คาดธุรกิจแก้ปัญหา “สุขภาพการนอน” จะเติบโตปีละ 6% โอกาสมาแรงในอุตสาหกรรม “เวลเนส”

ทุกคนรู้ว่า “สุขภาพการนอน” เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้อุตสาหกรรม “เวลเนส” ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับกำลังบูมไปทั่วโลก และนักวิทยาศาสตร์ต่างกำลังศึกษาปัจจัยความเสี่ยงต่อการนอน

McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง เสนอรายงานถึงมูลค่าตลาดอุตสาหกรรม “เวลเนส” ทั่วโลกที่สูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีธุรกิจหลักที่ทำเงินในอุตสาหกรรมนี้คือ ฟิตเนส, โภชนาการ และการทำสมาธิ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเวลเนสอีกอย่างหนึ่งที่กำลังมาแรงคือ “สุขภาพการนอน” ธุรกิจนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในตลาด และลูกค้ายังแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายด้านเวลเนสมาที่การนอนหลับค่อนข้างน้อยหากเทียบกับการใช้จ่ายด้านอื่น แต่ตัวเลขกำลังเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ โดย McKinsey คาดว่า ธุรกิจส่งเสริมสุขภาพการนอนจะโตเฉลี่ยปีละ 6% ระหว่างปี 2022-2030 ทำให้มูลค่าธุรกิจสุขภาพการนอนเติบโตขึ้นไปแตะ 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐได้ภายในปี 2030

 

นอนไม่พอ ส่งผลต่อการทำงาน

ปัญหาการนอนหลับเป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า และยังกระทบกับประสิทธิภาพการทำงานด้วย

เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องคนที่ประสบความสำเร็จสูงโดยนอนพักผ่อนแค่ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์พบว่าเรื่องนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะการวิจัยพบว่าการนอนให้เพียงพอมีผลสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงาน แม้แต่ตัวเราเองก็น่าจะเคยรู้สึกได้ถึงผลของการนอนไม่พอ หากคืนนี้นอนดึกมาก การทำงานในวันพรุ่งนี้ก็จะลำบากชีวิตกว่าปกติ

เมื่อร่างกายของเรานอนไม่พอ การรับรู้สิ่งรอบตัวจะแย่ลงเหมือนกับการมีแอลกอฮอล์ในเลือดในระดับ 0.05% การตั้งสมาธิในการประชุม ทำงานสำคัญ เก็บรายละเอียดข้อมูล ร่วมงานกับผู้อื่น ทุกอย่างจะถดถอยลงทั้งหมด ในทางกลับกัน ถ้าเรานอนหลับได้เป็นอย่างดี เราจะกลายเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถรับความรู้ใหม่ๆ ได้ดี และคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น

Young Asian man sleeping and snoring loudly lying in the bed

องค์กรธุรกิจก็ทราบผลลบจากการนอนไม่พอเช่นกัน ทำให้บางบริษัทเริ่มมีแพ็กเกจด้านสุขภาพการนอนรวมเข้าไปในสวัสดิการด้านเวลเนส เช่น โปรแกรมฝึกการนอนหลับ สมัครสมาชิกแอปพลิเคชัน Calm and Headspace ให้ฟรี แนวโน้มเหล่านี้ทำให้ธุรกิจด้านการนอนกำลังจะเติบโต

คนมีปัญหาการนอนมีมากแค่ไหน? มีผลการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า 29% ของผู้ใหญ่เพศหญิงมีปัญหาการนอน ซึ่งคาดว่าตัวเลขนี้น่าจะไม่แตกต่างมากในผู้ใหญ่เพศชาย นั่นแปลว่าชาวอเมริกันวัยทำงาน 1 ใน 3 มีปัญหาการนอนหลับ

สำหรับประเทศไทย มีตัวเลขจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าคนไทย 19 ล้านคนมีปัญหาการนอน หรือเท่ากับ 27.5% ของประชากรทั้งหมด ถือว่าค่อนข้างสูงเช่นกัน

 

วิจัยเพื่อแก้ปัญหาการนอน

เมื่อการนอนเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่เกิดงานวิจัยตามมาอีกมากคือ ทำไมคนเราจึงมีปัญหาการนอนและจะแก้ไขอย่างไร

ปัจจุบันนี้มีบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการนอนหลับมากมาย ตั้งแต่อุปกรณ์การนอน อาหารเสริม แอปพลิเคชันฝึกการนอนให้เป็นเวลา ฯลฯ แต่วิทยาศาสตร์ยังค้นหาคำตอบใหม่ๆ เรื่องการนอน อย่างล่าสุดมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Sleep Research พบว่า ปัญหาการนอนอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง “บุคลิกภาพ”

การวิจัยพบว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงด้านการนอนหลับไม่สนิท มักจะเป็นคนมีบุคลิกภาพประเภทที่ไม่มั่นคงทางอารมณ์ หุนหันพลันแล่น และเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว

เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยเดิมที่พบว่า การนอนหลับที่ดีมักจะสัมพันธ์กับการมีภาวะอารมณ์เชิงบวก มีอารมณ์เชิงลบให้น้อยเมื่อเข้านอน ดังนั้น คนที่มีบุคลิกภาพดังกล่าวอาจจะต้องบริหารจัดการอารมณ์เชิงลบของตัวเองมากกว่าคนอื่น จึงนอนหลับได้ไม่ดี

การค้นพบเรื่องบุคลิกส่วนตัวเชื่อมโยงกับการนอนหลับ อาจจะทำให้ธุรกิจดูแลสุขภาพการนอนมีมิติใหม่ในการบริการเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นได้

Source