SX Talk Series #1 จับมือ Win Win WAR Thailand จัดเสวนาพิเศษกับ 3 กูรู ด้าน SE เปลี่ยนไอเดียธุรกิจในฝันให้เกิดขึ้นจริง


SX ร่วมกับ รายการ Win Win WAR Thailand จัดเสวนาพิเศษ SX Talk Series “Exploring the Impact of Social Enterprises: From Local to Global” เวทีเสวนาที่เป็นมากกว่าการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ แต่สนับสนุนการลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง ประเดิมหัวข้อการเสวนาแรกด้วยการเปลี่ยนไอเดียในฝันให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม เรียนรู้เทคนิคการทำธุรกิจที่ได้กำไร และสร้างอิมแพคต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กับ 3 กูรู ด้านธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ได้แก่ คุณพีรดา ปฏิทัศน์ ประธานแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี คุณภาณุพงศ์ ธนารักษ์วุฒิกร กรรมการผู้จัดการ ATTRA GROUP – software, hardware IoT house และ คุณทลปภร ปัญโยรินทร์ General Manager SE Thailand ณ C asean Samyarn CO-OP ชั้น 2 สามย่านมิตรทาวน์

คุณพีรดา ปฏิทัศน์ ประธานแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี เล่าว่า เดิมตนเองทำงานในด้านไอทีและไม่ได้เรียนจบมาในด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่วันหนึ่งได้มองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องขยะ จึงจุดประกายให้ตนเองอยากเข้าไปแก้ไขปัญหานี้ “จากปัญหาขยะล้นโลก จึงเกิดความคิดนำเศษขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้และไม่ได้แยกขยะอย่างเหมาะสม มาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปให้กลายเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซลตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นธุรกิจในรูปแบบของ Social Enterprise (SE) เพียงมีความตั้งใจที่อยากเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้วางแผน Business Model ให้ชัดเจน ทำให้เมื่อโครงการเดินหน้าไปสักพักก็ต้องพบปัญหาเรื่องเงินทุนจึงเกิดความคิดอยากเลิกทำ แต่กลับมีคนที่เชื่อมั่นและเชื่อใจเราว่าการจัดการปัญหาขยะจะสร้างอิมแพคให้กับสังคมได้ เราสามารถระดมเงินจำนวน 1.6 ล้านบาทได้ภายใน 3 วัน แรงสนับสนุนที่เกิดขึ้นจึงเป็นแรงผลักดันให้เราคิดหาทางออกเพื่อฝ่าฟันไปให้ได้และอยากเดินหน้าต่อ และกลับมาคิดว่าเราจะเปลี่ยนแผนงานอย่างไรเพื่อให้เกิดวงจรรายได้ในธุรกิจ เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคมและตัวเราด้วย จึงเป็นที่มาของการทำธุรกิจในรูปแบบของ SE”

คุณพีรดา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในการทำธุรกิจย่อมเจอปัญหามากมายโดยเฉพาะการทำธุรกิจเพื่อสังคม ความพร้อมและความตั้งใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เรามีแรงเดินหน้าต่อ ไม่ย่อท้อไปก่อนเมื่อเจออุปสรรค การจะนำพาธุรกิจจาก Local ไปสู่ Global ส่วนตัวพี่ก็มองว่าไม่ใช่เรื่องยากเพราะสิ่งที่เป็นปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศเราเท่านั้น แต่เราต้องสร้างโปรไฟล์ธุรกิจให้ดี ถ้ามีโอกาสก็ลองไปตามเวทีประกวดต่าง ๆ เพื่อหาประสบการณ์ ยกระดับธุรกิจเราขึ้นไปขั้น เชื่อว่าถ้าเราคิดและมีความมุ่งมั่นที่จะทำ มีใจที่หนักแน่น เราจะก้าวผ่านอุปสรรคและประสบความสำเร็จค่ะ”

