Facebook ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2004 โดยใช้ชื่อว่า “TheFacebook” โดยสมาชิกในช่วงแรกถูกจำกัดเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด จากนั้นจึงค่อยขยายไปยังมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ในปี 2005 “TheFacebook” ได้เปลี่ยนชื่อโดยการตัดคำว่า “The” ข้างหน้าออกและเปิดให้บริการกับบุคคลภายนอกสมัครเป็นสมาชิกได้เมื่อปลายปี 2006
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อย้อนอดีตหรือเขียนประวัติของ Facebook ให้อ่านกัน แต่เป็นเพราะ ล่าสุดครับ เมื่อ 22 กันยายนที่ผ่านมา Facebook จัดงานประจำปีสำหรับนักพัฒนา ชื่อว่างาน “F8” เพื่อประกาศถึงพัฒนาการของ Facebookที่ผ่านมา และอนาคตของ Facebookที่จะก้าวเดินต่อไป
ฟีเจอร์เด็ดของงาน F8 นี้คือสิ่งที่เรียกว่า “Timeline” ที่จะช่วยให้เราย้อนเวลาไปหาอดีตได้
ฟังดูน่าตื่นเต้นมั้ยครับ:)
สำหรับคนที่ใช้งาน Facebook มาได้สักระยะ จะสังเกตเห็นว่า ตัว Facebook เอง มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ราวกับว่า Mark Zuckerberg ยึดถือหลักการของ “Kaizen” อันโด่งดังของญี่ปุ่น เป็นแม่แบบในการพัฒนาระบบ
หลายคนที่เคยทดลองใช้ “Google+” ที่โดดเด่นด้วยแนวคิดของการจัด “Circle” หรือกลุ่มคนที่จะมารับรู้เรื่องราวที่เราแชร์ ทำให้หลายๆ คนติดใจในแนวคิดนี้ จน Facebook ต้อง “ขอยืม” (หรือลอก) มาใส่เพื่อปรับปรุงวิธีการแชร์หรืออัพเดตสเตตัส ของผู้
เรียกว่า Google+ มีอะไรดี เดี๋ยวสิ่งนั้นก็จะมีใน Facebook เช่นกัน
และยิ่งพัฒนาการของ Facebook ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา มีบ่อยมากครับ
ไล่มาตั้งแต่ตัว Facebook Chat ที่ออกมาเป็นแอพแชตโดยเฉพาะ ทั้งบนแอนดรอยด์และไอโฟน ทำให้คนแทบจะเลิกเล่น MSN Messenger และหันมาใช้ Facebook Chat เพื่อพูดคุยกันแทน
การปรับเปลี่ยนระบบรายชื่อเพื่อน (Friend List) แบบใหม่
มีระบบ “Realtime Ticker” ที่คล้ายๆ กับหน้าจอของการรายงานหุ้น ที่ช่วยให้ผู้ใช้เกาะติด Facebook มากกว่าเดิม เพราะจะเห็นความเคลื่อนไหวของเพื่อน แบบ Realtime ไม่ว่าจะใครจะไปกด Like ไป Comment เพื่อน รูป หรือมี Activity อะไรใน Facebook ก็จะแสดงอยู่ใน “Realtime Ticker” นี้
แม้ว่าจะมีคนจำนวนมาก ไม่ชอบฟีเจอร์นี้ เพราะละเมิดความเป็นส่วนตัว แต่ปัจจุบันทาง Facebook ก็ยังไม่ได้ถอดมันออกไป
กลับมาดูในเรื่องของ “Timeline” ที่เป็นทีเด็ดประจำงาน F8 กันต่อ
Timeline เป็นรูปแบบของหน้า Profile แบบใหม่ โดยการเพิ่มความสามารถในการย้อนดูข้อมูล สเตตัสอย่างของเราย้อนหลังได้ ไปจนถึงวันแรกที่เราสมัครใช้ Facebook กันเลย และยังเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า “Cover” ที่เป็นเหมือน ปกหนังสือ แทนตัวตนของเจ้าของ Timeline อีกด้วย
เมื่อย้อนกลับได้ ก็เหมือนกับว่า เราสามารถย้อนเวลากลับไปดูอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำของตัวเอง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เวลาใดได้
และสามารถย้อนกลับไปดูของเพื่อนได้เช่นกัน
ราวกับว่า Facebook ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง จากผู้ให้บริการ Social Networking มาเป็นผู้ให้บริการ “หนังสืออัตชีวประวัติ” ของผู้ใช้กว่า 800 ล้านคนทั่วโลก
Wikipedia อาจจะเป็นสารานุกรมออนไลน์ ที่บันทึกความรู้ต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในขณะที่ Facebook จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นสารานุกรมบันทึกชีวประวัติของชาวโลกที่ใหญ่ที่สุด
