3 เทรนด์เปลี่ยนโลกสื่อสาร

หลายประเทศในโลกกำลังทดลองระบบโทรศัพท์มือถือ 4G รวมทั้งที่ประเทศอังกฤษ ที่ได้ผ่านจุดของการทำให้ 3G และ Wi-Fi ครอบคลุมอย่างทั่วถึงไปแล้ว  4G จึงถูกขับเคลื่อนเข้ามาอย่างรวดเร็ว และกำลังเป็นความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในโลกของการสื่อสารที่มีผลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คน 

แม้ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นแค่ 3G แต่ความต้องการของผู้บริโภคคนไทยไปถึง 4G เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่าคือความกดดันให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและไล่ตามให้ทันกับความต้องการของลูกค้า

นี่คือแนวโน้มที่กำลังเป็น นอกเหนือจากการยืนยันในทิศทางธุรกิจที่ใช่ ที่กลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กำลังมุ่งไป หลังจากทีมผู้บริหารรับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์การปรับตัวทางธุรกิจสื่อสารในประเทศอังกฤษ จากบริษัทบริติช เทเลคอม หรือบีที และฮัทชิสัน 3G เจ้าของแบรนด์ “3” เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

เริ่มจากการมองเทรนด์ของธุรกิจสื่อสารกันก่อน ที่บริษัท Analysys Mason จากประเทศอังกฤษ บริษัทวิจัยข้อมูลด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีและมีเดีย หนึ่งในที่ปรึกษาของกลุ่มทรูฯ ได้บ่งบอกไว้ว่าความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจสื่อสารในอนาคตจะมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

 

4G มาแล้ว สมาร์ทโฟนต้องสว่าง บาง เร็ว 

โลกในอนาคตจะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ และนวัตกรรม อย่างอุปกรณ์มือถืออย่างสมาร์ทโฟน ที่จอต้องสว่างสดใส ประมวลผลเร็ว และบางเบา ส่วนนวัตกรรมอื่นๆ เช่น แอพพลิเคชั่นสโตร์จะมีแอพฯหลากหลาย จำนวนมาก

ส่วนเครือข่ายมีการพัฒนาความเร็วและการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีการพูดถึง LTE (Long Term Evolution พูดกันถึง 4G ที่มีความเร็ว 100 Mbps ส่วน 3G อยู่ที่สูงสุด 42 Mbps.) และ 5G ที่กำลังกำหนดมาตรฐานกันอยู่

4G คือเป้าหมายที่บริษัทโทรศัพท์มือถือทั่วโลกต้องไป เพื่อหนีเทคโนโลยีอื่นที่กำลังเบียดมาอย่างเร็ว โดยเฉพาะ Wi-Fi ที่ค่ายมือถืออย่างเช่นแบรนด์ “3” ของอังกฤษ มั่นใจว่าความเร็วของมือถือที่เร็วขึ้นในระบบ 4G จะตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้ นอกเหนือจากการพยายามทำให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย อย่างเช่นสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต และล่าสุดกับอุปกรณ์สื่อสัญญาณ Mi-Fi Portbale ที่เชื่อมสัญญาณ Wi-Fi กับไอแพด โน้ตบุ๊ก และเครื่องเล่นเกมต่างๆ   

 

ผู้บริโภค Always on นาน และบ่อยขึ้น 

ผู้บริโภคนับจากนี้จะตอบรับอย่างรวดเร็วกับอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถเข้าถึงบริการสื่อสารข้อมูลและคอนเทนท์ต่างๆ ได้ จะทำให้เกิดภาพผู้บริโภคดังนี้

– อุปกรณ์ฉลาดจะเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสื่อสารได้อย่างสะดวกทุกที่ ทุกเวลา 

– ผู้บริโภคจะทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นบนมือถือ ทั้งการเข้าอินเทอร์เน็ต ส่งข้อความผ่านเครือข่ายมือถือ จากเดิมใช้ผ่านเครือข่ายมีสายเกือบ 100% และแนวโน้มความเร็วในการส่งผ่านเครือข่ายมือถือก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่ขณะนี้มีความเร็วสูงสุดที่ ออสเตรีย A1 ความเร็วที่ประมาณ 150 เมกะบิตต่อวินาที

– การใช้ข้อมูลผ่านมือถือจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อชีวิตผู้คน ใน 5 ปีข้างหน้าจะอยู่บนหน้าจอมือถือกันนานขึ้น 2.5 เท่าจากปัจจุบัน การใช้มือถือเพื่อการโทรกับการเข้าอินเทอร์เน็ตนั้นจะนานพอๆ กัน ยังไม่นับการส่งข้อความ เล่นเกม ดูวิดีโอ อ่านหนังสือ ที่จะรวมๆ แล้วเป็นกิจกรรม 90% ของกิจกรรมบนมือถือทั้งหมด

 

แชร์เครือข่าย ซิมเดียวตอบโจทย์

รูปแบบธุรกิจจะเปลี่ยนไป โดยผู้ให้บริการจะมีโมเดลใหม่ๆ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น จากการโทรและเอสเอ็มเอสลดลงทำให้รายได้ส่วนนี้ลดลง ดังนั้นผู้ให้บริการจะมีแพ็กเกจค่าบริการดาต้าหลากหลายเพื่อดึงผู้บริโภคมากขึ้น และผู้ให้บริการจะตกลงร่วมมือกันมากขึ้นในการใช้เครือข่ายร่วมกัน 

