‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ยังไม่ฟันอนาคตยุบเหลือ ‘แบรนด์เดียว’ ย้ำ 3 ปีนี้ ‘ทรู-ดีแทค’ ยังต้องแข่งหาลูกค้า

เริ่มสตาร์ทวันที่ 1 มีนาคม สำหรับ ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ ที่เกิดจากการควบรวมของ ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ ซึ่งนับเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมูลค่าของกิจการ (Market Capitalization) ที่รวมกันถึงประมาณ 2.94 แสนล้านบาท แล้วหลังจากควบรวมขุมพลังของ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะมีอะไร ลูกค้าจะได้อะไรเพิ่มเติม ไปหาคำตอบกัน

โรมมิ่งคลื่น แต่ไม่รวมคลื่น

แม้ทรู-ดีแทค จะควบรวมกัน แต่การรวม คลื่นความถี่ เป็นสิ่งที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ย้ำว่า ห้ามรวมกันเด็ดขาด ดังนั้น ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงเปิดบริการโรมมิ่งข้ามเครือข่ายในชื่อสัญญาณ ‘dtac-true’ และ ‘true-dtac’ โดยลูกค้าทั้ง 2 ค่ายที่รวมกันกว่า 55 ล้านราย (ทรู 33.8 ล.) (ดีแทค 21.2 ล.) จะใช้งานได้ ผ่านการเปิดโรมมิ่งข้อมูล โดยจะครอบคลุม 77 จังหวัดภายในกลางเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากร ในปี 2569 อีกด้วย

ทั้งนี้ หลังการควบรวม ทรู คอร์ปอเรชั่น มีคลื่นความถี่ทั้งหมด ได้แก่

  • ย่านความถี่ต่ำ ได้แก่ 700 MHz, 850 MHz และ 900 MHz ที่มีความสามารถในการทะลุทะลวง ครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง
  • ย่านความถี่กลาง 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz 2600 MHz
  • ย่านความถี่สูง 26 GHz สำหรับใช้งานในภาคธุรกิจ

ใช้ชื่อทรูเพราะฉายภาพนวัตกรรมชัดกว่า

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ เมื่อควบรวมกัน ทำไมชื่อบริษัทกลับมีแต่ทรู โดย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า เนื่องจากแบรนด์ทรูมีโปรดักส์ด้านดิจิทัลที่ครอบคลุมกว่า เช่น เรื่องของคอนเทนต์ ดังนั้น บริษัทใหม่ที่ต้องการสื่อสารว่าเป็นบริษัท โทรคมนาคม-เทคโนโลยี จึงเลือกใช้ชื่อของทรู

“บริษัทใหม่จะได้ประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมกัน (Synergy) ทั้งด้านการลงทุนและรายได้ ซึ่งจะขับเคลื่อนร่วมกัน อาทิ โครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เครือข่ายไอที การจัดซื้อ การขาย การตลาด ช่องทางการค้าปลีก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยจะนำสู่สมดุลความเสมอภาคและความเท่าเทียมในการแข่งขัน และจะนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดของลูกค้า

ยังไม่ฟันอนาคตเหลือแบรนด์เดียว

ฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด กล่าวว่า ตามกฎของกสทช. ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อรวมกิจการแล้วต้องคงแบรนด์ไว้ 3 ปี ทำให้แบรนด์ทรู-ดีแทคยังคงอยู่ในตลาด ลูกค้าทั้งสองไม่ต้องเปลี่ยนซิมการ์ด สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง แพ็กเกจและอายุการใช้งานยังเหมือนเดิม รวมถึงช่องทางติดต่อหรือศูนย์บริการก็ยังใช้ของค่ายเดิมได้เลย

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่เคาะว่าในอีก 3 ปีจากนี้จะไปในทิศทางไหน จะรวมเป็นแบรนด์เดียว หรือ สร้างเป็นแบรนด์หลัก-แบรนด์รอง ซึ่งทั้ง 2 โมเดลก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน แต่ปัจจุบันการทำตลาดของ 2 แบรนด์ยังต้องทำคู่ขนานกันไป ยังต้องแข่งขันในการหาลูกค้าตามปกติ ขณะที่พนักงานก็ยังทำงานแยกกัน ดีแทคยังทำงานที่จามจุรี ส่วนพนักงานทรูยังอยู่ที่ตึกทรู

“เรากำลังศึกษาอยู่ว่าจะรวมเป็นแบรนด์เดียวหรือสร้างเป็นแบรนด์หลัก-แบรนด์รองเหมือนโตโยต้ากับเลกซัส”

ทั้งนี้ แม้แบรนด์จะแยกกันทำ แต่สิ่งที่ลูกค้าทั้ง 2 ค่ายจะได้เพิ่มเติมคือ สิทธิประโยชน์ที่รวมกัน เช่น ดีแทคจะสามารถเข้าถึงบริการคอนเทนต์ของทรู หรือลูกค้าทรูจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากแบรนด์พันธมิตรของดีแทคได้ โดยหลังจากควบรวม ทางบริษัทได้เพิ่ม Better Together Gifts ได้แก่ ดูฟรี บอล หนัง และคอนเทนต์ระดับโลก นาน 30 วัน ผ่านแอปฯ ทรูไอดี, เน็ตฟรี 10GB นาน 7 วัน ทั้งเติมเงิน และรายเดือน และดื่มฟรี 1 ล้านแก้ว เลือกรับฟรี All Cafe, KOI The, DAKASI วันที่ 10 และ 24 มี.ค. ให้กับลูกค้าทั้ง 2 ค่าย

วาง 7 กลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กร

  1. ผู้นำด้านโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างแท้จริง (Be the Undisputed Network and Digital Infrastructure Leader ) – การผสานศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทใหม่ ทั้งโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล อาทิ ดาต้าเซ็นเตอร์มาตรฐานสากล ระบบคลาวด์ การต่อยอดนวัตกรรมบริการดิจิทัลต่างๆ เพื่อคนไทย ทั้ง IoT, AI Analytic, Machine Learning, Cyber Security ที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนวิถีดิจิทัล (Digital Transformation) ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
  2. เติบโตเป็นผู้นำนอกเหนือจากบริการหลัก (Champion Growth Beyond the Core) – มุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล โซลูชัน รวมถึงระบบนิเวศดิจิทัลที่ครบวงจร พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลในทุกภาคส่วน (Digital Inclusion) สร้างประสบการณ์ใหม่ไร้รอยต่อให้กับลูกค้า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมสนับสนุนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วยิ่งขึ้น
  3. สร้างมาตรฐานประสบการณ์ใหม่เพื่อลูกค้าในประเทศไทย (Set the Bar for Customer Experience in Thailand) – ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยในการวิเคราะห์ เติมเต็มไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น ทั้งการนำเสนอสินค้าบริการ การมอบสิทธิพิเศษ ตลอดจนช่องทางการเข้าถึง O2O ผ่านการผนึกพลังทั้งออฟไลน์ในเครือทั่วประเทศและออนไลน์แบบ 24 ชม.
  4. เติมเต็มชีวิตอัจฉริยะยิ่งขึ้นเพื่อทุกสไตล์ลูกค้าชาวไทย (Enhance Smart Life for Customers) – ทรู คอร์ปอเรชั่น จะส่งมอบประสบการณ์ชีวิตอัจฉริยะเพื่อคนไทย ยกระดับวิถีชีวิต และไลฟ์สไตล์ทั้งความสะดวกสบาย การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า
  5. ยกระดับมาตรฐานสำหรับลูกค้าองค์กร (Raise Standards for Enterprise Customers) – บริษัทใหม่จะเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจทั้งลูกค้า SME ธุรกิจองค์กรและภาคอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ IoT, Robotics, AI Analytics และ Blockchain พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ สู่การพัฒนานวัตกรรมโซลูชันครอบคลุมทุกมิติ
  6. สร้างสุดยอดองค์กรที่น่าทำงาน (Build the Best Place to Work) – บริษัทใหม่จะเป็นองค์กรแนวหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ดึงดูดคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลก
  7. การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณค่าขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว (ESG Best in class: Sustainable Organization to Create Long Term Value) – มุ่งเน้นการนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาร่วมสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับทุกชีวิต นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

เราตั้งเป้าจะก้าวไปเป็นหนึ่งในองค์กรนายจ้างที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราได้เพิ่มสวัสดิการให้เท่าเทียมทุกเพศ รวมถึงกลุ่ม LGBTQ+”