การเเข่งขันในโลกดิจิทัลดุเดือดขึ้นทุกวัน พร้อมๆ กับการเปลี่ยนเเปลงของเทรนด์ผู้บริโภค การปั้นเเบรนด์ให้ติดตลาดได้อย่างเเท้จริง จึงไม่ใช่เเค่ทำยอดขายได้ดีเท่านั้น เเต่รวมไปถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถครองใจเเละเข้าถึงลูกค้าได้ในระยะยาว
รศ. ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้รูปแบบการค้าขายเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากการสำรวจพบว่า แบรนด์สินค้ามีพลังในการขับเคลื่อนการเข้าถึงผู้บริโภคได้น้อยลง ดังนั้นเหล่านักธุรกิจ นักการตลาด ต้องหาพลังด้านอื่นมาเสริม ต้องอาศัยนวัตกรรมเเละเทคโนโลยี เข้ามาช่วยให้เข้าถึงลูกค้ารวดเร็วยิ่งขึ้น “ความรวดเร็วต้องมาในรูปแบบที่ง่าย มีการเชื่อมโยงออนไลน์เเละออฟไลน์เข้าด้วยกัน”
คาดว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วไปดักรอ ‘ไม่ใช่ผู้ตาม’
พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอลเปลี่ยนไป เกิดความกลัวระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนตาม แบรนด์สินค้าเเละผู้ประกอบการ ควรคาดการณ์ว่าเทรนด์ในอนาคตจะไปในทิศทางไหน แล้วไปดักรอข้างหน้า ไม่ใช่รอให้เกิดก่อนแล้วค่อยตามหลังพฤติกรรมผู้บริโภค มุ่งสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว ถึงจะมีโอกาสชนะในตลาดที่มีการเเข่งขันเร็ว
“เราต้องผลักดันตัวเองให้เป็นผู้นำเทรนด์ ใช้เทคโนโลยี นำนวัตกรรมมาใช้ สร้างอารมณ์ ความรู้สึก สร้างความหวัง เเละรู้ความต้องการของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง”
แบรนด์ต้องมีอินไซต์ เข้าใจความต้องการของมนุษย์
ต่อไปนี้ไม่ว่าจะเป็นการขายออนไลน์ หรือออฟไลน์ เจ้าของแบรนด์ต้องสร้างความแตกต่างให้ได้ มีจุดยืนเป็นของตัวเอง เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เเละต้องเข้าถึงสัญชาตญานของมนุษย์ ความต้องการ เล่นกับความหวัง ความอยากรู้อยากลอง เช่น กลยุทธ์กล่องสุ่ม เป็นต้น
ดังนั้นอินไซต์ของลูกค้าจึงยังเป็น ‘กฎเหล็ก’ ที่แบรนด์ต้องทำเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคที่แท้จริงว่าพวกเขาไม่ได้มาแค่ซื้อของ ไม่ได้มาแค่ช้อปปิ้ง แต่ต้องการสิ่งที่โดนใจ
คอนเทนต์ออนไลน์ เนื้อหาต้องไม่จบที่การซื้อ
สำหรับการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งออนไลน์ในยุคใหม่ สิ่งที่ต้องเน้นคือการสร้างเนื้อหาที่ไม่จบที่การซื้อเพียงอย่างเดียว ต้องหวังผลไปที่การแชร์ การให้ความรู้ต่างๆ สร้างความคุ้นชิน เป็นการตลาดที่ไม่ใช่เพียงจะขายได้ในระยะสั้น เเต่ต้องมองระยะยาว ใส่ใจความยั่งยืน
มีความเป็น Social Commerce
เครื่องมือที่จะใช้ในการทำธุรกิจในปัจจุบัน จะกลายเป็น Social Commerce ไม่ใช่เเค่ E-Commerce
อีกต่อไป โดยจะต้องมีการปฏิสัมพันธ์ พูดคุย สร้างความสนุกสนานร่วมกับลูกค้าด้วย ไม่ใช่แค่สถานที่ซื้อขายสินค้าอย่างเดียวเหมือนรูปแบบ E-Commerce นอกจากนี้ การเลือกช่องทางการขายบนออนไลน์ จะต้องศึกษาว่าควรใช้สื่อเเบบไหน กำหนดบทบาทให้ชัดเจน เเละเลือกสื่อให้เหมาะสมกับกิจกรรมการตลาดของเเบรนด์
แบรนด์ต้องขยับสู่ DSR
แบรนด์ต้องผสมผสานออนไลน์กับออฟไลน์ให้ได้ พร้อมเน้นการสร้างคุณค่าทางอารมณ์ คุณค่าทางสังคม เนื่องด้วยโลกดิจิทัลจะมีความร้อนแรงมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์จึงต้องระมัดระวัง หากสื่อสารผิดพลาดก็อาจทำให้เสียหายได้ ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เร็วเเละมั่นคงกว่าเดิม ขยายจากการมุ่งทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) มาเป็น DSR (Digital Social Responsibility) มากขึ้นด้วย
- ถอดรหัส ‘ผู้บริโภค’ ช่วงวิกฤต รายได้ลด มีปัญหาหนี้ หวังปีหน้าฟื้นตัว เเต่ยัง ‘รัดเข็มขัด’
- สรุปเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค Gen Y และ Gen Z ที่แบรนด์ต้องรู้
- เจาะ Insight ผู้บริโภคหลังเจอโควิดเกือบ 2 ปี ‘แบรนด์’ จะมัดใจอย่างไรในวันที่ใคร ๆ ก็อยาก Move On