บทความโดยตราวุทธิ์ เหลือสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
ช่วงนี้ปัจจัย ‘การเมือง’ เข้ามารับบทเด่นและส่งผลต่อ Sentiment การลงทุนในบ้านเราเป็นอย่างมาก แม้เรายังลุ้นกับโฉมหน้ารัฐมนตรีใหม่ และนโยบายใหม่ๆ แต่ตลาดการลงทุนก็ตอบสนองกับหลายๆ นโยบายหาเสียงของว่าที่รัฐบาลใหม่กันไปพอสมควรแล้ว ขณะเดียวกัน ‘Policy Maker’ จากหลากหลายองค์กรในประเทศ ก็ออกมากำชับว่าที่รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับ ‘วินัยทางการเงินการคลัง’ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้นโยบายอย่างเป็นทางการ
ข้ามไปอีกฟากฝั่งของซีกโลก ประเด็น ‘เพดานหนี้สหรัฐฯ’ ก็กลับมาร้อนระอุกันอีกครั้ง เมื่อกำหนดเส้นตายของการขยายเพดานหนี้งวดเข้ามาทุกวัน
ในบางครั้ง หลายปัญหาทางการเงินไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล ระดับองค์กร ไปจนถึงระดับประเทศหรือระดับโลก ก็อาจสั่งสมมาทีละเล็กละน้อย บางอย่างเราอาจมองข้าม ละเลย หรือไม่ได้เคร่งครัดจัดการ รู้ตัวอีกทีปัญหาก็อาจมาจ่ออยู่ที่ปลายจมูกแล้ว
ประวัติศาสตร์หนี้สหรัฐฯ
วันนี้ตั้งใจจะมาชวนคุยเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับการสร้าง ‘วินัยทางการเงินส่วนบุคคล’ แต่เริ่มเรื่องด้วยปัญหาหนักๆ อย่างเพดานหนี้สหรัฐฯ เพราะเชื่อว่าสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวินัยทางการเงินการคลังได้ดีทีเดียวเลยครับ ภายใต้กฎหมาย Public Debt Acts ของสหรัฐฯ ที่เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2005 เปิดทางให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง สามารถกู้ยืมเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายด้านต่างๆ ซึ่งช่องทางหลักในการกู้คือการออกพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง แต่กฎหมายก็ได้กำหนดเพดานหนี้ที่ภาครัฐสามารถก่อได้ เพื่อเป็นการควบคุมวินัยการคลัง แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลสหรัฐฯ ในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็ได้ขอขยายเพดานหนี้มาโดยตลอด
ดังนั้น ประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้งในช่วงเดือนนี้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และสามารถพูดได้เลยครับว่า เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การคลังของประเทศมาอย่างยาวนาน แต่ระดับความกดดันหรือความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วง และดูเหมือนว่าในรอบนี้จะมีความกังวลมากเป็นพิเศษ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะอ่อนแอ แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยความเปราะบางของภาคการเงินอีกด้วย
ภาระหนี้สหรัฐฯ ซึ่งในที่นี้หมายถึงหนี้ภาครัฐหรือหนี้สาธารณะ เริ่มเพิ่มสูงขึ้นในทศวรรษ 80 หลังประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ลดภาษีครั้งใหญ่ เมื่อไม่มีรายได้จากภาษีมากพอ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเสริมสภาพคล่องด้วยการกู้ยืม ต่อมาในทศวรรษ 90 เมื่อสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตสิ้นสุดลง ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ลดงบประมาณด้านกลาโหมลงได้จำนวนมาก ขณะที่เศรษฐกิจก็เติบโตและมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสูงขึ้น
จากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรง ทำให้สหรัฐฯ ต้องเจอกับปัญหาฟองสบู่เทคโนโลยี หรือที่เรียกกันว่า ‘วิกฤตดอทคอม’ ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 จนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จึงประกาศลดภาษีถึง 2 ครั้งในปี 2001 และ 2003 และสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศไว้ได้ แต่หลังจากนั้นสหรัฐฯ เข้าไปทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน ทำให้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดช่วงสงคราม
