กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าโครงการ “นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม” ยกระดับคุณภาพชีวิตและกระตุ้นการสร้างรายได้ในชุมชน เสริมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใน 5 อาชีพ ได้แก่ การแปรรูปอาหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร การตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การผลิตของใช้ของตกแต่ง และงานบริการ คาด 6 เดือนแรก จะสามารถสร้างนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมได้ทั้งสิ้น 15,600 ราย และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม(DIPROM) กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้สู่ชุมชน เนื่องจากปัญหาการกระจุกตัวของแหล่งงานใหญ่ที่มีเพียงไม่กี่จุดในประเทศ ทำให้ชุมชนหลายแห่ง เกิดปัญหาการว่างงาน ขาดแหล่งรายได้ ส่งผลให้การหมุนเวียนของเม็ดเงินที่จะพัฒนาเศรษฐกิจกระจายไม่ทั่วถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม
นำโดย ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ริเริ่มปฏิรูปการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย “MIND” ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจด้วยการชี้ช่องทางในการประกอบอาชีพ และผลักดันองค์ความรู้ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้จริง ทั้งในด้านทักษะพื้นฐานการผลิต การบริการ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนเกิดผลิตภัณฑ์และงานบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่ ผ่านโครงการ นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม อบรม 5 หมวดอาชีพ ได้แก่ การแปรรูปอาหาร การผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร การตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่ง และงานบริการ ซึ่งจะนำร่องใน 13 พื้นที่ ผ่านศูนย์ DIPROM CENTER ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นเส้นทางการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งนับเป็นฟันเฟืองสำคัญทางเศรษฐกิจเพราะก่อให้เกิดทั้งการจ้างงาน คาด 6 เดือนแรก จะสามารถสร้างนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมได้ทั้งสิ้น 15,600 ราย และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท
“การปั้น “นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม” เป็นเป้าหมายที่ดีพร้อมให้ความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่ง
ของการกระจายรายได้ลงสู่พื้นที่ทั่วประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ ที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มากยิ่งขึ้นตามแนวคิด “การสร้างงาน สร้างอาชีพ” ซึ่งจะเป็นการยกระดับชีวิตของประชาชนในชุมชน
เกิดการสร้างรายได้ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นการสร้างอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างให้เกิดระบบ
การหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน ที่จะทำให้เกิดการเติบโต ทั้งนี้ ความเข้มแข็งของชุมชนจากฐานราก
ถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เกิดการสร้างงานใหม่ สร้างอาชีพใหม่ สร้างธุรกิจใหม่ สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ กระจายไปอย่างทั่วถึง ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความสุข ตามแนวนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม และนโยบายของรัฐบาล” นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย