‘มหาเศรษฐีจีน’ ย่องลงหลักปักฐานใน ‘สิงคโปร์’ เพราะกลัวว่าทรัพย์สินไม่ปลอดภัยจากรัฐบาล

สิงคโปร์ กำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่า มหาเศรษฐีจีน ที่วางแผนจะมาลงหลักปักฐาน หลังจากที่รัฐบาลจีนกำลังเข้มงวดกับการปราบปรามการ หนีภาษี ของบรรดามหาเศรษฐี รวมถึงการป้องกันทรัพย์สินจากนโยบาย Common Prosperity เพื่อลดความไม่เท่าเทียม

ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เข้มงวดในการปราบปรามบรรดา มหาเศรษฐีและคนดัง ที่ เลี่ยงภาษี ส่งผลให้มหาเศรษฐีชาวจีนกำลังมองหา ที่หลบภัย ซึ่งประเทศที่เป็นปลายทางก็คือ สิงคโปร์ ศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของเอเชีย ซึ่งเป็นประเทศที่ภาษีค่อนข้างต่ำ และประชากรส่วนใหญ่ยังเป็นคนเชื้อสายจีน

การปรากฏตัวของชาวจีนในสิงคโปร์เริ่มเห็นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบบ้านหรู โดยมีชาวจีนบางคนย้ายไปยังบ้านหรูพร้อมวิวริมน้ำบนเกาะเซ็นโตซ่า ซึ่งมีสวนสนุก กาสิโน และสนามกอล์ฟ

“บริษัทของผมช่วยจัดหาคอนโดหรู จ้างคนขับรถ และจัดหาโรงเรียนเอกชน ซึ่งคุณไม่สามารถจินตนาการได้ถึงการใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งต่าง ๆ ของเศรษฐีจีนเหล่านี้ มันบ้ามาก” Pearce Cheng ซีอีโอของ AIMS บริษัทที่ให้บริการด้านการย้ายถิ่นฐาน กล่าว

แจ็ค หม่า หนึ่งในบุคคลที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในธุรกิจเอเชีย สูญเงินไปประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลของจีนถอนตัวจากการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ในปี 2020 ส่งผลให้นักธุรกิจชาวจีนรายอื่น ๆ กลัวว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์อาจใช้แรงกดดันแบบเดียวกันหรือกระทั่งเข้ายึดกิจการของพวกเขาในราคาต่ำ

“การย้ายไปสิงคโปร์เป็นการทำให้แน่ใจว่าความมั่งคั่งของครอบครัวจะปลอดภัยและคงอยู่ไปได้หลายชั่วอายุคน”

ปัจจุบัน สิงคโปร์ถูกมองเป็นบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เป็นแค่แผนสำรอง อาทิ Haidilao หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านหม้อไฟที่ใหญ่ที่สุดของจีน เพิ่งตั้งสำนักงานครอบครัว (Family Office) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัวที่สิงคโปร์ในอนาคต

ธนาคารกลางสิงคโปร์ประเมินว่าจำนวนสำนักงานครอบครัวเพิ่มขึ้นจาก 400 แห่ง ในปี 2020 เป็น 700 แห่ง ในปี 2021 โดย Loh Kia Meng หัวหน้าร่วมของสำนักงานความมั่งคั่งส่วนบุคคลและครอบครัวที่สำนักงานกฎหมาย Dentons Rodyk ประมาณการว่า ในปี 2022 มีการจัดตั้งสำนักงานครอบครัว 1,500 แห่ง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า การไหลออกของเหล่ามหาเศรษฐีจีนจะดำเนินต่อไปแม้ว่านโยบายปลอดโควิดที่เข้มงวดของจีนและมาตรการควบคุมต่าง ๆ จะถูกยกเลิกแล้วก็ตาม เนื่องจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มหาเศรษฐีจีนจะย้ายไปต่างประเทศ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งนโยบายของสิงคโปร์ที่ช่วยดึงดูดก็คือ ใครก็ตามที่ลงทุนอย่างน้อย 2.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ กองทุน หรือ Family Office จะสามารถยื่นขอสัญชาติสิงคโปร์ได้