จนกระทั่งมาถึงวิกฤตการเงินในปี 2008 หรือ ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ รัฐบาลใช้เงินมหาศาลอุ้มธุรกิจธนาคาร รวมถึงเพิ่มงบประมาณด้านการบริการทางสังคม เพราะอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นกว่า 10% หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงและอัตราการว่างงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ในปี 2017 ภายใต้การนำและนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศลดภาษีครั้งใหญ่ ทำให้หนี้สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ล่าสุดในปี 2019 ที่โลกต้องเผชิญกับ ‘วิกฤต Covid-19’ ทำให้รัฐบาลแทบทุกประเทศต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการรับมือกับโรคระบาด และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ออกมาตรการกระตุ้นมาหลายระลอกรวมเป็นเงินกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อย้อนรอยดูประวัติศาสตร์การก่อหนี้สหรัฐฯ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็พอจะเห็นภาพกันนะครับว่ารัฐบาลนำเงินไปใช้เพื่อการใดกันบ้าง และหลายต่อหลายครั้งที่รัฐต้องการใช้เงินเพิ่ม ก็จะขอขยายเพดานหนี้เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดดุลงบประมาณมาโดยตลอด จนเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา หนี้ของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาชนเพดานที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังไม่มีข้อสรุปว่าสภา Congress ว่าจะขยายเพดานหนี้ออกไปอีกหรือไม่
เพดานหนี้-ดราม่าการเมือง
หลายคนมองว่า ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ คือประเด็นดราม่าทางการเมือง เพราะเป็นเกมระหว่าง 2 ขั้วอำนาจในสภา ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจระบบรัฐสภาของสหรัฐฯ ที่เป็นแบบ Split Congress ซึ่งประกอบด้วยสภาสูงหรือวุฒิสภา โดยปัจจุบันพรรคฝ่ายค้านคือรีพับลิกันครองเสียงข้างมาก และสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งพรรครัฐบาลเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดนคุมเสียงข้างมากอยู่ ดังนั้น การให้ความเห็นชอบในนโยบายใดๆ ของอีกฝ่ายจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และมักเกิดการงัดข้อทางการเมืองกันอยู่เสมอ
เช่นเดียวกับประเด็นเพดานหนี้ ที่รัฐบาลเป็นฝ่ายเสนอแต่ยังไม่ผ่านสภา โดยพรรครีพับลิกันกังวลว่าการขยายเพดานหนี้ไปเรื่อยๆ จะเป็นการเอาเงินไปใช้เพื่อสนับสนุนโครงการของรัฐบาลเดโมแครตโดยเฉพาะ รวมทั้งจะเพิ่มภาษีคนมีรายได้สูงทั้งที่ไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็น จึงอยากให้ปรับลดงบประมาณลง และเพิ่มความเข้มงวดกับการใช้งบประมาณในโครงการสวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ ซึ่งตามไทม์ไลน์รัฐบาลต้องสรุปประเด็นดังกล่าวให้ได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่ ‘การผิดนัดชำระหนี้’ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้
หากมีการผิดนัดชำระ หรือ Default ขึ้นจริง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นสามารถจินตนาการได้แบบไม่รู้จบเลยล่ะครับ เริ่มจากหุ้นตก ตลาดการเงินผันผวนหนัก รัฐบาลเสียเครดิต ประเทศถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุน นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราว่างงานพุ่งพรวดและอื่นๆ สุดแท้แต่จะประเมินกัน
แม้ประเด็นเพดานหนี้จะเป็นปัญหากับรัฐบาลสหรัฐฯ มาตลอดช่วง 20 ปี แต่ข่าวดีก็คือ สหรัฐฯ ก็ยังไม่เคยเดินไปถึงทางตันขั้นที่ต้องผิดนัดชำระหนี้แม้แต่ครั้งเดียว โดยสถานการณ์เลวร้ายสุดที่เกิดขึ้นคือ สหรัฐฯ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลง ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2011 สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา
โดยขณะนั้นปัญหาเกิดจากนโยบาย ‘โอบามาแคร์’ ที่เกิดการคัดค้านและเตะถ่วงร่างกฎหมาย Affordable Care Act จากฝั่งตรงข้าม ทำให้เหตุการณ์บานปลายไปถึงขั้น Government shutdown คือการหยุดดำเนินงานของภาครัฐชั่วคราว จนเกิดการว่างงานประมาณ 80,000-200,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับลดอันดับเครดิตสหรัฐฯ ลงจาก AAA Outstanding เหลือ AA+ Excellent
ปัญหาภาคธนาคารกับวินัยการเงิน
เมื่อการขยายเพดานหนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง เรื่องวินัยทางการเงินการคลังก็จะเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามมาด้วยทุกครั้ง แต่ดูเหมือนปัญหาจะยังคงวนลูปกลับไปที่เดิม และเมื่อ 3 ธนาคารในสหรัฐฯ คือ Silicon Valley Bank, Signature Bank และ First Republic Bank เกิดปัญหาสภาพคล่องตามกันมาเป็นโดมิโน รวมถึงความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ของ Credit Suisse ธนาคารชั้นนำในยุโรป ยิ่งสะท้อนวินัยทางการเงินได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก็ต้องยอมรับนะครับว่า การขึ้นดอกเบี้ยอย่างร้อนแรงของธนาคารสหรัฐฯ และยุโรปตลอดปีที่ผ่านมา ก็ส่งผลข้างเคียงต่อสภาพคล่องในภาคการเงินเช่นกัน
ซึ่งในการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ประจำปี 2023 ที่ผ่านมานั้น ก็ได้หยิบยกประเด็นเพดานหนี้ และปัญหาภาคธนาคารมาพูดคุยกันด้วย โดย 2 ศาสดาการลงทุนสาย VI อย่างคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ และคุณปู่ชาร์ลี มังเกอร์ ก็ได้ให้มุมมองถึงความสำคัญของการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง การบริหารสภาพคล่องที่เหมาะสมและการบริหารความเสี่ยงที่ดีของภาคธนาคาร รวมถึงการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจากภาครัฐ เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลาม
ปัญหาสภาพคล่องของธนาคารในสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลงอย่างหนักมากว่า 90% จนนักงทุนพากันเบือนหน้าหนีหุ้นกลุ่มนี้กันหมด แต่นักลงทุนสาย VI อย่างคุณปู่วอร์เรนกลับมองเห็นเป็นโอกาสที่จะเข้าซื้อหุ้นดีช่วงราคาเซลล์ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าราคาก็คือ การหาหุ้นพื้นฐานดีให้เจอด้วยการศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอ
เมื่อพูดถึงหุ้นกลุ่มธนาคาร ก็มีประสบการณ์การลงทุนดีๆ จากคุณปู่วอร์เรนมาเล่าสู่กันฟังนะครับ ในวัยหนุ่มคุณปู่สนใจติดตามหุ้น American Express ธุรกิจบัตรเครดิตระดับโลกมาโดยตลอด แต่ยังไม่ได้เข้าลงทุนเพราะราคายังสูงตามปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ ต่อมาในปี 1963 เกิดกรณีดราม่า Salad Oil Scandal กับ American Express จนราคาร่วงถึง 50% แต่คุณปู่ก็ไม่ได้กระโดดเข้าซื้อทันทีนะครับ
สิ่งที่คุณปู่ทำก็คือ เดินสำรวจตลาดการใช้บัตร American Express ตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าต่างๆ เมื่อพบว่ากระแสข่าวอื้อฉาวที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้บัตรแต่อย่างใด คุณปู่จึงค่อยตัดสินใจซื้อหุ้นสวนทางกับการเทขายของนักลงทุนอื่นๆ เพราะมองว่ายิ่งหุ้นราคาตก ยิ่งมี margin of safety ในการลงทุนเพิ่มขึ้น
ตัดภาพมาตอนนี้ หุ้น American Express ถือว่ามีสัดส่วนการลงทุนสูงสุดตัวหนึ่งในพอร์ต Berkshire Hathaway ของคุณปู่ และสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าประทับใจ ตามคำพูดที่คุณปู่กล่าวไว้เสมอว่า “จงโลภเวลาที่คนอื่นกลัว” เหนือสิ่งอื่นใด ต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี และมีวินัยทางการเงินสูง
วินัยทางการเงินสร้างได้ตั้งแต่วันนี้
เรื่องการเงินเป็นเรื่องของทุกคนนะครับ ไม่ใช่เรื่องขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ การวางแผนทางการเงินและการสร้างวินัยทางการเงินก็เช่นกัน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสมดุลและความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเราเอง และเป็นโอกาสสร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้ในระยะยาว ที่สำคัญจะเป็นเกราะป้องกันให้เรารอดพ้นจากกับดักหนี้ได้อีกด้วย
ผมมีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะเป็นไอเดียในการบริหารเงินของแต่ละคนได้ เริ่มจากการวางแผนการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายรับ โดยพิจารณาว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นว่ามีอะไรบ้าง เพื่อกันไว้สำหรับส่วนนี้ แล้วกันส่วนที่เหลือไว้เป็นเงินออม หากพบว่ารายรับไม่เพียงพอก็ควรหาทางลดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้
ต่อมา ควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ควรมีเงินออมเผื่อไว้กรณีฉุกเฉิน 3-6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและภาระหนี้ในแต่ละเดือน เห็นตัวเลขแล้วบางคนอาจร้องโอ้โห! เยอะไปมั๊ย!! แต่หากทำได้ คุณจะต้องขอบคุณตัวเองแน่ๆ ในวันที่ปัญหาเดินทางมาถึง นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจสอบสวัสดิการและประกันสุขภาพที่มีอยู่ ว่าครอบคลุมแค่ไหน หากไม่เพียงพอและสามารถทำได้เพิ่มเติม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่ม buffer ทางการเงินให้กับตัวคุณเอง
กรณีที่ต้องกู้ยืม ควรพิจารณาถึงความพร้อมของรายได้ในปัจจุบัน และความไม่นอนที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเอง อาจหาแหล่งรายได้เสริมเพิ่มเติมเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน โดยเฉพาะหลังจากที่เราผ่านเหตุการณ์ไม่คาดคิดระดับโลกอย่าง Covid-19 มาแล้ว วลีที่ว่า ‘ทุกวันนี้มีอาชีพเดียวคงไม่พอ’ คือ เรื่องจริงมากๆ หรืออีกแนวทางในการสร้างรายได้เสริมก็คือการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงย หรือนำเงินออกมาลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ
วางแผนการใช้จ่าย
หากรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมาก ควรวางแผนเก็บเงินเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ บริหารเงินออมให้งอกเงย เช่น ฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตร ซื้อประกันสะสมทรัพย์ ซื้อกองทุนรวม หรือสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆ โดยต้องศึกษาและทำความเข้าใจรูปแบบการออม ความเสี่ยง รวมทั้งติดตามข่าวภาวะเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนตามสภาวะตลาดที่เหมาะสม และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
หากใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล ควรใช้อย่างมีวินัย จัดเก็บใบเสร็จเพื่อตรวจสอบและจ่ายเงินให้ตรงตามกำหนด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็น
ในความจริงแล้ว การก่อหนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวนะครับ แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และเลือกก่อหนี้ที่มีประโยชน์หรือมีความจำเป็นจริงๆ เช่น การกู้ซื้อบ้าน กู้เพื่อประกอบอาชีพ หรือหาอาชีพเสริม ที่สำคัญต้องประเมินความสามารถในการชำระคืนด้วย ซึ่งตามหลักทฤษฎีมีการแนะนำไว้ว่า เราไม่ควรมีหนี้เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ในแต่ละเดือน
หากมีหนี้สินเกินตัว ก็ต้องพยายามปลดหนี้ด้วยการประหยัด ทยอยผ่อนชำระ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบและหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง ที่สำคัญไม่ควรก่อหนี้เพิ่ม หากไม่สามารถชำระคืนได้ ก็ควรหารือกับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆ ก็มีแพ็กเกจการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เลือกหลายหลายรูปแบบ สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้แต่ละคน
อย่างที่บอกนะครับ การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะผิดมากถ้าไม่มีวินัย และปล่อยให้ภาระหนี้กลายเป็นกับดักที่กัดกินตัวเราเอง จนไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระทางการเงินได้
อย่าลืมนะครับ เราเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่ต้องดูแลฐานะทางการเงินของตัวเองและคงไม่สามารถขอผ่อนผันเจ้าหนี้หรือขยายเพดานหนี้ไปได้เรื่อยๆ เหมือนรัฐบาลสหรัฐฯ