เป็นประจำทุกปีที่ เอไอเอส (AIS) จะมาเปิดเผยถึงทิศทาง กลยุทธ์ ขององค์กร รวมถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) แม่ทัพใหญ่ของ AIS ก็ได้ออกมาพูดถึงแนวคิด พาย 3 ชิ้น ที่จะพาเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ทั้งองคาพยพ
SME โตไม่ได้เพราะโครงสร้างไม่เอื้อ
สมชัย อธิบายว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2023 คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 3.6% ซึ่งถือว่าสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ เนื่องจากองค์กรใหญ่ในไทยนั้นมีความแข็งแรง แม้สถานการณ์ทั่วโลกจะมีความไม่แน่นอนทั้งจากสงคราม ค่าพลังงานที่สูงขึ้น และการล้มละลายของแบงก์ แต่เชื่อว่าประเทศสามารถผ่านวิกฤตได้แน่นอน
“ไทยมี GDP ใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน มีประชากร 72 ล้านคน และมี SME กว่า 3.2 ล้านราย ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะเติบได้ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่แข็งแรง แต่ SME ต้องแข็งแรงด้วย”
อย่างไรก็ตาม ที่ SME ในไทยยังเกิดไม่ได้ สมชัยมองว่า เป็นเพราะ โครงสร้างของไทยมันเอื้อองค์กรใหญ่ ทั้งที่ในยุคดิจิทัลถือเป็น โอกาสทองของ SME ดังนั้น สิ่งที่เอไอเอสอยากนำเสนอคือ Ecosystem Economy คือการทำเศรษฐกิจแบบร่วมกันเพื่อช่วยให้เติบโตทั้งองคาพยพเติบโตขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วย พาย 3 ชิ้น ได้แก่
- การใช้งานโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Intelligence Infrastructure)
- เปิดใจให้กว้างเพื่อรับทุกคนอย่ากินรวบคนเดียว (Cross Industry Collaboration)
- ร่วมกันพัฒนาบุคลากรของไทย (Human Capital & Sustainability)
เห็นการเติบโตของดีไวซ์ 8 เท่า
ปัจจุบัน AIS ถือครองคลื่นความถี่ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง รวมกว่า 1460 MHz มีผู้ใช้งานรวม 46 ล้านเลขหมาย ขณะที่ AIS Fibre เข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วไทยกว่า 8.8 ล้านครัวเรือน และครองส่วนแบ่งตลาดในเชิงของผู้ใช้งานกว่า 16%
ในส่วนของ 5G ก็ครอบคลุม 87% ของไทย โดยปีนี้ AIS ได้เป็นพันธมิตรกับ NT ทำให้ AIS มีคลื่น 700 MHz รวมเป็น 40 MHz ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ นอกจากนี้ AIS ได้พัฒนาบริการ AIS PARAGON (Next Generation Orchestration Platform) ที่จะเป็นเสมือน 5G One Stop Platform ให้ภาคอุตสาหกรรมช่วยบริหารจัดการ resources ผ่าน Cloud และ Edge Computing และอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานอย่าง Green Data Center ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยในปีนี้ AIS คาดว่าจะมีการลงทุนราว 27,000 – 30,000 ล้านบาท
“ปัจจุบัน ทั้งเราและคู่แข่งมีเลขหมายรวมกันกว่า 100 ล้านเลขหมาย แต่ภายในปี 2027 คาดว่าจะมีดีไวซ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านเครื่อง ดังนั้น เราเห็นโอกาสเติบโตอีกถึง 8 เท่า” สมชัย กล่าว
Subscription Model ที่เกิดได้เพราะ Collaboration
AIS ได้ยกตัวอย่างความร่วมมือข้ามองค์กรจนเกิดเป็นบิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ โดยอย่างแรกที่สร้างเสียงฮือฮาก็คือ Subscription iPhone 14 ที่ร่วมกับธนาคาร UOB ให้ใช้ iPhone รุ่นใหม่ทุก ๆ 2 ปี ในราคาเริ่มต้น 850 บาท/เดือน หรือการร่วมกับ Samsung ที่จับคู่ TV กับอินเทอร์เน็ตบ้าน และคอนเทนต์ต่าง ๆ ในราคาเดือน 1,299 บาท สัญญา 2 ปีเช่นกัน พร้อมได้ทีวีไปใช้เลย
