‘เกาหลีใต้’ สั่งปรับ ‘Google’ กว่า 1,100 ล้าน ข้อหากีดกันผู้พัฒนาไม่ให้ปล่อยเกมบนแพลตฟอร์มคู่แข่ง

Photo : Shutterstock
คณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรมของเกาหลีใต้ (KFTC) ได้ปรับ Google บริษัทลูกของ Alphabet เป็นจำนวน 42.1 พันล้านวอน (ประมาณ 1,100 ล้านบาท) เนื่องจากบล็อกผู้พัฒนาไม่ให้ปล่อยเกมมือถือบนแพลตฟอร์มคู่แข่งของเกาหลีที่ชื่อว่า One Store

Google ได้ถูกกล่าวหาว่า บริษัทได้กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตวิดีโอเกมของเกาหลีใต้เผยแพร่เกมใหม่ได้เฉพาะบน Play Store ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2016 จนถึงเมษายน 2018 ซึ่งหมายความว่า Google ห้ามผู้ผลิตเกมท้องถิ่นไม่ให้เผยแพร่เนื้อหาของตัวเองบนแพลตฟอร์ม One Store ซึ่งเป็นคู่แข่ง เพื่อแลกกับการขายและการสนับสนุนสำหรับการขยายตัวทั่วโลก

ในปี 2018 ส่วนแบ่งการตลาดของ Google ในตลาดแอปมือถือ Android เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 90-95% จากปี 2016 มีส่วนแบ่งประมาณ 80-85% ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของ One Store ในปี 2018 คิดเป็นประมาณ 5-10% ซึ่งลดลงจาก 15-20% ในปี 2016 ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย KFTC

“ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพื่อให้แน่ใจว่ามีการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดแอป โดยป้องกันไม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ใช้ตำแหน่งที่มีอำนาจเหนือกว่าในทางที่ผิด” หน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของเกาหลี กล่าว

Google Play และ One Store สร้างยอดขายในประเทศมากกว่า 90% จากการขายเกม ขณะที่นโยบายของ Google ส่งผลกระทบต่อบริษัทเกม ตั้งแต่ผู้ผลิตวิดีโอเกมรายใหญ่ เช่น NCSoft, Netmarble และ Nexon ไปจนถึงผู้พัฒนาเกมขนาดเล็กและขนาดกลาง

อย่างไรก็ตาม Google มั่นใจว่าไม่ได้ละเมิดกฎหมายของเกาหลีใต้ และอ้างว่ามีส่วนสนับสนุนการเติบโตและการขยายตัวทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จของนักพัฒนาเกมมือถือเกาหลีที่เปิดตัวเกมบน Play Store ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

“เราได้ให้ความร่วมมืออย่างขยันขันแข็งกับกระบวนการสอบสวนและพิจารณาของ KFTC ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าไม่มีการละเมิดกฎหมาย Google ลงทุนจำนวนมากเพื่อความสำเร็จของนักพัฒนา และเราไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของ KFTC” Google กล่าวในแถลงการณ์ทางอีเมล

ย้อนไปในปี 2021 KFTC ได้สั่งปรับ Google เป็นเงิน 177 ล้านดอลลาร์ จากการใช้อำนาจเหนือตลาดของตนในทางที่ผิดในตลาดระบบปฏิบัติการ Android (OS)

สำหรับ One Store นั้น ถือเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน 2016 โดยบริษัทโทรคมนาคมสามแห่งของเกาหลีใต้ ได้แก่ SK Telecom, KT และ LG Uplus และ Naver บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่

Source