“ปาย” เคยเป็นจุดหมายของนักเดินทาง ต่อมาเชียงคานก็กลายเป็นเป้าหมายใหม่ ตอกย้ำไลฟ์สตล์ของคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาเส้นทางที่สามารถเติมเต็มความรู้สึกโหยหาอดีต กับเส้นทางที่ได้สัมผัสกับความเป็นอยู่แบบท้องถิ่น ความฮิตของเส้นทางแบบนี้ดึงดูดให้แบรนด์ดังต่างๆ ไปตั้งสถานที่บริการ เช่น K-Bank, Black Canyon แต่การจะนำตราสินค้าเข้าไปสู่พื้นที่เหล่านี้ต้องผสานเอกลักษณ์ของแบรนด์กับความเป็นท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า Localization และที่ปายแบรนด์เหล่านี้ก็ทำได้ดีจนเป็นที่จดจำติดตานักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ ล่าสุดที่เชียงคานก็เป็นเป้าหมายที่แบรนด์ดังไปเปิดร้านแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว วิธีเช่นเดิมคือตกแต่งร้านให้ดู Restro เข้ากับท้องถิ่น เช่น ร้าน 7-11 ที่ใช้คำว่าร้าน “อิ่มสะดวก” แทนชื่อแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จัก นอกจากนี้ธนาคารกรุงไทย ก็ไปเปิดสาขาอยู่ที่ถนนชายโขง ซอย 6 กับตู้เอทีเอ็มของธนชาติที่ใช้พื้นที่ของโรงแรมและร้านอาหารเก่าแก่เฮือนหลวงพระบาง
เป็นที่น่าสังเกตว่ากว่าที่แบรนด์ดังทั้งหลายจะเข้าไปเปิดสาขาหรือแนะนำบริการไปสู่พื้นที่ใด พื้นที่ดังกล่าวก็กลายเป็นสถานที่เคยฮิตไปแล้ว ด้วยขั้นตอนการก่อสร้างที่ยากกว่าการสร้างสาขาสไตล์โมเดิร์น เพราะต้องคำนึงถึงวัสดุที่เหมาะสมกับพื้นที่ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่นักการตลาดของแบรนด์ต้องตามติดสถานที่ท่องเที่ยวดังให้ได้ก่อน เพื่อวางแผนให้บริการนักท่องเที่ยวได้ทันที ด้วยอินไซท์ของคนไทยที่ชอบถ่ายรูป ถ้าแบรนด์ไหนแต่งสวยมีกิมมิก อย่างน้อยโลโก้แบรนด์ก็จะไปอยู่ในความทรงจำผ่านเมมโมรี่การ์ดของนักท่องเที่ยวได้ไม่ยาก