หากพูดถึงแพลตฟอร์มหลัก ๆ ที่เรา ๆ ใช้กันอยู่ประจำทุกวันคงหนีไม่พ้น Facebook, Instagram, Twitter, LINE แม้ว่าในช่วง 3-4 ปีจะมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย คงจะมีแค่แพลตฟอร์มเดียวที่อยู่รอดและกลายเป็นคู่แข่งที่หลายคนกลัวก็คือ TikTok ดังนั้น ไปย้อนดูกันว่ามีแพลตฟอร์มหรือแอปฯ ไหนบ้างที่มาแรงในช่วงแรก แต่ก็ค่อย ๆ แผ่วปลาย ไป
Clubhouse
ในช่วงปี 2020 ที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ถือเป็นปีที่แจ้งเกิดแพลตฟอร์มใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Clubhouse แพลตฟอร์มแนวคอมมูนิตี้ที่เน้นการสื่อสารผ่าน เสียงและการสนทนา โดยจุดที่ทำให้แพลตฟอร์มดังเปรี้ยงปร้างก็เพราะมี คนดัง คนมา พูด เล่า แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขณะที่ผู้ฟังอื่น ๆ ก็สามารถตอบโต้ได้ด้วยการยกมือ นอกจากนี้ ไม่ใช่ใครจะใช้ก็ได้ เพราะในตอนแรกนั้นจำเป็นต้อง ถูกเชิญ ถึงจะมีสิทธิ์เข้าไปฟังในห้องนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ในภายหลังจะมีการลบข้อจำกัดในการใช้ โดยเปิดระบบเป็น สาธารณะ ทุกคนสมัครแล้วเข้าใช้ได้เลย แต่เพราะสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย คนใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้ ไม่มีเวลาฟัง เหมือนช่วงแรก ๆ หรือเหล่าคนดัง ที่เคยเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนฟังก็ไม่ได้มาใช้งานเหมือนเดิม นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอื่น ๆ ที่เกิดจากแพลตฟอร์มโซเชียลฯ เจ้าตลาด อาทิ Twitter ที่เปิดตัวฟีเจอร์ Spaces เพื่อให้ผู้ใช้สามารถคลิกจากทวีตเพื่อเข้าสู่แชทสดได้ ทำให้สุดท้ายกระแส Clubhouse ก็เริ่มตกลง
Telegram
แอปแชทสัญชาติ รัสเซีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัย และมีฟีเจอร์ที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความแบบเดี่ยว แบบกลุ่ม ส่งรูปภาพ ส่งวิดีโอ ส่งไฟล์ อัดเสียง ส่งสติกเกอร์ โทร หรือวิดีโอคอลได้ โดยกระแสของ Telegram เริ่มมาแรงในไทยตอนช่วงปี 2020 ที่มีการ ชุมนุมประท้วง เพราะว่ามีฟีเจอร์อย่างการซ่อนแอดมินกลุ่มเป็นแบบไม่ระบุตัวตน นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนของ Facebook ตอนที่ล่มในปี 2021 อีกด้วย
แน่นอนว่าด้วยจุดแข็งด้านความปลอดภัยยังทำให้การใช้งาน Telegram นั้นยังมีอยู่แต่จะเป็นในลักษณะ เฉพาะกลุ่ม มากกว่าที่จะมีการใช้งานแพร่หลายเหมือนเมื่อก่อน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสถานการณ์การเมืองที่ลดความร้อนแรงลงไป หรือการรับสารผ่าน Twitter ก็ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลัก อย่างไรก็ตาม อาจต้องรอดูในช่วงนี้ว่า Telegram จะกลับมาฮิตอีกครั้งไหม ในช่วงที่การเมืองไทยเริ่มจะมีประเด็นการโหวตนายกให้จับตามอง
ZEPETO
ย้อนไปปี 2018 กระแสการสร้าง อวาตาร์ กำลังมาแรงอย่างมาก เนื่องจากสมาร์ทโฟนตัวท็อป ๆ ในตอนนั้นมีฟีเจอร์ให้สร้างอวาตาร์ได้ อาทิ AR Emoji จาก ซัมซุง หรืออย่างฝั่ง iOS ที่สามารถให้ผู้ใช้สร้าง Memoji ทำให้ในช่วงนั้นแพลตฟอร์มสัญชาติเกาหลีที่ใช้สำหรับสร้างอวาตาร์อย่าง ZEPETO เลยดังเป็นพลุแตก ทำยอดดาวน์โหลดมากที่สุดในจีน ไทย และหลายประเทศในช่วงปีนั้น
