ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์เทศกาลกินเจปีนี้ จะมีเงินสะพัดในประเทศไทยกว่า 35,100 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีมูลค่า 33,500 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าตลาดอาหารเจในกรุงเทพฯ น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 2,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7%
เมื่อศึกษาเชิงลึกถึงด้านพฤติกรรม โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ ออกเป็น 3 กลุ่ม พบว่ามีกลุ่มที่บริโภคอาหารเจเป็นประจำ เช่น รับประทานเป็นประจำ รับประทานเฉพาะในวันพระ วันเกิด (เช่น รับประทานอาหารเจทุกวันจันทร์ เป็นต้น) แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงเทศกาลกินเจ มีอยู่ 10% โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยที่ปัจจุบันอาหารเจหาได้ง่ายขึ้น กลุ่มที่ 2 บริโภคอาหารเจเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ คนกินเจกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ตัวเลข 50% และเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักที่สร้างเม็ดเงินให้กับยอดจำหน่ายอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจ กลุ่มสุดท้ายบริโภคอาหารเจหน้าใหม่และกลุ่มที่บริโภคอาหารเจตามแฟชั่น มีจำนวน 40% ถึงแม้ว่ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ไม่สร้างเม็ดเงินมากนัก เพราะกินตามสะดวก และไม่กินครบทุกมื้อ
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนของเทศกาลกินเจในปีนี้ คือ ร้านอาหารที่เดิมขายอาหารทั่วไปแต่ในช่วงเจก็ปรับตัวสร้างสรรค์เมนูเจออกมา เช่น ร้านอาหารปิ้งย่าง “โตไก” ร้านสเต๊กซิซ์เลอร์ รวมทั้งบุฟเฟ่ต์ตามโรงแรมก็ปรับมาให้บริการเมนูเจ สลัดภาพอาหารเจที่ต้องกินตามโรงเจ, เยาวราช หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูป กลับกลายเป็นมีไลฟ์ สไตล์ของคนเมืองรุ่นใหม่ผสมเข้าไปด้วย ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของคน Gen Y ที่คำนึงถึงสุขภาพบวกกับกินเจเป็นแฟชั่น เพราะทุกวันนี้การกินเจกลายเป็นวัฒนธรรม Mass ในช่วง 10 วันของเทศกาลไปแล้ว
สินค้าใหม่ๆ ก็อาศัยช่วงเวลา “เจ” แจ้งเกิด เช่น นมถั่วเหลืองมิว นมถั่วเหลืองชงร้อน เนจอร์ซีเล็คท์ ซอยย์ของโอวัลติน ก็ส่งรสชาติใหม่งาดำลงสู่ตลาดในช่วงนี้