หากพูดถึงงานอีเวนต์หรืองานคอนเสิร์ตในปีนี้ หลายคนน่าจะกระเป๋าแห้งไปแล้วแน่ ๆ เพราะจัดถี่เหลือเกิน และถ้าใครไปงานคอนเสิร์ตบ่อย ๆ ก็น่าจะคุ้นกับชื่อของ ‘Ticketmelon’ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการ จำหน่ายตั๋วงานอีเวนต์ออนไลน์ ซึ่งจากเมื่อ 7 ปีก่อนเป็นเพียงสตาร์ทอัพตัวเล็ก ๆ สู่การเป็นผู้เล่น Top 3 ของตลาดในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นมาจากเพนพอยต์ล้วน ๆ
“จริง ๆ ผมเป็นคนชอบไปงานอีเวนต์ สิ่งนี้มันเกิดจากเพนพอยต์ส่วนตัวล้วน ๆ เพราะสาขาที่เรียนก็เรียนเกี่ยวกับไฟแนนซ์ ผมไม่เคยแม้แต่จัดอีเวนต์ ไม่มีแบ็กกราวด์ด้านไอที แต่เราเห็นปัญหาและเห็นโอกาส เพราะผมมีคำถามตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยมแล้วว่า ทำไมตั๋วคอนเสิร์ตต่าง ๆ ถึงไม่ขายออนไลน์ เพราะตอนนั้นเราจองโรงแรมได้ ซื้อตั๋วเครื่องบินได้ มีแค่คอนเสิร์ตใหญ่ ๆ ที่ขายออนไลน์” ภานุพงศ์ เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการบริหาร Ticketmelon เล่าถึงจุดเริ่มต้นของบริษัท
จนกระทั่งในปี 2015 ตอนนั้นเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 ถึงได้มาทำ Ticketmelon จริงจัง และช่วงท้ายปี 4 ก็ได้เงินลงทุน จากนั้นเราก็เริ่มจากทำบริการให้กับคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์เล็ก ๆ จนกระทั่งมีงานใหญ่ ๆ เข้ามา ซึ่งในปีที่ Ticketmelon ให้บริการ ก็มีแพลตฟอร์มคู่แข่งออกมาอีกเพียบ ทำให้เรารู้จักการแข่งขันตั้งแต่ตอนแรกเลย
“ในช่วง 3-4 เดือนแรกที่ทำ เราให้ใช้ฟรีเลย เพราะว่าจุดประสงค์เราตอนนั้นคือ ต้องการเรียนรู้ว่าฟีดแบ็กของลูกค้าเป็นอย่างไร อะไรที่เขาชอบไม่ชอบ เราก็มานั่งคุยกับลูกค้า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมั่วไปเอง พอคนใช้มากขึ้น ก็เริ่มมีการบอกปากต่อปากจนมีการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในวงการออแกไนเซอร์ก็จะคุยกันอยู่เเล้ว”
หลังจากที่เรามาทำเราเห็น เพนพอยต์อีกเยอะ เลย ทั้งด้านโอเปอเรชั่น การจ่ายเงินภายในงาน ทำให้ทุกวันนี้เราไม่ได้มีแค่ Ticketing แต่ขยายบริการเพิ่มแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
- Ticketing : บริการจองตั๋วออนไลน์
- In-Event Technology : การนำเทคโนโลยี RFID/NFC หรือ QR Code มาใช้กับสายรัดข้อมือ (Wristband) ป้ายคล้องคอ (Lanyard) หรือบัตรเข้างาน เพื่อนำไปซื้อสินค้าโดยไม่ต้องใช้เงินสด เล่นเกม จับฉลาก หรือใช้บริการอื่น ๆ ภายในอีเวนต์
- Virturl Event : บริการถ่ายทอดสดอีเวนต์ผ่านระบบสตรีมมิ่ง (Live Streaming Services)