ส่วนแพ็กเกจค่าบริการและการใช้ซิม แนวโน้มที่ผู้บริโภคชอบคือ “มัลติซิม” ที่ซิมเดียว แพ็กเกจราคาเดียว สามารถใช้กับอุปกรณ์ที่หลากหลายได้ ส่วนซิมแยกนั้นไม่เป็นที่ถูกใจผู้บริโภคอีกต่อไป 

 

โมเดลบีที Wi-Fi+TV+โทรสู้ 4G

จากเทรนด์นี้ กรณีตัวอย่างของ “บริติช เทเลคอม” หรือบีที คือบริษัทสื่อสารรายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ที่มีการปรับตัวอย่างชัดเจน แม้จะมีฐานจากความเป็นบริษัทของรัฐบาล และเติบโตจากธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน โดยไม่มีสิทธิลงทุนโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อธุรกิจมือถือเติบโตและผู้บริโภคต้องการอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ทำให้คนเริ่มทิ้งโทรศัพท์บ้าน บีทีจึงไม่มีทางเลือกนอกจากปรับตัว

บีที เคยปรับตัวโดยให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์หรือเครือข่ายบรอดแบนด์ แต่เมื่อค่ายมือถือให้บริการ 3G ทำให้คนใช้อินเทอร์เน็ต สื่อสารข้อมูลผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ มากขึ้น บรอดแบนด์ของบีทีจึงเจอโจทย์ใหญ่อีกครั้ง และยากที่จะอยู่รอดยิ่งขึ้นหาก 4G เกิดขึ้น

ช่วงขยับแรงของบีทีคือเมื่อเดือนมิถุนายน 2010 ที่กลุ่มธุรกิจ บีทีรีเทลเปิดให้ใช้บริการ Wi-Fi แบบไม่จำกัดในแพ็กเกจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต เจาะกลุ่มเป้าหมายคนใช้โมบายล์ดาต้า ทั้งผู้ใช้สมาร์ทโฟน ไอพอด แท็บเล็ต และโน้ตบุ๊ก โดยเฉพาะลูกค้าใหม่ที่บีทีเรียกว่า “เจนเนอเรชั่นไอแพด” ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่กลุ่มนี้จะนิยมใช้งานแท็บเล็ตผ่าน Wi-Fi มากกว่าเพราะค่าบริการถูกกว่า เมื่อเทียบกับ 3G โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีทางเลือกฟรี Wi-Fi ด้วย

การมีเครือข่าย Wi-Fi ให้ครอบคลุมมากที่สุดนั้น บีทีใช้วิธีการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการ Wi-Fi รายอื่นๆ เช่น FON จนช่วงต้นปี 2011 มีเครือข่าย Wi-Fi 2.6 ล้านจุด และปัจจุบันมี 3 ล้านจุด

นอกจากนี้บีทียังหายุทธศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครือข่ายบรอดแบนด์ ด้วยสูตรของ “ทริปเปิลเพลย์”  คือให้บริการทีวีระบบบอกรับเป็นสมาชิกภายใต้แบรนด์ BT Vision ที่บีทีเพิ่งประกาศรีแบรนด์ พ่วงบริการบรอดแบนด์ Wi-Fi และโทร เช่น แพ็กเกจ TV Essential+บรอดแบนด์ และโทรแบบไม่จำกัด ค่าบริการเดือนละ 32 ปอนด์ หรือประมาณ 1,600 บาท ได้ดูทีวีตามแพ็กเกจพื้นฐานแบบบอกรับเป็นสมาชิก เช่น 70 ช่อง มีช่องรายการจากสกายทีวี มีทีวีออนดีมาน์ บรอดแบนด์แบบซูเปอร์ไฮสปีดความเร็วมากกว่า 40 Mbps  Wi-Fi ฟรี และโทรไม่อั้น จนล่าสุดบีที มีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยมี Wi-Fi เป็นความหวังที่สดใส

การปรับตัวของบีทีทำให้ค่ายมือถือไม่อาจหยุดนิ่งได้เช่นกัน ดังนั้นค่ายมือถือหลายรายจึงได้เริ่มทดสอบทางเทคนิคกับระบบ 4G ที่ทำความเร็วทิ้งห่างออกไปอีก และรอให้รัฐบาลเปิดประมูลเพื่อลงทุนเครือข่าย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีหน้า และเปิดให้บริการได้ทั่วประเทศในปี 2015  

ความพยายามปรับตัวของผู้เล่นในธุรกิจนี้ที่อังกฤษ ทำให้เห็นชัดเจนว่าแม้จะมีอุปสรรค และมีการแข่งขันที่เข้มข้น แต่การพยายามหาโอกาส ก็จะเจอตลาดใหม่ๆ ได้ในที่สุด เพราะตลาดนี้ลูกค้าพร้อมที่จะรับเทคโนโลยีที่ดีกว่า เร็ว ง่าย และใช่ในสิ่งต้องการเสมอ