และที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น มันคือ บันทึกชีวิตของคนกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกที่เชื่อมโยงกันอยู่
ความสัมพันธ์ระหว่างกันของทั้งเพื่อน คนรัก คนรู้จัก เพื่อนของเพื่อน เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง
สิ่งไหนที่คนชอบเหมือนกัน ให้ความสนใจในเรื่องเดียวกัน คนไหนมีความสัมพันธ์กันแบบไหน ใครคิดอะไรอยู่ ณ ช่วงเวลาใดหนึ่ง
มันถูกบันทึกไว้หมด จนเรียกได้ว่า ถ้าอยากรู้จักใครสักคนหนึ่ง แค่ย้อนเข้าไปอ่านใน Timeline ของคนคนนั้น ก็เหมือนราวกับว่า รู้จักคนคนนั้นมาเป็นเวลาหลายปี
น่ากลัวว่างานนี้เฟซบุ๊กจะเข้ายึดครองโลกและอาจจะเขี่ย Google กระเด็นจากตำแหน่งผู้นำของโลกออนไลน์ในอีกไม่นาน
Open Graph อาวุธเด็ดในการครองโลก
เมื่อ “Google เป็นเหมือนสมองซีกซ้าย คุมความคิดด้านตรรกะและการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในขณะที่ Facebook เป็นเหมือนสมองซีกขวา คุมอารมณ์ คุมปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ของประชากรโลก”
ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลหรือสิ่งของปัจจุบัน มีแค่ระดับ “Like” และ “Comment”
ทั้ง 2 ตัว ถือว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ หรือ “กิริยา” ที่อยู่คู่กับ Facebook มานาน
แต่อีกทีเด็ดในงาน F8 คือ ประกาศ ชุด API ความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “Open Graph” แบบใหม่
ปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ระหว่างคนมากมาย ความชอบ (Like) ความรัก (Love) การแบ่งปันหรืออวด (Share) หรือ ระหว่างคนกับสิ่งของไม่ว่าจะเป็น เพลงที่ฟัง (Listening) สิ่งของที่ซื้อ (Buying) หนังที่ดู (Watching) หนังสือที่อ่าน (Reading) เป็น “กิริยา” ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมพฤติกรรมคนมากขึ้น
ตัว “Open Graph” นี้ เปิดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลหากันระหว่าง “Realtime Ticker” “News Feed” (หน้าแรก) และ “Timeline” ของผู้ใช้ ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไปแสดงอยู่ในหน้าเหล่านี้ได้
แค่เพิ่มความความสามารถของ Open Graph โดยการกำหนด “กิริยา” เพิ่มขึ้นนี่เอง ส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค เพราะเป็นการจำลองพฤติกรรมคนในโลกจริงมาอยู่ในโลกออนไลน์
Open Graph จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำเหนือ Google เพิ่มขึ้นอีก เพราะต่อไป Facebook จะสามารถบันทึกพฤติกรรมเหล่านี้จากสิ่งที่ผู้ใช้กว่า 800 ล้านคน ทำในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง ในขณะที่ Google รู้เพียงแค่พฤติกรรมการค้นหาข้อมูลและการเข้าเว็บไซต์ของผู้ใช้เท่านั้น
ถ้าตีเป็นมูลค่าแล้ว ข้อมูลเหล่านี้มีคุณค่าและมูลค่าที่แตกต่างกันมหาศาล
โฆษณารูปแบบใหม่ ใช้พฤติกรรมคนโซเชี่ยลดึงดูด
จากงานวิจัยของ comScore ในหัวข้อ “The Power of Like” เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบข้อมูลน่าสนใจ คือ
- ประชากร Facebook ในสหรัฐฯ ใช้เวลา 1 ใน 4 ของการเล่น Facebook ในแต่ละวัน ไปกับการอ่าน “News Feed” (หน้าแรกของ Facebook ที่แสดงอัพเดตต่างๆ จากเพื่อนๆ ในเครือข่ายของเรา)
