Theranos (เธรานอส) คือบริษัทที่เคยเป็นดาวจรัสแสง เป็นสตาร์ทอัพที่มาแรงที่สุดของซิลิคอน วัลเลย์ “Elizabeth Holmes” ผู้ก่อตั้งสตรีของบริษัทเคยถูกขนานนามว่าเป็น “Steve Jobs” คนต่อไป แต่ในที่สุด เทคโนโลยีที่บริษัทให้คำมั่นว่าจะมาพลิกโฉมวงการการแพทย์ กลับกลายเป็นตำนาน “ลวงโลก” ครั้งใหญ่
วันที่ 3 มกราคม 2022 อดีตผู้ประกอบการชื่อดัง “Elizabeth Holmes” ในวัย 37 ปี ถูกตัดสินให้มีความผิดใน 4 ข้อหา โดย 1 ข้อหาเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงนักลงทุน และอีก 3 ข้อหาเป็นการฉ้อโกงทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแต่ละข้อหานั้นมีโทษสูงสุดจำคุก 20 ปี (ขณะนี้ศาลยังไม่ระบุโทษ และเธอได้รับอนุญาตให้ประกันตัว)
โดย Holmes ถูกตั้งข้อหาทั้งหมด 11 ข้อหา มีการตัดสินให้ไม่มีความผิดไปแล้ว 4 ข้อหา และยังเหลืออีก 3 ข้อหาที่ต้องรอฟังคำตัดสินต่อไป
คดีของ Holmes ถือเป็นหนึ่งในเรื้องอื้อฉาวที่ใหญ่ที่สุดแห่งวงการสตาร์ทอัพ เธอเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Theranos (เธรานอส) บริษัทที่ให้คำมั่นว่าได้คิดค้นเทคโนโลยี “เครื่องตรวจเลือด” ขนาดเล็กพอๆ กับเตาอบเครื่องหนึ่งได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยปฏิวัติวงการการตรวจเลือด สามารถใช้เลือดเพียงไม่กี่หยดจากปลายนิ้วของผู้ป่วยในการตรวจก็รู้ได้ถึงโรคเป็นร้อยๆ โรคของคนผู้นั้น
บรรดานักลงทุนรายใหญ่ที่ได้ฟังการนำเสนอของ Holmes ต่างให้ความเชื่อมั่นจนเธอสามารถระดมทุนได้มากกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 30,000 ล้านบาท) และ ณ จุดสูงสุดของบริษัท Theranos เคยถูกประเมินมูลค่าว่ามีมูลค่าสูงถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 3 แสนล้านบาท) ส่งให้ Holmes เป็นเศรษฐินีที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเองที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก
ตำนานการลวงโลกของ Holmes เกิดขึ้นได้อย่างไร ไปย้อนอ่านประวัติเส้นทางของเธอและการก่อตั้งบริษัทกัน
Elizabeth Holmes นักฝันผู้ทะเยอทะยาน
Elizabeth Holmes เป็นลูกสาวในตระกูลคนรวยเก่าในวอชิงตันดีซี เทียดของเธอเป็นผู้ก่อตั้งยีสต์ทำขนมปังยี่ห้อ Fleischmann ซึ่งพลิกโฉมอุตสาหกรรมทำขนมปังในสหรัฐอเมริกาขณะนั้น
ตัว Holmes เองมีความฝันที่จะสร้างชื่อให้กับตนเองมาตั้งแต่เด็ก โดยประวัติส่วนตัวของเธอระบุว่าตอนอายุ 9 ขวบ เธอเคยเขียนจดหมายถึงพ่อว่า “สิ่งที่เธอต้องการจริงๆ ในชีวิตนี้คือการค้นพบสิ่งใหม่บางอย่าง เป็นอะไรที่มนุษยชาติไม่เคยรู้ว่าสามารถทำได้”
Holmes มีไอดอลในใจคือ Steve Jobs และทะเยอทะยานที่จะเป็นนักประดิษฐ์ผู้พลิกโฉมบางสิ่งบางอย่าง ในปี 2002 เธอได้เข้าเรียนในภาควิชาวิศวกรรมเคมีที่ Stanford University ระหว่างที่เรียนอยู่ เธอพยายามคิดค้นแผ่นแปะที่สามารถสแกนอาการติดเชื้อของผู้ป่วยแล้วปล่อยยาฆ่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้อัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Phyillis Gardner ที่ปรึกษาของเธอ มองว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เธอคิดไม่มีทางเป็นจริงได้ แต่ Gardner ระบุว่า Holmes มีความมั่นใจในตนเองมาก และในที่สุดเธอตัดสินใจเลิกเรียนกลางคันเพื่อไปก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้วยวัยเพียง 19 ปี
