วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ Apple เลิกใช้ชิ้นส่วนสำคัญจากซัพพลายเออร์รายอื่น หันมาผลิตเองมากขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple ล่าสุดเตรียมที่จะเลิกใช้ชิ้นส่วนสำคัญจากซัพพลายเออร์รายอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตชิปโมเด็มอย่าง Qualcomm ไปจนถึงผู้ผลิตจอโทรศัพท์มือถืออย่าง Samsung รวมถึง LG และหันมาพัฒนาชิ้นส่วนดังกล่าวเอง เพื่อที่จะรีดประสิทธิภาพของอุปกรณ์ รวมถึงสร้างกำไรให้กับบริษัทมากขึ้น

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานข่าว 2-3 ชิ้นซึ่งเกี่ยวกับ Apple นั้นเตรียมเลิกใช้ชิ้นส่วนสำคัญจากซัพพลายเออร์รายอื่นหลายชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นชิปโมเด็มของ Qualcomm ชิปที่เกี่ยวข้องกับระบบ Wifi และ Bluetooth จาก Broadcom ไปจนถึงชิ้นส่วนอย่างจอภาพที่ใช้ชิ้นส่วนของ Samsung และ LG รวมถึงผู้ผลิตรายอื่นๆ

ทำไม Apple ถึงทำเช่นนั้น Positioning ได้วิเคราะห์เหตุผลสำคัญมาฝาก

ปลดแอกจากซัพพลายเออร์รายดัง

แผนการปลดแอกจากซัพพลายเออร์ของ Apple จะเริ่มต้นในช่วงปี 2024 จากจอภาพที่ใช้ใน Apple Watch รุ่นท็อป ก่อนที่จะทยอยไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่าง iPhone ภายหลัง หลังจากที่บริษัทได้วางแผนไว้ตั้งแต่ปี 2018 ที่ผ่านมา โดยจอภาพที่บริษัทพัฒนานั้นจะมีสีสันที่สดใส ความสว่างที่สูงกว่า

ขณะที่ชิปที่เกี่ยวข้องกับระบบสื่อสารที่ใช้ใน iPhone ไม่ว่าจะเป็นชิปโมเด็มของ Qualcomm ชิปที่เกี่ยวข้องกับระบบ Wi-Fi และ Bluetooth จาก Broadcom นั้น Apple เตรียมที่จะหันมาใช้ชิปที่ตัวเองพัฒนาภายในช่วงปี 2024 หรืออย่างช้าสุดคือในปี 2025 และชิปดังกล่าวที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาใหม่นั้นจะรวมการทำงานเข้าด้วยกัน

ซึ่งเราจะเห็นว่าซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนสำคัญนั้นเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกแทบทั้งสิ้น แต่ Apple ก็ได้หาแคร์ไม่

iPhone เตรียมเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชิ้นส่วนที่ Apple พัฒนาเอง – ภาพจาก Shutterstock

ทำไม Apple ถึงต้องทำเช่นนั้น

การที่บริษัทอย่าง Apple เลิกใช้ชิ้นส่วนของผู้ผลิตรายอื่นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่มากนัก ในอดีตเองบริษัทก็เคยยกเลิกการใช้ชิป PowerPC ของ IBM มาแล้วในปี 2005 และล่าสุดบริษัทได้หันมาผลิตชิปสำหรับ Mac ในชื่อ M (เช่น M1 M2 ฯลฯ) ทดแทนการใช้ชิปของ Intel มาแล้วในช่วงปี 2020 เป็นต้นมา

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นมาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาชิปเหล่านี้ของซัพพลายเออร์เองเริ่มไม่ทันใจ Apple (อย่างเช่นกรณีของ Intel) หรือแม้แต่ความขัดแย้งกับ Qualcomm ในเรื่องชิปโมเด็ม ก่อนที่ทั้ง 2 จะยอมความกันได้ รวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์ให้ไร้รอยต่อระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งการใช้ชิ้นส่วนที่พัฒนาเองนั้นตอบโจทย์มากกว่า

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญของบริษัทคือหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเรื่อง Supply Chain นั้นทำให้บริษัทต้องการที่จะควบคุมเรื่องดังกล่าวให้ได้มากที่สุด มากกว่าการพึ่งพาชิ้นส่วนผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งถ้าหากผู้ผลิตมีปัญหาในการผลิต ก็อาจส่งผลต่อ Apple ได้ในภายหลัง

ขณะเดียวกันการสั่งซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตรายอื่นยังส่งผลต่อต้นทุนและมาร์จิ้นอย่างมาก โดยบทความใน 9to5mac ได้ชี้ถึงราคาของ Apple M1 ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ MacBook ในช่วงการเปลี่ยนผ่านชิปช่วงปี 2020 นั้นมีราคาเพียงแค่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ชิปจากอินเทล i5 นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 200 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนต่างเหล่านี้ทำให้ Apple ประหยัดต้นทุนไปได้อย่างมาก

ถ้าหาก Apple หันมาใช้ชิปที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารเองหรือจอภาพนั้นยิ่งทำให้ต้นทุนลดลง รวมถึงมาร์จิ้นในการทำกำไรนั้นเพิ่มขึ้นได้ด้วย

ผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ รวมถึงเทรนด์หลังจากนี้

การที่ Apple เปลี่ยนมาใช้ชิ้นส่วนที่พัฒนาเองนั้นได้สร้างผลกระทบต่อบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ของบริษัทไม่น้อย อย่างเช่นกรณีของ LG ที่ทำจอภาพนั้น Apple ถือเป็นลูกค้าสำคัญของบริษัท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้มากถึง 36% ขณะที่ Broadcom นั้นได้มีสัดส่วนรายได้จาก Apple มากถึง 20% การที่ Apple ยกเลิกการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตเหล่านี้นั้นสร้างผลกระทบต่อบริษัทเหล่านี้ไม่น้อย เนื่องจากรายได้หลักหายไปทันที

อย่างไรก็ดีเรื่องดังกล่าว Apple ยังมีอุปสรรคเองไม่น้อย เนื่องจากการพัฒนาชิปของบริษัทนั้นกลับประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความร้อน การกินแบตเตอรี่ รวมถึงจะต้องปรับแต่งชิปให้เข้ากับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในแต่ละประเทศทั่วโลกที่ใช้คลื่นความถี่ไม่เหมือนกัน

แต่หลังเทรนด์จากนี้เราอาจเห็นผู้ผลิตสินค้าไอทีหลายรายหันมาพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งคู่แข่งคนสำคัญของ Apple อย่าง Alphabet (เจ้าของ Google) รวมถึงเป็นผู้พัฒนาโทรศัพท์มือถืออย่าง Pixel เองก็เริ่มที่จะมีการพัฒนาชิ้นส่วนหรือชิปเป็นของตัวเองบ้างแล้ว

ในอนาคตเองเราอาจเห็นผู้ผลิตหลายๆ รายเริ่มที่จะพัฒนาชิ้นส่วนเหล่านี้เองเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากเงินถึงเหมือนบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง Apple หรือ Alphabet