- ผู้ใช้ Facebook อ่านคอนเทนต์จากแบรนด์ต่างๆ ในหน้า News Feed มากกว่าการไปเยี่ยมชมหน้าเพจของแบรนด์ต่างๆ ถึง 40-150 เท่า โดยคอนเทนต์เหล่านี้มาจากการโพสต์ของตัวเพจเอง และจากแฟนของเพจนั้นๆ ที่ไปคอมเมนต์หรือกด Like ในข้อความที่เพจโพสต์
- จากการวิเคราะห์ข้อมูลของเพจ 100 อันดับแรกของ Facebook พบว่า จำนวนของเพื่อนของคนที่เป็นแฟน (Friends of Fans) เห็นคอนเทนต์ของแฟนเพจ มากกว่าตัวคนที่เป็นแฟน อย่างน้อย 34 เท่า และยิ่งเพจนั้นมีแฟนมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่ Friends of Fans เห็นก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
จากข้อมูลดังกล่าว พอจะสรุปได้ว่า ถ้าเพจมีการสร้างข้อความที่สามารถ Engage กับแฟน จนทำให้เกิดการกด Like หรือคอมเมนต์ได้มากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะเกิด Brand Exposure กับเพื่อน และเพื่อนของคนที่เป็นแฟน (Friends of Fans) มากขึ้นเท่านั้น และจะเพิ่มมหาศาล ถ้าเพจนั้นมีแฟนเยอะ
จากข้อมูลของ TBG Digital พบว่า โฆษณาของ Facebook ที่เรียกว่า “Sponsored Stories” ที่เป็นการนำปฏิสัมพันธ์ของเพื่อนกับเพจมาใส่เพิ่มในการแสดงโฆษณาแบบเดิม สามารถสร้าง Click Through Rate เพิ่มขึ้นถึง 46%
ล่าสุด Facebook ได้มีการปรับปรุงการแสดงผลโฆษณา จากเดิมที่ใช้เพียงแค่ “Like” ในเพจหรือแบรนด์ใด กลายมาเป็นการมองเห็นคอมเมนต์ที่เพื่อนของเรา ทำกับเพจนั้นๆ ด้วย ยิ่งทำให้โอกาสที่เราจะเห็นและคลิกที่ตัวโฆษณาของ Facebook เพิ่มมากขึ้นไปอีก
นี่ยังไม่รวมถึงระบบ Open Graph นะครับ ว่าถ้ามีการเปิดใช้งานอย่างเต็มที่ ประสิทธิภาพของการโฆษณาบน Facebook จะเพิ่มสูงขึ้นไปขนาดไหน และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ที่ Google เคยได้รับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งหมดนี้คือ ก้าวต่อไปอีกก้าวของ Facebook ที่กำลังผลักดันโลกสังคมออนไลน์ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ต้องจับตาการเดินเกมเปลี่ยนโลกของหนุ่มน้อย Mark Zuckerberg ให้ดี
Facebook Timeline และ Open Graph ตัวใหม่ มีผลกระทบอย่างไรในเชิงการตลาด
โลกการตลาดยุคใหม่ ศาสตร์ที่สำคัญที่สุด คือ พฤติกรรมลูกค้า (Customer Behavior) เพราะด้วยความหลากหลายของสินค้า บริการ วัฒนธรรม ข้ามพรมแดน ส่งผลให้การแบ่ง Segment ของตลาดขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านพฤติกรรมและจิตวิทยา (Psychology) มากกว่า การแบ่ง Segment ตาม Demographic และ Geographic อย่างที่เคยเป็น
ยากเหลือเกินครับ ที่ในโลกแห่งความเป็นจริง สำหรับการเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ซื้อ (Buyer Behavior) จำนวนมหาศาล ทั้งพฤติกรรมจากตัวบุคคล (Individual Behavior) และทางจิตวิทยาสังคม (Sociology Psychology) หรือพฤติกรรมแบบกลุ่ม (Behavior of Groups)
ด้วยฟีเจอร์ Timeline และ Open Graph ตัวใหม่ ได้เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้เกือบสมบูรณ์
ทำให้ตอนนี้ Facebook นอกจากจะกลายเป็น Marketing Platform ที่โดดเด่นในเรื่องของ พฤติกรรมผู้บริโภค (Customer Behavior) และการสื่อสารการตลาด (Marketing Communication)
พฤติกรรมของประชากร Facebook กว่า 800 ล้านคนขณะนี้ จะถูกเก็บบันทึก และถูกสังเคราะห์ออกมาเพื่อตอบโจทย์ทางการตลาด ที่อาจจะไม่เคยมีองค์กรธุรกิจไหนเคยรู้มาก่อน
นี่แหละครับ ความน่ากลัวของ Facebook ที่จะกลายเป็นบริการที่ครองบัลลังก์อันดับ 1 ของโลกออนไลน์ในอีกไม่นาน