เมื่อ ‘ไทย’ เป็นชาติเดียวที่ ‘ไลน์’ กำลังพัฒนาฟีเจอร์ “ช่วยทำงาน” สู่ภาพสะท้อนพฤติกรรมการทำงาน Gen Y

จำกันได้ไหมว่าเราใช้งานแพลตฟอร์ม LINE ครั้งแรกเมื่อไหร่ เมื่อไหร่กันที่ LINE กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว และจำได้ไหมว่าเมื่อไหร่ที่ LINE กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เราใช้ คุยงาน? เชื่อว่าหลายหลายคนคงจำไม่ได้ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ไทย เป็นประเทศเดียวที่ใช้ LINE สำหรับทำงาน ขนาด ญี่ปุ่น ที่ใช้ LINE เป็นหลักเหมือนไทยยังไม่ใช้

12 ปีที่ LINE เข้ามาอยู่ในชีวิตคนไทย

เป็นเวลา 12 ปีแล้วที่ ไลน์ (LINE) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย หากดูจากจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 61.21 ล้านคน นั่นแปลว่าทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตนั้นใช้งานไลน์ เพราะปัจจุบันผู้ใช้ไลน์ในไทยมีมากกว่า 54 ล้านคน ไม่ใช่แค่ใช้เยอะ แต่ยัง ใช้บ่อย โดยไลน์เป็นแพลตฟอร์มอันดับ 2 ที่คนไทยใช้งานบ่อยที่สุด เป็นรองเพียง Facebook

แม้ว่าไลน์จะไม่ใช่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เป็นเพียง Chat App ที่แพลตฟอร์มโซเชียลอื่น ๆ ก็มีฟีเจอร์นี้ด้วยซ้ำ แต่ไม่ว่าจะด้วยตัวสติ๊กเกอร์ก็ดี หรือฟีเจอร์อำนวยความสะดวกในการแชทอื่น ๆ ก็ดี ทำให้ไลน์กลายเป็นแอปที่ใช้กันประจำในชีวิตประจำวัน เพื่อคุยกับเพื่อน ครอบครัว คนรัก และแน่นอนที่สุดก็คือ คุยงาน

“เราไม่ใช่โซเชียลมีเดีย แต่เป็นเครื่องมือในการใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น คนใช้ทุกเพศทุกวัย ใช้ในการสื่อสารไม่ใช่ในแง่เอนเตอร์เทนเมนต์ ดังนั้น เราจะพยายามทำให้มันง่ายขึ้น” นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย กล่าว

ญี่ปุ่นไม่ใช้ไลน์คุยงานแต่ไทยใช้

ต้องยอมรับว่ามีไม่กี่ประเทศที่ใช้งานไลน์เป็นแพลตฟอร์มหลัก ที่หลายคนรู้ก็คือ ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และไทย ที่ถือว่าใช้งานมากที่สุด แต่รู้หรือไม่ว่ามีแค่ไทยที่ใช้ไลน์ในการคุยเรื่องงาน ขนาดญี่ปุ่นมีการใช้เพื่อติดต่อลูกค้าบ้าง แต่ไม่ใช้ไลน์ในการคุยกับพนักงาน ดังนั้น การพัฒนาฟีเจอร์เพื่อช่วยในการทำงานจะมาจากทีมพัฒนาไทย เพื่อผู้ใช้คนไทยโดยเฉพาะ

หากนับเฉพาะ Gen Y (28-42 ปี) ที่คิดเป็นประมาณ 30% ของประชากรไทย ซึ่งคนเจนนี้ถือเป็น เดอะ แบก ของแรงงานไทยในปัจจุบัน โดยผลสำรวจพบว่า Gen Y ประเทศไทยใช้ไลน์ทำงานเยอะที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วจะแอคทีฟตั้งแต่ 08.00-20.00 น. รวมระยะเวลาใช้งานเฉลี่ย 100 นาที/วัน ที่น่าสนใจคือ 82% ของ Gen Y มีกรุ๊ปไลน์ และโดยเฉลี่ยจะมีประมาณ 5-6 กลุ่ม นอกจากนี้ 88% ยังใช้งานบน Desktop สะท้อนชัดถึงการใช้ไลน์เพื่อการทำงาน

“มันก็เมคเซนส์นะที่ญี่ปุ่นจะไม่ได้พัฒนาฟีเจอร์มารองรับการทำงาน ก็เขาไม่ได้ใช้ ดังนั้น การพัฒนาฟีเจอร์เกี่ยวกับการทำงานของไลน์จากนี้จะมาจากเดเวลอปเปอร์ไทย เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของคนไทย”

ไม่ใช่แค่เพื่อทำงานง่าย แต่อาจสร้างรายได้ใหม่?

นรสิทธิ์ อธิบายว่า ฟีเจอร์ใหม่ที่จะช่วยในการทำงานนี้อาจได้เห็นเร็วสุดปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยยังตอบไม่ได้ว่าฟีเจอร์ใหม่นี้จะมาช่วยในการทำงานอย่างไร ซึ่งทางไลน์กำลังศึกษาอินไซต์ว่าอะไรคือสิ่งที่ยูสเซอร์อยากได้เพื่อช่วยสำหรับการทำงาน อาทิ การขยายระยะเวลาของไฟล์ที่ส่งให้อยู่ได้นานขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ฟีเจอร์ใหม่ที่จะออกมาก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีทั้งแบบ ใช้ฟรี และ มีค่าใช้จ่าย

“ปีนี้จะเป็นปีในการศึกษาอินไซต์ เพราะเราไม่มีข้อมูลว่ายูสเซอร์ใช้ไลน์คุยอะไรกันบ้าง ที่เรารู้ว่าเขาใช้ไลน์ทำงานก็เป็นการทำสำรวจภายนอก”

ฟีเจอร์ใหม่มาอีกเพียบ

นอกเหนือจากฟีเจอร์ที่มาช่วยด้านการทำงานแล้ว ยังมีอีกหลายฟีเจอร์ด้านอื่น ๆ ที่จะได้เห็นในปีนี้ อาทิ LINE Open Chat หรือคอมมูนิตี้แชทออนไลน์ของไลน์ ก็เป็นอีกฟีเจอร์ที่ถูกอกถูกใจคนไทย ด้วยความที่ผู้ใช้สามารถตั้งชื่อและรูปโปรไฟล์แยกต่างหากในคอมมูนิตี้นั้น ๆ ทำให้สามารถพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ กับผู้คนอีกมากมายในเรื่องเดียวกันโดยไม่ต้องเปิดเผยโปรไฟล์จริง ๆ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 17 ล้านคนต่อเดือน ยอดการใช้งานสูงสุดถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่ายาวนานกว่าประเทศอื่น ๆ

โดยในปีนี้ LINE Open Chat จะเพิ่มฟีเจอร์ LIVE Talk ที่จะเหมือนกับ Clubhouse หรือ เปิดการพูดคุยแบบเรียลไทม์ ในคอมมูนิตี้ นอกจากนี้ในส่วนของ LINE OA ซึ่งเป็นฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซที่มียอดการเปิดใช้งานสูงถึง 6 ล้านบัญชี ปีนี้ไลน์จะเพิ่มฟีเจอร์ LINE OA Plus โดยจะเพิ่มความสามารถใหม่ ๆ อาทิ

  • MyCRM สำหรับจัดการ บริหารความสัมพันธ์ลูกค้า
  • MyCustomer สำหรับการจัดเก็บและจัดการข้อมูลลูกค้า
  • MyRestaurant สำหรับการบริหาร จัดการธุรกิจร้านอาหาร ให้ตอบสนองตลาดได้ดีกว่าเดิม
  • เปิดตัว LINE OA Store เพื่อเป็นช่องทางให้แบรนด์ได้สามารถมองหาและเข้าถึงพาร์ทเนอร์ ผู้สรรค์สร้างโซลูชั่นเชิงเทคโนโลยีที่ใช่ และเป็นพื้นที่ให้บริษัทฯ นักพัฒนาทั่วไปได้นำเสนอโซลูชันบน LINE ได้อย่างเต็มที่

ในส่วนอื่น ๆ อาทิ LINE TODAY ก็จะมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลายมากขึ้น LINE STICKERS ที่จะขยายขอบเขตธุรกิจ licensing เพื่อผลักดันศักยภาพอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ในไทย และ LINE HORO ที่จะขยายธุรกิจจากบริการดูดวง ขอพร ทำบุญออนไลน์ สู่การบริจาคยุคใหม่ Donation on LINE ที่สะดวกและเชื่อถือได้ โดยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มียอดเงินบริจาคมากกว่า 2 ล้านบาท