‘โฟล์คสวาเกน’ ยอมหั่นราคาชน ‘เทสลา’ สัญญาณแรก ‘สงครามราคา’ ตลาดอีวี

ภาพจาก Shutterstock
ดูเหมือนสงครามรถอีวีในตลาดโลกจะยิ่งดุเดือด เพราะล่าสุด โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) แบรนด์รถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมันก็หั่นราคา เพื่อสู้กับ เทสลา (Tesla) ที่ได้ลดราคารถอีวีลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ID.3 รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเรือธงของ โฟล์คสวาเกน จะวางจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมในราคาต่ำกว่า 40,000 ยูโร (ราว 1.5 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าราคาลดลง 3,000 ยูโร (1.1 แสนบาท) เทียบเท่ากับ Model Y รุ่นยอดนิยมของ เทสลา โดยคนในวงการมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการตอบโต้โดยตรงต่อการลดราคาหลายครั้งของเทสลา ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงส่วนลดสูงสุดถึง 20% อ้างอิงจากตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา

Ferdinand Dudenhoeffer นักวิเคราะห์ กล่าวว่า แม้ว่ายอดรายรถอีวีของกลุ่มโฟล์คสวาเกนทั้ง 10 แบรนด์จะมียอดขายรวมกว่า 352,000 คันในตลาดยุโรป แต่ในเยอรมนีประเทศบ้านเกิดของโฟล์คสวาเกนกลับถูกเทสลาแซงขึ้นเป็นแบรนด์รถอีวีที่มียอดขายมากที่สุดในเดือนมกราคม โดยมีการเติบโตถึง 900% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ส่วนตลาดจีนที่ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของรถอีวี โฟล์คสวาเกนมีส่วนแบ่งในตลาดรถอีวีเพียง 2.4% โดยปีที่ผ่านมามียอดขายเพียง 155,700 คัน จากตลาดรวม 5 ล้านคัน ขณะที่เทสลามีส่วนแบ่งในตลาดจีนถึง 7.8% ส่วน BYD ของจีนมี 16% ขณะที่แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์อีวีสัญชาติจีนรายอื่น เช่น Wuling, GAC และ Chery ก็มีส่วนแบ่งตลาดที่มากกว่าโฟล์คสวาเกน ส่วน เมอร์เซเดส-เบนซ์และบีเอ็มดับเบิลยู ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมนีก็ยังไปได้ไม่ค่อยดีนักในตลาดจีน โดยมีส่วนแบ่งตลาด น้อยกว่า 1%

“โฟล์คสวาเกนกำลังเห็นว่าภัยคุกคามจากเทสลานั้นใหญ่หลวงเพียงใด และในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ผลิตในเยอรมันยังคงตามหลังแบรนด์ท้องถิ่นอยู่มาก” Ferdinand Dudenhoeffer กล่าว

โดย Gregor Sebastian นักวิเคราะห์จาก Mercator Institute for China Studies มองว่า เวลาที่แบรนด์รถยนต์สัญชาติเยอรมันจะชิงส่วนแบ่งการตลาดในจีนนั้นได้หมดไปแล้ว เพราะว่ารถยนต์ของเยอรมันจะเน้นที่สมรรถนะการขับขี่แต่ในประเทศจีนที่มีการจราจรติดขัด ทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนสำคัญกว่า

อย่างไรก็ตาม Gregor Sebastian มองว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในอุตสาหกรรม แต่ชื่อเสียงของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันยังคงเป็นไพ่ตายในจีน

“การแข่งขันนั้นยาก แต่โฟล์คสวาเกนมีประสบการณ์กว่า 80 ปีในการสร้างรถยนต์สำหรับตลาดและลูกค้าที่แตกต่างกัน นั่นจะทำให้พวกเขาได้เปรียบ”

ปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อครองโลกในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ายิ่งทวีความรุนแรงขึ้นและผู้ท้าชิงใหม่ ๆ เกิดขึ้นโดยเฉพาะผู้เล่นจากจีนที่เริ่มออกมาทำตลาดโลก ส่งผลให้โฟล์คสวาเกน ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องเข้าสู่ สงครามราคา เพื่อปกป้องตำแหน่งของแบรนด์ในตลาดรถอีวี แม้ว่านั่นจะหมายถึงกำไรที่จะลดลงก็ตาม