Theranos ระดมทุนได้มหาศาล
บริษัทที่เธอออกมาก่อตั้งคือ Theranos แต่ปรับสิ่งประดิษฐ์จากเดิมเป็นแผ่นแปะ กลายเป็นเครื่องตรวจเลือด “Edison” ขนาดเท่าเตาอบที่ใช้เพียงหยดเลือดเล็กๆ จากปลายนิ้วผู้ป่วยก็สามารถตรวจสอบโรคได้นับร้อยๆ โรค
ความสำคัญของมันที่จะปฏิวัติวงการคือ เมื่อใช้เพียงหยดเลือดปลายนิ้ว ผู้ป่วยก็จะไม่ต้องเจ็บปวดกับการหาเส้นเลือดที่ข้อพับ และทำให้การทำแล็บรวดเร็วขึ้น ใช้พื้นที่เล็กลงจนการตรวจเลือดนี้ทำได้ในร้านขายยา ไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาลกันอีกต่อไป
ความน่าเชื่อถือของ Elizabeth Holmes ในการพิชชิ่งกับนักลงทุน มาจากคำพูดที่จูงใจ ประวัติส่วนตัว จนถึงบุคลิกภาพของนักธุรกิจหญิงทรงพลัง รวมถึงรายชื่อบอร์ดบริษัท และการลงสื่อหัวใหญ่อย่าง Fortune ทำให้หลายคนมั่นใจว่าเธอจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้สำเร็จได้
ไม่ว่าจะเป็น George Shultz อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ (รายนี้เข้าไปนั่งในบอร์ดบริหารด้วย), Rupert Murdoch เจ้าพ่อธุรกิจสื่อระดับโลก, ครอบครัว Walton เจ้าของห้างฯ Walmart และ Larry Ellison ผู้ก่อตั้งบริษัท Oracle ต่างลงทุนกับ Theranos
ตลอดเส้นทางของ Theranos สามารถระดมทุนได้กว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 30,000 ล้านบาท) ทั้งที่นักลงทุนไม่เคยเห็นภายในสิ่งประดิษฐ์ชื่อ Edison ตัวจริงเลย และไม่เคยเห็นเอกสารทางการเงินของ Theranos
จุดสูงสุดของบริษัท Theranos เกิดขึ้นในปี 2014 บริษัทถูกประเมินมูลค่าว่าสูงถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 3 แสนล้านบาท) ขณะนั้น Holmes มีอายุได้ 30 ปีพอดี เธอได้ขึ้นปกสารพัดนิตยสารธุรกิจระดับโลก ทั้ง Forbes, Fortune และ Time ต่างจับตามองเธอ ถึงกับมีคนขนานนามว่าเธอจะเป็น ‘Steve Jobs’ คนต่อไป เธอเดินสายขึ้นพูดถึงความสำเร็จของสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้หลายเวที หลายสื่อ ขายความฝันที่จะพลิกโฉมการตรวจเลือดให้ง่ายเพียงปลายนิ้ว
ความแตก…เทคโนโลยีใช้ไม่ได้จริง
แต่จุดพีคของบริษัทอยู่ได้เพียงปีเดียว ในปี 2015 มีคนให้ข้อมูลวงในกับสื่อ The Wall Street Journal นำมาสู่การเล่นข่าวเป็นซีรีส์เกี่ยวกับ Theranos ที่ป่วนจนทำให้บริษัทพังครืนลงมา
มหกรรมแฉ Theranos เกิดจากบริษัทมีสัญญากับเชนร้านขายยา Walgreens เพื่อทดลองการใช้งานระบบตรวจเลือดในหน้างานจริงตั้งแต่ปี 2013 และผู้ใช้บริการที่มีโอกาสได้ตรวจสอบระบบพบว่า “ผลการตรวจเลือดที่ได้ไม่ตรงกับผลจากแล็บปกติ” และยิ่งนานวันเข้า Theranos ก็เริ่มเจาะเลือดจากข้อพับแขนเป็นหลอดๆ เหมือนไปตรวจที่โรงพยาบาล ไม่ได้ตรวจจากปลายนิ้วดังที่โฆษณาไว้
The first Theranos opens @Walgreens in Palo Alto!
