‘ซัมซุง’ ทุ่ม 8 ล้านล้านบาท ผุด “โรงงานผลิตชิป” ใหญ่สุดในโลก

อย่างที่รู้กันว่าปัจจุบัน ประเทศผู้ผลิตชิปอันดับ 1 ของโลกอยู่ที่ไต้หวัน โดยบริษัทอันดับ 1 ก็คือ TSMC ส่วน ซัมซุง (Samsung) เป็นผู้เล่นอันดับ 2 โดยล่าสุด ซัมซุงก็ได้เปิดเผยว่ามีแผนจะลงทุนสูงถึง 300 ล้านล้านวอน หรือกว่า 8 ล้านล้านบาท เพื่อสร้าง โรงงานผลิตชิปแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ได้เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะลงทุน 300 ล้านล้านวอน (8 ล้านล้านบาท) สร้างคอมเพล็กซ์เซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลระบุว่าจะเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยการลงทุนดังกล่าวจะเป็นการลงทุนระยะยาวกินเวลา 20 ปี หรือลงทุนจนถึงปี 2585 ขณะที่คอมเพล็กซ์นี้จะประกอบด้วยโรงงานผลิตชิป 5 แห่ง ซึ่งจะตั้งอยู่นอกกรุงโซล

โดยคอมเพล็กซ์เซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังจะเกิดนั้น รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะ เชื่อมต่อโรงงานผลิตชิปจากซัมซุงกับบริษัทอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ตั้งแต่การออกแบบชิปไปจนถึงการผลิต โดยปัจจุบัน ซัมซุงถือเป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดในโลก

การลงทุนดังกล่าวนับเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเชิงรุกของประเทศเกาหลีใต้เพื่อขึ้นเป็น ผู้นำในเทคโนโลยี โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการ รวมบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดเข้าด้วยกันเพื่อกระตุ้นการพัฒนาในพื้นที่สำคัญ ๆ โดยรัฐบาลต้องการผลักดันการลงทุนในเทคโนโลยีหลัก 6 ชนิด อาทิ ชิป, จอแสดงผล และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของประเทศมีฐานมั่นคงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เซมิคอนดักเตอร์ จะยังเป็นจุดสนใจหลัก เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญที่นำไปใช้ในทุกสิ่งตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์

การเปิดโรงงานใหม่นี้ อาจทำให้ซัมซุงสามารถแซง TSMC ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาด โดยที่ผ่านมา ซัมซุงเองก็ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ผลิตชิปขนาดเล็กที่สุด 1.4 นาโนเมตร ภายในปี 2027 ซึ่งจะเป็นชิปเทคโนโลยีขั้นสูงสุดในโลก

ปัจจุบัน เซมิคอนดักเตอร์ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีเรื่อง การเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องและได้สร้างไดนามิกที่ซับซ้อนระหว่างประเทศพันธมิตร อย่าง อเมริกา ที่ต้องการผลักดันให้การผลิตชิปย้ายกลับมาอยู่ในฝั่งสหรัฐฯ โดยได้ลงนามในกฎหมาย Chips and Science Act ซึ่งรวมเงินสนับสนุน 52,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในอเมริกา โดยสหรัฐฯ พยายามสร้างพันธมิตรกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์

สหรัฐฯ​ ไม่ได้แค่ต้องการจะเพิ่มการผลิตชิปในประเทศ แต่อีกด้านก็ต้องการ ระงับการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของจีน โดยในปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกกฎที่มุ่งตัดขาดจีนจากการได้รับหรือผลิตชิปและส่วนประกอบหลัก รวมถึงเครื่องมือที่จำเป็นในการผลิต

“ณ ตอนนี้ ทุกประเทศพยายามสร้างจุดแข็งในการแข่งขันของตนเอง มีการลดหย่อนภาษีและภาระผูกพันด้านเงินทุนจากรัฐบาลที่ต้องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แรงกระตุ้นสำหรับการแข่งขันนั้นแข็งแกร่งกว่าแรงกระตุ้นสำหรับความร่วมมือ” ปราเนย์ โคตาสถาน ประธานโครงการภูมิรัฐศาสตร์เทคโนโลยีขั้นสูงของสถาบันตักชาศิลา กล่าว

Source