ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 379 ล้านบาท จาก 34 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตราคาก๊าซ ขณะที่กำไรสุทธิ-ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 399 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของกลุ่มโรงไฟฟ้าเพื่ออุตสาหกรรม (SPP) และผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม โดยสามารถลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (heat rate) เฉลี่ยถึง 4.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมทั้ง 5 โครงการ และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนประมาณ 200,000 ตันต่อปี
สำหรับผลงานสำคัญที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1/2566 บี.กริม เพาเวอร์ ได้เชื่อมเข้าระบบของลูกค้าอุตสาหกรรมรายใหม่ในประเทศไทย จำนวน 12.2 เมกะวัตต์ จากที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 34.4 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมายการเชื่อมลูกค้าใหม่เข้าระบบตลอดทั้งปีที่ 50-60 เมกะวัตต์ โดยความต้องการไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรม
อาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเหล็ก และกลุ่มยางรถยนต์ นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้เข้าลงทุนในประเทศอิตาลีโดยการเข้าซื้อหุ้นใน RES Company Sicilia S.r.l. บริษัทผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในอิตาลี และในเดือนมีนาคม 2566 โครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม เปิดดำเนินการครบทั้ง 5 โครงการ รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
ล่าสุดในเดือนเมษายน 2566 บริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนจำนวน 9 บริษัทของกลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 339.3 เมกะวัตต์ ให้กับรัฐบาลตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นอกจากนี้ reNIKOLA Holdings Sdn. Bhd. (B.Grimm Malaysia ถือหุ้น 45%) เข้าลง
ทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม 90 เมกะวัตต์ (DC) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 21 ปี กับ Tenaga Nasional Berhad (บริษัทสาธารณูปโภคไฟฟ้าหลักในประเทศมาเลเซีย)
ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า บี.กริม เพาเวอร์ ให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับพันธมิตรมาโดยตลอด โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 บี.กริม เพาเวอร์ สมาร์ท โซลูชั่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ อินโนพาวเวอร์ เพื่อความร่วมมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด ประกอบด้วย การศึกษาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน พัฒนาและประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ และต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมพลังงานใหม่ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังร่วมกับบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล ลง
นามสัญญาซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับทิศทางในปี 2566 บี.กริม เพาเวอร์ จะมุ่งขยายการลงทุนทั้งโครงการใหม่และการเข้าซื้อกิจการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ทวีปยุโรป และภูมิภาคตะวันออกกลางโดยในส่วนของกำลังการผลิตจากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 528 เมกะวัตต์ จาก 3,338 ณ สิ้นปี 2565 เป็น 3,866 ณ สิ้นปี 2566 จากโครงการโรงไฟฟ้า SPP เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม (BGPM2) โครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสานอู่ตะเภาเฟสแรก และโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 2 โครงการ (BGPAT2&3) รวมถึงการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศมาเลเซีย 2 โครงการ (BGMCSB และ ISSB) พร้อมตั้งเป้าเพิ่มลูกค้า
อุตสาหกรรม (IU) รายใหม่ เข้าเชื่อมระบบรวม50-60 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยดำเนินการตามแผนควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัท เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 50-70 ล้านบาท
ในระยะยาว บี.กริม เพาเวอร์ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2593 การขยายพอร์ตสู่กำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในปี 2573
Related