Theranos uses 1 drop of blood to do many blood tests. pic.twitter.com/7Vht5JG6Lg— Ruth Ann Crystal, MD (@CatchTheBaby) September 19, 2013
ข้อมูลวงในในเวลาต่อมาปรากฏว่า Theranos ยังไม่สามารถพัฒนาจนเครื่อง Edison สำเร็จได้จริงดังกล่าวอ้าง สิ่งที่พวกเขาทำกับเลือดของผู้มาใช้บริการ คือรีบนำเลือดไปตรวจในแล็บแบบปกติของบริษัท แล้วส่งผลตรวจมาให้ที่ร้าน แต่เนื่องจากเลือดปลายนิ้วมีน้อยเกินไปจนตรวจไม่แม่นยำ ในระยะหลังจึงต้องเก็บตัวอย่างเลือดปกติผ่านข้อพับแขนแทนเพื่อลดคำครหา
การตรวจสอบของนักลงทุนหรือใครก็ตามที่มาเยี่ยมชมสำนักงานของ Theranos ก่อนหน้านี้ก็ถูกตบตาด้วยวิธีเดียวกัน ด้วยการหลอกลวงว่าใช้เครื่อง Edison ในการตรวจเลือด ทั้งที่จริงแล้วใช้แล็บปกติตรวจ แถมยังจัดตั้งแล็บปลอมไว้สำหรับการทัวร์ชมสำนักงานเหล่านี้ด้วย แม้กระทั่ง “Joe Biden” รองประธานาธิบดีในขณะนั้นก็เคยผ่านทัวร์ตบตาที่บริษัทนี้มาแล้ว
หลังจากถูกแฉครั้งใหญ่ นักลงทุนต่างถอนตัวอย่างรวดเร็ว และในปี 2016 หน่วยงานกำกับควบคุมของสหรัฐฯ ก็แบนไม่ให้บริษัทดำเนินบริการตรวจเลือด 2 ปี สินทรัพย์สุทธิของ Holmes ร่วงจาก 4,500 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) เหลือ “0” ในที่สุดบริษัทประกาศปิดตัวไปเมื่อปี 2018 ตามด้วยการฟ้องร้องตามมาเป็นพรวน
สัมพันธ์รัก…หรือการกดขี่
เรื่องราวของ Theranos ยังเข้มข้นไปกว่านั้น เพราะนอกจากตัว Elizabeth Holmes ที่อยู่ใต้แสงสปอตไลต์ของสื่อ ในเงาใกล้ๆ ข้างเธอคือ Ramesh “Sunny” Balwani ซีโอโอคีย์แมนของ Theranos และคู่รักของ Holmes ในเวลาต่อมา
ที่น่าสนใจคือ Balwani อายุมากกว่า Holmes ถึง 19 ปี เขาทำงานในวงการคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์มาตั้งแต่ปี 1998 และมาเรียนต่อปริญญาโทที่ Stanford University ทำให้ได้พบกับ Holmes วัยรุ่นวัย 18 ปีที่เพิ่งเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี
หลังเกิดคดีความฟ้องร้องและเริ่มไต่สวนเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 เป็นที่ฮือฮาในสังคมเพราะทนายฝั่ง Holmes ใช้แนวทางสู้คดีว่าเธอตกอยู่ในอาณัติบังคับควบคุมของ Balwani จนไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองในการบริหารบริษัท และมีอาการทางจิต
