นักวิเคราะห์เชื่อ ‘จีน’ อาจ “จำกัดการส่งออกแร่หายากเพิ่ม” แนะทั่วโลกเตรียมกระจายความเสี่ยง!

ย้อนไปช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา จีน ได้ออกมาตรการ จำกัดการส่งออก สารประกอบ แกลเลียม และ เจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นโลหะสำคัญในการใช้ ผลิตชิป ซึ่งนักวิเคราะห์ก็ได้ออกมามองถึงผลกระทบถึงมาตรการดังกล่าว พร้อมแนะให้ทั่วโลกตรียมกระจายความเสี่ยง เพราะเชื่อว่านี่จะไม่ใช่สิ่งเดียวที่จีนจะจำกัดการส่งออก

จากการควบคุมการส่งออก แกลเลียม และ เจอร์เมเนียม ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยจะเริ่มบังตคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป ทาง Stewart Randall นักวิเคราะห์จาก Intralink มองว่า นี่อาจกระตุ้นให้ บางประเทศกระจายซัพพลายเชนออกจากจีน โดยตามข้อมูลจาก Critical Raw Materials Alliance ระบุว่า จีนครองสัดส่วนในการผลิต เจอร์เมเนียมถึง 60% และ แกลเลียม 80% ของโลก 

ขณะที่ คณะกรรมาธิการยุโรป และ สหรัฐอเมริกา ก็ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนการควบคุมการส่งออกของจีนว่า นี่ถือเป็นการเตือน ยุโรป และ สหรัฐฯ ในสงครามเทคโนโลยีเกี่ยวกับชิปขั้นสูง และ เราจำเป็นต้องมีซัพพลายเชนของตนเอง

แน่นอนว่าการจำกัดการส่งออกแร่ทั้ง 2 ชนิดอาจเป็นแค่ จุดเริ่มต้น โดย Luisa Moreno ประธานบริษัทเหมืองแร่ Defense Metals Corp เชื่อว่า จีนจะจำกัดการส่งออกโลหะเพิ่มเติม ซึ่งอาจรวมถึงแร่หายากด้วย เนื่องจากธาตุหายากเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง สมาร์ทโฟน รวมไปถึง อุปกรณ์ทางทหาร เช่น ระบบเรดาร์ ธาตุหายากประกอบด้วยองค์ประกอบ 17 ชนิดที่ประกอบด้วยสแกนเดียม อิตเทรียม และแลนทาไนด์

“เรามีแนวโน้มที่จะเห็นการจำกัดการส่งออกต่อไป และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อวัสดุอื่น ๆ เช่น แรร์เอิร์ธ ที่จีนควบคุมการผลิตมากกว่า 85%”

ย้อนไปในปี 2010 จีนเคย ระงับการส่งออกแร่หายากไปยังญี่ปุ่น หลังจากเกิดข้อพิพาทด้านดินแดน นอกจากนี้ จีนยังขู่ว่าจะหยุดการส่งออกแร่หายากไปยังสหรัฐฯ ในปี 2018 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการจำกัดการส่งออกแร่สำคัญของจีนจะยังไม่เป็น ปัญหาใหญ่ในระยะสั้น แต่ถ้าจีนกำหนดควบคุมวัสดุแร่โลหะสำคัญอื่น ๆ นั่นจะเป็น ปัญหาระยะยาว แต่สิ่งที่จะตามมาแน่ ๆ ก็คือ ราคาที่สูงขึ้น 

เพราะจีนแม้จะเป็นผู้ผลิตหลักของแร่แกลเลียมและเจอร์เมเนียม แต่ไม่ใช่ผู้ผลิตเพียงรายเดียว อย่างรัสเซีย ยูเครน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ก็ผลิตแกลเลียม และในปี 2021 รัฐบาลอินเดีย แคนาดา เยอรมนี ญี่ปุ่น สโลวาเกีย และสหรัฐอเมริกา ก็สามารถรีไซเคิลแกลเลียมได้

“แกลเลียมและเจอร์เมเนียมไม่ใช่โลหะเฉพาะ แต่การที่จีนเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของโลหะเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งนี้ช่วยให้ราคามันถูกลง ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดจะเป็นเรื่องราคามากกว่าผลกระทบด้านอุปทานโดยรวม” 

ในท้ายที่สุดแล้ว นักวิเคราะห์มองว่า การที่จีนจะจำกัดการส่งออกแร่สำคัญอาจสร้างปัญหาให้ประเทศคู่แข่งได้จริง แต่จีนเองก็ได้รับผลกระทบต่อบริษัทจีนที่มีลูกค้าต่างชาติ และทำให้ประเทศต้องสูญเสียรายได้ไป

Source