สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ดัชนีค้าปลีกไตรมาส 2 ยังซึม ชงรัฐบาลใหม่เร่งบูสต์เศรษฐกิจ ด้วยมาตรการพุ่งเป้าตามกลุ่ม

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index- RSI) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำไตรมาส2พบว่าลดลงมาที่ 47 จุด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุดทุกองค์ประกอบครั้งแรกในรอบ 15 เดือนเหตุปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้านทั้งความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล,ค่าครองชีพ-หนี้ครัวเรือนสูง,เศรษฐกิจชะลอตัว, มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเดิมหมดลง, ภาครัฐชะลอการเบิกจ่ายเพื่อรอรัฐบาลใหม่, ช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยวขณะที่ดัชนี RSI ระยะ 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.-ก.ย.) คาดว่าจะยังทรงตัวเนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์หลังจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดใหม่ที่อาจส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index – RSI) ในภาพรวมพบว่า ดัชนี RSI (QoQ) ไตรมาสสอง 2566 เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่ง 2566มีความ “น่ากังวล” เนื่องจากปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุดทุกองค์ประกอบเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนทั้งดัชนียอดขายสาขาเดิม SSSG (Same Store Sale Growth) QoQ, ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending Per Bill หรือ Per Basket Size) และ ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคฐานรากยังอ่อนแอ ภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสาร กดดันให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น รวมทั้งยังไม่มีมาตรการใหม่จากรัฐในการกระตุ้นการจับจ่าย

ทั้งนี้การลดลงของดัชนีตามภูมิภาคต่างๆ บ่งบอกถึงธุรกิจยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในช่วงครึ่งปีแรกราว 12.4 ล้านคนก็ตาม ทั้งนี้หากจำแนกตามประเภทร้านค้า พบว่าความเชื่อมั่นในปัจจุบันปรับลดลงในทุกประเภทร้านค้าโดยร้านค้าส่ง, ไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงไม่ฟื้นตัว ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นรวมทั้งสินค้าที่มีการจัดโปรโมชั่น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ได้เผยผลสำรวจเกี่ยวกับการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกของผู้ประกอบการ โดยสำรวจระหว่างวันที่ 19–26 มิถุนายน 2566 ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

  1. การปรับตัวของธุรกิจในกรณีที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ร้อยละ 63   จ้างพนักงานชั่วคราวเพิ่มขึ้น

ร้อยละ 61   เพิ่มทักษะและหน้าที่ของพนักงาน

ร้อยละ 59   ลดต้นทุนที่ไม่ใช่ค่าแรง

ร้อยละ 48   ขึ้นราคาสินค้า

ร้อยละ 22   ชะลอการลงทุน

ร้อยละ 22   ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน

ร้อยละ 15   ปรับสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้าง

ร้อยละ 13   เลิกจ้างพนักงานบางส่วน

  1. มาตรการสำหรับผู้ประกอบการในกรณีที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ร้อยละ78  สนับสนุนมาตรการทางภาษี เช่น ลดภาษีนิติบุคคล หรือนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษี
ได้มากขึ้น

ร้อยละ 63  ทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นขั้นบันได

ร้อยละ 59   ลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ

  1. คาดการณ์การปรับราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า

ร้อยละ 48  จะปรับราคาสินค้าแต่ไม่เกิน 5%

ร้อยละ 22  จะยังไม่ปรับราคาสินค้า

ร้อยละ 17  จะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 6-10 %

ร้อยละ 9   จะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 11-15 %

อย่างไรก็ตามภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกยังไม่สดใสเท่าที่ควร เนื่องจากภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับต้นทุนสูงจากทั้งค่าพลังงาน ค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ทางสมาคมฯ จึงขอนำเสนอ “ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ชุดใหม่”ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

  1. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วและราบรื่นเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า
  2. จัดสรรงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นไปแต่ละกลุ่มเป้าหมายและไม่ซับซ้อน โดยเพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มฐานรากและเพิ่มการใช้จ่ายในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงรวมทั้งลดขั้นตอนให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก
  3. ส่งเสริมภาคท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติและคนไทยท่องเที่ยวเมืองไทย เช่น การขยายเวลา Visa on Arrival ให้ต่างชาติพำนักในไทยได้นานขึ้น, การเพิ่มความถี่เที่ยวบินมาประเทศไทย รวมถึงมุ่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย เป็นต้น

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยขอส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่ชุดใหม่ที่มีความตั้งใจจะเข้ามาบริหารประเทศ ได้ออกนโนบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะมาพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคให้กลับมาคึกคัก โดยสมาคมฯมีความพร้อมและมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างมีเอกภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงเข้มแข็ง”นายฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย