รีแบรนด์ ทั้งที่ยังแข็งแรง

POSITIONING ฉบับนี้ มีหลายกรณีศึกษาเกี่ยวกับ “แบรนด์” ของไทยและข้ามชาติที่ต้องติดตาม… กรณีแรกเป็นเรื่องแบรนด์อันดับ 1 ในตลาดมือถือ อยู่ดีๆ ต้องลุกมา “รีแบรนด์” หลายคนอาจตั้งคำถามกับ “เอไอเอส” หลังจากเห็นโลโก้รูปรอยยิ้มสีเขียวปรากฏออกมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน

นอกจากต้องการหลุดจากภาพเดิมๆ แล้ว สภาพแวดล้อมธุรกิจโทรศัพท์มือถือกำลังเปลี่ยนแปลงไปมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญผู้บริโภคยุคนี้ก็ไม่เหมือนเดิม ความต้องการซับซ้อนและหลากหลาย ยิ่งมี “โซเชี่ยลมีเดีย” มาเป็นเครื่องมือการตลาดรูปแบบใหม่ ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคใกล้ชิดยิ่งขึ้น หากเกิดข้อผิดพลาด ความสุ่มเสี่ยงที่แบรนด์จะได้รับผลกระทบก็มีมากขึ้น

ทุกแบรนด์เวลานี้จึงต้อง “อินไซท์” เรียนรู้และเข้าใจความต้องการผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง สร้างความผูกพันและประสบการณ์ที่ดี เพื่อให้แบรนด์เข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้บริโภค

คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาดของเอไอเอส ยกตัวอย่าง สิ่งหนึ่งที่แบรนด์อย่างเอไอเอสต้องทำ

ไม่ใช่แค่ทำให้ผู้บริโภค “ชอบ” แต่ต้องทำให้ “รัก”อย่างเต็มหัวใจ

เพราะเมื่อลูกค้า “รัก” แล้ว หากเกิดอะไรขึ้นกับแบรนด์อย่างไม่คาดคิด ลูกค้าไม่เพียงจะให้ “อภัย” แต่จะเป็น “กระบอกเสียง” ให้กับแบรนด์อย่างไม่มีเงื่อนไขหากเดินไปในทิศทางแบบนี้ได้ การ “รีแบรนด์” ของเอไอเอส จึง ไม่ใช่แค่ให้คนนอกรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงผ่านโลโก้รูป “รอยยิ้ม” สีเขียวที่ดูเป็นมิตร ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้นเท่านั้น คนในหรือพนักงานจะต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน เปลี่ยนจากที่คิดแทนลูกค้ามานั่งในใจลูกค้า รู้ว่าลูกค้าเป็นใครและต้องการอะไร ทั้งในโลกทำงานและโลกส่วนตัว ชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่เรื่องงาน แต่ยังมีไลฟ์สไตล์อีกด้วย

นักธุรกิจหนุ่มที่ชอบทำอาหาร แม่ค้าสาวที่ใช้เวลากลางคืนเป็นนางเอกลิเก เด็กเรียนที่ผันตัวเองเป็นแม่ค้าเสื้อผ้าแฟชั่นในโลกออนไลน์ ตัวอย่างการเข้าถึงและเข้าใจลูกค้าตามความหมาย “Your world your way” ที่เอไอเอสนำเสนอผ่านหนังโฆษณา

นี่เป็นเพียงบริบทแรกของกระบวนการรีแบรนด์ที่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง ที่จะเห็นเป็นรูปธรรมผ่านสินค้าและบริการจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

อีกแบรนด์ที่ต้องจับตา “อิเกีย” แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่เข้ามาเปิดสาขาในไทย นับเป็นอีกกรณีศึกษาของโกบอลแบรนด์ ทำให้คนไทยได้สัมผัสกับการใช้เครื่องมือการตลาด สร้างตัวจากผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จนกลายเป็นแบรนด์ข้ามชาติได้อย่างไร

มาหาคำตอบกับการรีแบรนด์ประเทศไทยหลังวิกฤติน้ำท่วม รวมถึงเจ้าของสินค้าและบริการจะต้องมองโอกาสทางธุรกิจอย่างไร และเลือกใช้เครื่องมือการตลาดแบบไหน เพื่อรับมือกับวิกฤติ ติดตามได้ในฉบับ… เรามีคำตอบ