แม้ว่ากระแสจะซาลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบัน ZEPETO ก็ทำตลาดในไทยอย่างเต็มรูปแบบในฐานะ Metaverse แพลตฟอร์มที่ไม่ได้มีไว้แค่สร้างอวาตาร์อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ZEPETO ในปัจจุบันก็ไม่ได้แมสเหมือนในปี 2018 แต่อาจต้องรอดูว่าถ้ากระแส Metaverse ฮิตกว่านี้ ZEPETO อาจจะกลับมาเป็นกระแสเหมือนปี 2018 ก็ได้
Bondee
แพลตฟอร์มสัญชาติสิงคโปร์ที่มีส่วนผสมของ Game Metaverse และโซเชียลมีเดีย โดย Bondee ทำสถิติมียอดดาวน์โหลดอันดับ 1 ในไทยช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยผู้ใช้สามารถสร้างอวตาร์ของตัวเอง สามารถแต่งตัว แต่งห้อง และแชท กับเพื่อนได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในการเพิ่มเพื่อนได้แค่ 50 คน และแสดงฟีดของเพื่อนเท่านั้น นี่จึงเป็นพื้นที่ที่เน้นพูดคุยกับเพื่อนจึงปราศจากความ toxic แต่ด้วยข้อจำกัดนี้ ก็ทำให้กระแส Bondee เริ่มแผ่วไป เพราะไม่มีอะไรให้จนทำให้คนอาจเริ่มเบื่อ
Snow
ช่วงเดือนที่ผ่านมา เลื่อนฟีดไปตรงไหนก็น่าจะเห็นเพื่อน ๆ หรือคนดังโพสต์ภาพโปรไฟล์ในสไตล์ เกาหลี โดยใช้แอปฯ Snow ในการแปลงโฉมให้เรากลายเป็นสาวเกาหลีภายในเวลาแค่ 1 ชั่วโมงด้วย AI และด้วยความนิยมมหาศาลในช่วงข้ามคืนแม้จะไม่ได้ให้บริการฟรีก็ตาม (แบบ Standard 79 บาท แบบ Express (รอภาพ 1 ชั่วโมง) ราคา 199 บาท) จึงเกิดการจัดสรรคิวโดยเปิดเป็นรอบ ๆ ทำให้หลายคนไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้ จนเกิดเป็นบริการรับจ้างทำจาก Snow ให้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม Snow ก็คล้าย ๆ กับแพลตฟอร์มแต่งรูปด้วย AI ในอดีตที่เคยฮิตเป็นไวรัล อาทิ FaceApp แอปพลิเคชันเปลี่ยนหน้าตาที่สามารถเปลี่ยนหน้าตัวเองให้แก่ลง เด็กขึ้น หรือเปลี่ยนเป็นเพศตรงข้ามก็ได้ หรือแอปฯ ToonMe ที่สามารถนำภาพถ่ายของตัวเองไปเปลี่ยนเป็นภาพการ์ตูนได้ ที่ตอนนี้ไม่ได้มีคนใช้แล้ว แต่สำหรับ Snow แม้จะไม่ได้เป็นไวรัลเหมือนเดือนก่อน แต่เชื่อว่าจะยังถูกใช้ในฐานะ แอปกล้องสำหรับเซลฟี่
Threads?
หลังจากที่ Threads แพลตฟอร์มล่าสุดจากเจ้าพ่อโซเชียลมีเดีย Meta ได้เปิดตัวในวันที่ 6 กรกฎาคม เพียง 4 วันเท่านั้นก็มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคน โดยหลายคนมองว่า Threads นี่แหละจะมาฆ่า Twitter อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่แพลตฟอร์มไม่ยังไม่มีหัวข้อการสนทนาที่แรงพอจะช่วยขับเคลื่อนการใช้งาน ไม่มีฟังก์ชันแฮชแท็กและการค้นหาคำหลัก ทำให้ไม่สามารถค้นหาหัวข้อการสนทนาได้เหมือน Twitter
นั่นจึงทำให้จำนวน Engagement หรือการมีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มกลับลดลงอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนผู้ใช้วันที่ 11 – 12 กรกฎาคม ลดลง 20% เมื่อเทียบกับวันที่ 8 และเวลาที่ใช้งานบนแพลตฟอร์มได้ลดลง 50% จากเดิม 20 นาที เหลือแค่ 10 นาที
อย่างไรก็ตาม อาจยังตัดสินไม่ได้ว่า Threads จะแผ่วปลายไหมเพราะยังเป็นแค่ช่วง เริ่มต้น เท่านั้น คงต้องดูกันไปยาว ๆ ว่าจากนี้ Threads จะมีฟังก์ชันหรือฟีเจอร์อะไรใหม่ ๆ มาดึงเวลาผู้ใช้ในอนาคตบ้าง