Foxconn เตรียมขยายโรงงานประกอบ iPhone ในอินเดีย คาดผลิตได้ 20 ล้านเครื่องต่อปี

ภาพจาก Shutterstock

บริษัทรับผลิตสินค้าให้กับ Apple รายใหญ่สุดอย่าง Foxconn เตรียมขยายกำลังการผลิตในประเทศอินเดียเพิ่มเติม เพื่อที่จะกระจายความเสี่ยง หลังจากที่จีนมีปัญหาในการผลิต iPhone ในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าโรงงานในประเทศอินเดียหลังจากนี้จะผลิต iPhone ได้มากถึง 20 ล้านเครื่อง

Wall Street Journal รายงานข่าว โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องรวมถึงแหล่งข่าวที่เป็นบุคคลจากรัฐบาลอินเดียว่า Foxconn บริษัทผู้รับประกอบสินค้าให้กับ Apple หลายผลิตภัณฑ์รวมถึง iPhone เตรียมที่จะขยายโรงงานในแดนภาระตะ คาดว่าจะมีการจ้างงานหลักแสนตำแหน่ง

เหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทอย่าง Foxconn ต้องขยายกำลังการผลิตในอินเดียมากขึ้น เนื่องจากการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ในช่วงที่ผ่านมาของประเทศจีน ส่งผลกระทบต่อ Apple มหาศาล ทำให้บริษัทต้องกระจายการผลิตออกนอกประเทศจีน

และจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่สุดที่ทำให้ Apple เริ่มทนไม่ไหวกับประเทศจีนคือกรณี การประท้วงของแรงงาน Foxconn ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าของ Apple รายใหญ่ในเมือง Zhengzhou ซึ่งถือเป็นโรงงานใหญ่ในประเทศจีน มีพนักงงานในโรงงานมากถึง 2 แสนคน ซึ่งส่งผลกระทบต่อยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก

สำหรับการขยายกำลังการผลิตของ Foxconn นั้นจะขยายโรงงานประกอบสินค้าที่อยู่ใกล้เมือง Chennai ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2024 และจะทำให้บริษัทสามารถผลิต iPhone ได้มากถึง 20 ล้านเครื่อง ซึ่งจะใช้แรงงานในการผลิตมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า

ไม่เพียงเท่านี้บริษัทรับจ้างผลิตจากไต้หวันรายนี้ยังเตรียมสร้างโรงงานประกอบสินค้าที่รัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ซึ่งมีเมืองบังกาลอร์ตั้งอยู่ในรัฐนี้ ไว้เพื่อที่จะประกอบสินค้าอย่าง iPhone โดยเฉพาะ

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Piyush Goyal รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอินเดีย เปิดเผยว่า Apple ต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิต iPhone ในอินเดียจากประมาณ 5-7% ในปัจจุบัน โดยเพิ่มเป็น 25% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะใช้เวลาหลังจากนี้ 2 ปี

ไม่เพียงแค่ภาคการผลิตเท่านั้น แต่ Apple เองก็กำลังสนใจที่จะเปิดร้านค้าปลีกอย่าง Apple Store ในอินเดียด้วยเช่นกัน

ในช่วงที่ผ่านมาอินเดียและอาเซียนถือเป็นเป้าหมายสำคัญของ Apple ในการย้ายกำลังการผลิตออกนอกประเทศจีน โดยคาดว่าหลังจากนี้สินค้าของ Apple หลายประเภทอาจผลิตนอกแดนมังกรเป็นส่วนใหญ่ เพื่อที่จะกระจายความเสี่ยงจาก Supply Chain หยุดชะงัก