ปัจจุบัน งานของ Ticket Melon มีทุกแบบตั้งเเต่คลาสโยคะ 10 คน ไปจนถึงงานคอนเสิร์ต 60,000 คน โดยมีงานเด่น ๆ เช่น Wonderfruit, The1975, The Killers, 808 & Together Festival, Sensation, Transmission Festival Asia เทศกาลดนตรีมหรสพ การจำหน่ายบัตรของสนามมวยเวทีราชดำเนินและ LPGA Thailand Open
อีเวนต์มันเครียด เพราะล้มเหลวไม่ได้
ปัจจุบัน ในตลาดมีผู้ให้บริการหลัก ๆ ประมาณ 5 ราย สำหรับ Ticketmelon มั่นใจว่าเป็น Top 3 ของตลาด ภานุพงศ์ อธิบายว่า ประเทศไทยถือเป็นอิมเมอร์จิ้งมาร์เก็ต ดังนั้น จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดอยู่เรื่อย ๆ แต่จะหายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งที่ทำให้หลาย ๆ แพลตฟอร์มยืนระยะไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่างานหลังบ้านมันมีความ ซับซ้อนมาก ไม่ได้เป็นแค่ แพลตฟอร์มขายตั๋ว อย่างที่เข้าใจ
ภานุพงศ์ มองว่า ด้วยประสบการณ์ที่มีมา 7 ปี และบริการที่ครบ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ Ticketmelon ขึ้นเป็น Top 3 ของตลาด เพราะออแกไนซ์ไม่ต้องไปหาผู้บริการอีกหลาย ๆ เจ้าแล้วค่อยเอามาประกอบกัน ขณะที่แข่งอื่น ๆ อาจจะเน้นไปที่การเป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายตั๋วอย่างเดียว
“การจัดอีเวนต์มันตึงเครียดมาก งานมันจัดได้ครั้งเดียว ดังนั้นมันล้มไม่ได้ เรื่องของ Trust จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เขาต้องเชื่อใจเราได้ว่าทำงานกับเรามันจะไม่ล้มเหลว อย่างระบบล่มนี่เป็นเพนพอยต์ใหญ่เลย และนี่คือสิ่งที่เราผ่านมาเเล้ว ไม่มีเจ้าไหนในโลกที่ไม่เคยผ่านจุดนั้นมา ทำให้ตอนนี้เราสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าเรามีประสบการณ์มากกว่าเจ้าอื่น ๆ ตอนนี้เรามั่นใจว่าระบบเราเสถียรแล้ว”
ยืนยันไม่จัดอีเวนต์เอง
อย่างบริษัทใหญ่สุดของโลกก็คือ Ticket Master ซึ่งจุดแข็งของเขาคือ เขาเป็นผู้จัดงานอีเวนต์เองด้วย แต่ที่ Ticketmelon วางไว้เลยว่า จะไม่จัดงานอีเวนต์เอง เพราะถ้าทำเท่ากับเป็น คู่แข่งกับลูกค้า ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราทำงานกับลูกค้าได้ก็เพราะเราไม่มี conflict กัน ทำให้ทำงานกันได้อย่างสบายใจ นอกจากนี้ เราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดอีเวนต์ด้วย
ส่วนการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Metaverse หรือ NFTs เป็นเทคโนโลยีที่กำลังศึกษา มีการทดลองบ้างแต่ยังไม่ทำจริงจัง อย่างการทำตั๋วเป็น NFTs เรามองว่ามันเป็นเทรนด์ที่เกิดจากอดีตคนชอบสะสม บัตรแข็ง แต่พอทุกอย่างเป็นออนไลน์ก็เลยต้องทำ NFTs ดังนั้น ถ้าจะทำให้ประสบการณ์เหมือนกับออฟไลน์กลับมา NFTs ก็เป็นอีกทางเลือก แต่ในอุตสาหกรรมวันนี้ยังไม่เห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