“นี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเข้าถึงลูกค้า ด้วยความที่เรามีฐานลูกค้า มีโครงข่ายกับระบบที่พร้อมจะร่วมกับพันธมิตร ดังนั้น พอร่วมกันแต่ละธุรกิจก็ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ทาง เราอาจได้ลูกค้าเพิ่มจากพันธมิตร ส่วนพันธมิตรก็ได้ลูกกค้าเอไอเอสเพิ่ม ซึ่งนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น” ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของ คอนเทนต์ หลังจากที่เคยร่วมกับ Disney+ Hotstar ในการออกแพ็กเกจราคาพิเศษ ล่าสุด ก็ได้ประกาศความร่วมมือกับ Netflix เปิดตัวแพ็กเกจ 5G + Netflix นอกจากนี้ ก็มี ช่อง 3 และ MonoMax ที่จะออกแพ็กเกจราคาพิเศษด้วยเช่นกัน
ไม่ใช่แค่ความร่วมมือกับอุตสาหกรรมใหญ่ แต่ที่ผ่านมา AIS ได้จับมือกับธนาคารกรุงไทยนำ AIS POINTS ไปใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ในร้านถุงเงินที่มีกว่า 1.8 ล้านร้าน นอกจากนี้ก็มีการจับมือกับ ธนาคารกรุงเทพ เปิดตัว บัตรเดบิต Be1st Digital AIS POINTS ที่สามารถนำการใช้จ่ายบนบัตรมาเปลี่ยนเป็น AIS POINTS และนำไปแลกสิทธิพิเศษต่าง ๆ ได้
การพัฒนาคนสิ่งที่ขาดไม่ได้
ในแกนของการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา AIS Academy ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน สถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และ สมาคมวิทยาลัยและสถาบันประเทศแคนาดา หรือ Colleges and Institutes Canada (CICan) ในการนำหลักสูตรการเรียนรู้จากสถาบันชั้นนำของประเทศแคนาดาเสมือนการนำโลกไร้พรมแดนมาให้คนไทยและลูกค้าได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง
นอกจากนี้ AIS ก็มีแคมเปญ “อุ่นใจ CYBER” ที่ส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
Cognitive Tech-Co สิ้นปีหน้าได้เห็น
สำหรับการทรานส์ฟอร์มตัวเองไปสู่ Cognitive Tech-Co หรือพัฒนาโครงข่ายและองค์กรให้มีความอัจฉริยะขึ้น ทาง สมชัย คาดว่าจะได้เห็นความสมบูรณ์ภายในสิ้นปีหน้า โดยปัจจุบันกำลังเร่งสร้างทีม Data Analytics เพื่อพัฒนา Data Insight สำหรับตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อทำให้ IT Infrastructure ฉลาดขึ้น รวมถึงการพัฒนา Network Automation ที่จะมากกว่าความเร็วแรงของอินเทอร์เน็ต
“ปัจจุบัน AIS ขับเคลื่อนด้วย 4 แกน 1. Mobile ที่ยังแข็งแรงเป็นเบอร์ 1 2. Fixed Broadband แม้ปัจจุบันเป็นที่ 3 แต่ก็สามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว 3. Enterprise Business ที่คาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% และสุดท้าย Digital Service ที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป อาศัยการลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์”
ไตรมาส 2 ปิดดีล 3BB ได้แน่
ในส่วนของธุรกิจเน็ตบ้าน หรือ Fixed Broadband ปีที่ผ่านมา AIS มีลูกค้าอยู่ 2.2 ล้านราย มีรายได้ 10,064 ล้านบาท และหากดีลการเข้าซื้ออ 3BB สำเร็จ AIS จะมีลูกค้าเพิ่ม 2.4 ล้านราย รวมเป็น 4.6 ล้านราย ขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากเบอร์ 1 ที่มีฐานผู้ใช้ 5 ล้านราย โดย AIS คาดว่า หากได้ 3BB จะทำให้สัดส่วนธุรกิจบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 20% ของรายได้รวม
“เรายังมีเจตนาซื้อ 3BB ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้จะล่าช้ากว่าที่คิดไว้ก็ตาม ตอนนี้เรารอแค่กสทช. อนุญาต ซึ่งเราเชื่อว่าดีลนี้จะไม่มีปัญหา เพราะเป็นดีลที่สะอาดและโปร่งใสมาก” สมชัย ย้ำ
จะเห็นว่าเพียงแค่ไตรมาสแรก AIS ก็ขยับตัวในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการหา พันธมิตร ที่จะเข้ามาช่วย มัดใจลูกค้า เพราะต้องยอมรับว่าหลังจากที่ True และ Dtac ควบรวมกัน ทั้ง 2 ก็จัดเต็มสิทธิพิเศษยื้อลูกค้าให้อยู่ด้วยกัน จากนี้คงต้องรอดูว่าจะมีโมเดลใหม่ ๆ อย่าง Subscription ดีไวซ์จากอีกค่ายมาแข่งด้วยหรือไม่