ด้าน คุณภาณุพงศ์ ธนารักษ์วุฒิกร กรรมการผู้จัดการ ATTRA GROUP ได้แบ่งปันความรู้ในฐานะสตาร์ทอัพว่า “ในฐานะคนทำธุรกิจที่ต้องการทรานส์ฟอร์มตัวเองเป็น Social enterprise เพื่อสร้างอิมแพคในสังคมนั้น สำหรับบริษัท ATTRA เริ่มแรกเราเป็นบริษัทด้าน Creative Innovation Company ที่คิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าทั้งด้าน Software , Hardware และ IoT ในมุมของการเป็น SE ผมมองว่าเรามีความพร้อมที่จะทรานส์ฟอร์มตัวเองให้กลายเป็น Holding Company เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อสร้างอิมแพคให้สังคม ส่วนตัวผมเริ่มจากการเป็นเด็กสายประกวดตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยสมัครเข้าร่วมการแข่งขันเวทีต่าง ๆ มากมาย ทั้งเวทีสตาร์ทอัพ เวที SME และเวทีนวัตกรรม ผมเริ่มทำธุรกิจตอนอายุ 17 และเริ่มตั้งบริษัทนี้ตอนอายุ 20 ซึ่งเงินทุนก็มาจากการแข่งขันในเวทีต่าง ๆ แล้วได้รางวัล ผมจึงมองว่าการประกวด การทำกิจกรรมที่ผ่านมาทำให้ผมได้รับโอกาสมากมายในชีวิตที่สามารถนำมาต่อยอดทำธุรกิจในวันนี้ได้

“สำหรับคนที่กำลังจะลงมือทำธุรกิจให้คิดไว้ก่อนเลยว่าเราคือนักแก้ปัญหา อย่าง SE ก็เป็นธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของปัญหาเวลาเจออุปสรรคมันจะพิสูจน์ว่าตัวตนของเราคือนักแก้ไขปัญหาได้ระดับไหน ความรู้ความสามารถเป็นสิ่งสำคัญแต่ผมเชื่อว่าเราสามารถเรียนรู้ในระหว่างทางที่เดินไปได้ ซึ่งผมเชื่อในเส้นทางที่ผมเลือกและยอมทุ่มเทไปกับสิ่งนั้นครับ” คุณภาณุพงศ์ กล่าว

ปิดท้ายด้วย คุณทลปภร ปัญโยรินทร์ General Manager SE Thailand ได้บอกเล่าถึงเคล็ดลับในการเริ่มต้นทำธุรกิจเพื่อสังคมว่า “กระดูกสันหลังของธุรกิจเพื่อสังคมจริง ๆ มี 4 ข้อ ได้แก่ 1. มีความชัดเจนว่าต้องการแก้ไขปัญหาสังคมเรื่องใด 2. มีการวางแผน Business Model 3. มีสินค้าและบริการที่จะทำให้องค์กรมีรายได้เข้ามาอย่างยั่งยืนเพื่อนำรายได้นั้นไปแก้ปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม และ 4. สามารถวัดผลทางสังคมได้ว่าธุรกิจ SE นั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร มีการพัฒนาที่ดีขึ้นหรือไม่ และดีที่สุดควรจัดตั้งองค์กรในรูปแบบนิติบุคคลเพื่อการจัดการที่โปร่งใสเป็นระบบ”

คุณทลปภร กล่าวต่อว่า “ในฐานะของ SE Thailand ที่เป็นเพื่อนคู่คิดของกลุ่ม SE ในประเทศไทย อุปสรรคที่คนทำธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยมักพบเจอมี 2 เรื่อง ได้แก่ 1. เน้นสร้างผลลัพธ์ทางสังคม แต่ Business Model ไม่แข็งแรง 2. Business Model แข็งแรง แต่ไม่ได้เป็นธุรกิจ SE ที่แท้จริง ขอให้ทุกคนจำไว้เสมอว่า SE มี 2 ด้าน คือ เราต้องสร้างอิมแพคทางสังคมและธุรกิจอยู่รอด อย่าเน้นด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียวแต่ต้องเดินไปคู่กัน ซึ่ง SE Thailand พร้อมจะเป็นเพื่อนคู่คิดของ SE ทุกคน เรายินดีสนับสนุนธุรกิจการเติบโตของธุรกิจ SE ทั้งในระดับประเทศและระดับ Global วันนี้ขึ้นอยู่กับทุกคนว่าทำให้ SE สร้างประโยชน์เพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศของเราอย่างไร เมื่อเราสามารถสร้างธุรกิจของเราได้ดีแล้ว มีการสื่อสารที่ชัดเจนว่าสินค้าหรือบริการของเราจะช่วยแก้ปัญหาสังคมเรื่องใด คนที่อยากร่วมลงทุนหรือสนับสนุนเรา ก็จะเดินเข้ามาหาเราเอง”

สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมของ SX ได้ทาง www.sustainabilityexpo.com และ Facebook : Sustainability Expo