“ในช่วง 3 ปีแรกที่เปิด Ticketmelon ผมแทบจะไม่เคยเคาะเลยว่าโปรดักส์เราจะเป็นอะไร สิ่งเดียวที่ผมเคาะคือ นี่เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เป็นสิ่งที่ลูกค้าบอก ดังนั้น มันไม่สำคัญว่าเราจะคิดอะไร หรือเทรนด์ไปทางไหน สิ่งสำคัญคือ ลูกค้าต้องการอะไร”
งานอีเวนต์กลับมาโต 3 เท่า
ในช่วงโควิดเราก็ต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ เพราะยอดขายเราหายไปเกือบ 100% เราเองก็ได้ทำเวอร์ชวลอีเวนต์เพื่อให้ยังบริษัทยังมีรายได้ แต่มาช่วง กลางปี 2022 งานอีเวนต์ในก็กลับมาเติบโตกว่าปี 2019 ถึง 2 เท่า ทั้งอีเวนต์ของไทยและจากอีเวนต์ต่างประเทศ ส่วนเทรนด์การจัดงานเปลี่ยนไปบ้าง อย่างงานสัมมนาก็จัดเป็น ไฮบริด แต่การจัดแบบไฮบริดก็มีความท้าทายของการบาลานซ์เรื่องขายตั๋ว หลายคนเจอปัญหา ยอดออนไลน์ไปแข่งกับยอดออฟไลน์
“ตอนนี้ตลาดอีเวนต์คึกคักกว่าปี 2019 มาก เพราะรายได้เขาหายไป 2-3 ปี แต่สิ่งที่เห็นชัด ๆ เลยคือ ไม่ว่าอย่างไร ออนไลน์ก็แทนออฟไลน์ไม่ได้”
สำหรับ Ticketmelon ในปี 2022 ที่ผ่านมามีการเติบโต 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2019 และในปี 2023 นี้คาดว่าจะเติบโตขึ้น 3 เท่า
เป้าใหญ่เป็นผู้เล่นระดับโลก
สำหรับแผนปีนี้ Ticketmelon ต้องการเป็น Regional Company จะไม่ได้หยุดแค่ตลาดไทย โดย ภานุพงศ์ เล่าว่า จริง ๆ เป็นความตั้งใจตั้งเเต่ปี 2019 ที่บริษัทเริ่มบุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ต้องหยุดไปเพราะโควิด แต่พอตลาดกลับมาฟื้นตัว บริษัทจึงเริ่มบุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังอีกครั้ง ปัจจุบัน Ticketmelon มีออฟฟิศอยู่ในสิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยรายได้จากต่างประเทศคิดเป็น 25% ของรายได้รวม
ด้วยเป้าหมายในการจะขยายไปเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค ทำให้ Ticketmelon พยายามจะขยายทีมในต่างประเทศเพิ่ม โดยเฉพาะ อีเวนต์โอเปอเรชั่นทีม ที่ต้องคอยดูแลหน้างานในแต่ละประเทศ อีกส่วนที่ต้องเพิ่มก็คือ เดเวลอปเปอร์ ที่ต้องดูแลระบบหลังบ้าน โดยปัจจุบัน Ticket Melon มีพนักงานประมาณ 30 คน ซึ่งต้องยอมรับว่ายังไม่เพียงพอกับปริมาณอีเวนต์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ที่ผ่านมา บริษัทเสียโอกาสไปพอสมควร
“ถ้าถามว่ามันมาไกลเกินกว่าที่ฝันไว้ไหม ผมคงบอกไม่ได้ว่ามันมาไกลเกิน เพราะเราก็มองว่าธุรกิจเรายังไปได้อีกไกลมาก แม้เราจะทำมา 7 ปีแต่ยังมีอะไรอีกมาก ซึ่งเป้าหมายของเราใน 5 ปีจากนี้เราต้องเป็น Top Leader ของภูมิภาค และเป้าหมายในอนาคตเราต้องเป็น ผู้เล่นระดับโลก” ภานุพงศ์ทิ้งท้าย