ข้อมูลในการสู้คดีนั้น Holmes ระบุว่า Balwani ควบคุมชีวิตเธอทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว บุคลิก คัดกรองคนที่จะเข้าถึงตัวและพูดคุยกับเธอได้ นอกจากนี้ยังกระทำชำเราทางเพศเธอด้วย
- จับตา ‘Rivian’ สตาร์ทอัพรถอีวี หลังประกาศ IPO 135 ล้านหุ้น คาดมูลค่าแตะ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์
- ‘เจฟฟ์ เบโซส’ ประเดิมเข้าลงทุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน ผ่าน ‘Ula’ สตาร์ทอัพอินโดฯ
Ramesh Balwani จะถูกไต่สวนด้วยข้อกล่าวหาเดียวกับ Holmes เร็วๆ นี้ ส่วน Holmes นั้นหลังจากบริษัทพังทลาย เธอพบรักใหม่กับ William “Billy” Evans วัย 27 ปี ทายาทตระกูลเจ้าของเชนโรงแรม Evans Hotel Group และเพิ่งกำเนิดบุตรคนแรกไปเมื่อปีก่อน (บางกระแสโจมตีว่า Holmes จงใจตั้งครรภ์ในช่วงที่จะมีการไต่สวนเพื่อเรียกคะแนนสงสาร)
ตั้งใจหลอก…หรือแค่ฝันที่ทำไม่สำเร็จ
วงการสตาร์ทอัพและซิลิคอน วัลเลย์นั้นมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากธุรกิจปกติ เพราะสตาร์ทอัพทุกรายต่างมาเพื่อขาย “วิมานในอากาศ” ให้กับนักลงทุน ขายความฝันว่าสิ่งที่ตนเองคิดค้นขึ้นจะสร้างความยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรม (และทำให้นักลงทุนรวยถ้วนหน้า)
ผู้ลงทุนกับสตาร์ทอัพจึงเป็นการพนันกับความไม่แน่นอน ดังคำกล่าวกันในวงการว่าสตาร์ทอัพที่สำเร็จจริงๆ อาจจะมีเพียง 1 ใน 100
แต่กรณีของ Theranos นั้นอาจจะมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง “การขายฝัน” กับการสื่อสารว่า “ฝันนั้นทำได้สำเร็จแล้ว” จนทำให้สิ่งที่บริษัทกล่าวอ้างกลายเป็นความหลอกลวงไป ตามที่ศาลได้ตัดสินแล้วว่าเธอมีความผิดฐานฉ้อโกงนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม Michael Hiltzik คอลัมนิสต์ที่ Los Angeles Times ก็สรุปปรากฏการณ์ของ Theranos ไว้ว่า เหตุการณ์นี้ไม่น่าจะทำให้นักลงทุน ‘เข็ด’ กับสตาร์ทอัพไปได้สักเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายวัฒนธรรมของวงการนี้ก็คือการมาฟัง ‘พิชชิ่งความฝัน’ ของผู้ประกอบการ และแห่ลงทุนตามๆ กันเพราะกลัวโอกาสทองจะหลุดมือไป และเราคงจะได้เห็นมหกรรมลวงโลกกันอีกนับครั้งไม่ถ้วน…
Source: BBC, สารคดี The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley, LA Times