสาเหตุที่เอไอเอสริเริ่มโครงการ คนไทยไร้ E-Waste ว่า ในช่วง 6 ปีหลังมานี้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) มีส่วนทำให้ก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นกว่า 53% โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกเผาทำลายคิดเป็นมูลค่าถึง 57,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลมีมูลค่าเพียง 10,000 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น ขณะที่ประเทศไทย มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 10% เท่านั้น

จากการคาดการณ์ของ GSMA พบว่า ปัจจุบันประชากรทั่วโลกถือครองโทรศัพท์ราว 5.4 พันล้านเครื่อง และภายในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 9 พันล้านเครื่อง หรือเกือบเท่าตัว หรือเฉลี่ยแล้วแต่ละคนมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 8 กิโลกรัม และปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นเป็น 110 เมตริกตัน ภายในปี 2050

โดยจากการสำรวจพบว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วไว้กับตัว หรือทิ้งแบบผิด ๆ ได้แก่

  • ไม่รู้จะทิ้งที่ไหน (83%)
  • ไม่รู้ว่ารีไซเคิลได้ (60%)
  • กลัวข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล (52%)

ดังนั้น ในแกน ลดและรีไซเคิลของเสีย จากการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมให้คนไทยร่วมกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี เอไอเอสและพาร์ทเนอร์กว่า 190 องค์กรทั่วประเทศ ร่วมกับเป็น Hub of E-Waste ที่จะเป็นพื้นที่สร้างการตระหนักรู้ สร้างจุดดร็อปพ็อยต์รับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ สร้างกระบวนการคัดแยก จัดส่ง และนำไปรีไซเคิลโดยปราศจากการฝังกลบ รวมถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามายกระดับการจัดการโดยแอปฯ E-Waste Plus ที่ช่วยให้ติดตามเส้นทางการกำจัดและคำนวนคาร์บอนสกอร์ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต และลูกค้าเอไอเอสจะได้รับพ็อยต์เมื่อทิ้ง E-Waste กับเอไอเอส

“ยิ่งโลกเข้าสู่โลกดิจิทัลแค่ไหน อุปกรณ์ก็ยิ่งเพิ่มเท่านั้น นี่คือสิ่งที่เอไอเอสตระหนักและทำให้เกิดเป็นวาระที่ต้องพูดคุยว่าจะทำอย่างไรกับมัน และเราไม่เหนื่อยที่จะสร้างอแวร์เนสหรือเอดดูเขตผู้คน เราพร้อมที่จะร่วมกับทุกหน่วยงาน เราพร้อมมาก” สายชล ย้ำ


ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจเสียหาย ตัวมนุษย์เองยิ่งเสีย

สมปรารถนา นาวงษ์ ผู้ก่อตั้ง “เพจอีจัน” กล่าวต่อว่า การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบไม่ถูกวิธีส่งผลเสียมากกว่าการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจหรือทรัพยากรในการนำไปรีไซเคิล แต่ขยะอิเล็กทรอนิกส์หากนำไปเผาทำลายหรือทำลายไม่ถูกวิธีจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและร่างกาย เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์มีทั้งตะกั่ว, ปรอท และสารพิษอื่น ๆ ซึ่งมันก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย หรือถ้าไปอยู่ในดินหรือแหล่งน้ำ มันก็จะกลับมาสู่ห่วงโซ่ระบบนิเวศและมาสู่ร่างกายคนเราในที่สุด

“คนไทยหลายคนเลือกขายให้กับซาเล้ง เขาก็ไปชำแหละหาของที่นำไปขายได้ อะไรขายไม่ได้เขาก็เผาทิ้ง ซึ่งก็ไปทำลายชั้นบรรยากาศ ตัวเขาเองก็สูดดมควันพิษ มีการสุ่มเจาะเลือดแรงงานหลายคนพบว่ามีสารตะกั่วปนในเลือด บางรายเกินมาตรฐาน หรือในดินที่มีการเผาหรือฝังขยะอิเล็กทรอนิกส์มีสารตะกั่วเกินมาตรฐาน 20 เท่า สารหนู 5 เท่า” สมปรารถนา กล่าว


เดินหน้าสร้างเน็ตเวิร์กสีเขียว

ไม่ใช่แค่แกนลดและรีไซเคิลของเสีย แต่เอไอเอสก็มีแผน ลดผลกระทบผ่านการบริหารจัดการกระบวนการดำเนินธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ โดย วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ที่ผ่านมา เอไอเอสได้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไปแล้วถึง 131,752 ตัน หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้รวม 17 ล้านต้น

โดยหนึ่งในกิจกรรมที่เอไอสทำคือ เปลี่ยนสถานีฐานมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 8,884 สถานี โดยสามารถ ลดการปล่อยคาร์บอนได้ 39,832 ตัน โดยเอไอเอสมีแผนเปลี่ยนสถานีฐานมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้น 4,000 สถานี  รวมถึงมีแผนการนำ AI มาใช้จัดการเครือข่ายอัตโนมัติ Autonomous Network  โดยตั้งเป้าพัฒนาเครือข่าย  Autonomous Network ไปสู่มาตรฐาน L3 (Level 3) ในปีนี้และ L5 ในปี 2025

“หากนับเฉพาะอุตสาหกรรมโทรคมคอนซูเมอร์ มีการใช้พลังงาน 0.4% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมทั่วโลก อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการโทรคมนาคมกว่า 50% รวมถึงเอไอเอสก็มีความพยายามลดใช้พลังงาน สร้างกรีนเน็ตเวิร์ก และต้องการไป  Net Zero” วสิษฐ์ ทิ้งท้าย