ในงาน YouTube Partner Day ปีนี้ YouTube ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่ผู้คนสามารถสร้างและแบ่งปันความคิดเห็น เพื่อเชื่อมต่อกับผู้คนทั่วโลกและสามารถสร้างรายได้จากผลงานที่พวกเขารักมากที่สุด รวมทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ครีเอเตอร์ด้าน Creative Freedom หรืออิสระในการสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่มีข้อจำกัด ทั้งในด้านรูปแบบที่หลากหลายบน YouTube ตั้งแต่ Shorts แนวตั้งความยาวไม่เกิน 60 วินาที ไปจนถึงวิดีโอและสตรีมแบบสดความยาวหลายชั่วโมง รวมถึงเนื้อหาคอนเทนต์ที่หลากหลาย ตั้งแต่เนื้อหาที่ให้ความบันเทิง ความสนุก สาระ ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน และรูปแบบการสร้างรายได้ที่หลากหลาย
มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย และเวียดนาม กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 9 ปี ในการดำเนินงานของ YouTube ในประเทศไทย เรายังคงเดินหน้าสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงแนวคิดและสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเข้าถึงผู้ชมทั่วโลกอย่างมีคุณภาพไปพร้อมกับการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้ครีเอเตอร์ ศิลปิน ตลอดจนแบรนด์ต่างๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง YouTube ยังทุ่มเทและมุ่งเน้นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและปรับปรุงฟีเจอร์ต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าใน 3 ด้านจาก YouTube ได้แก่ (1) ด้านอารมณ์ (Emotionally Rewarding) ผลสะท้อนจากคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับทุกช่วงเวลาในชีวิตและความสนใจที่เปลี่ยนแปลงของผู้คน นอกจากการเข้าถึงคนดูจำนวนมากแล้ว เราเชื่อว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่ครีเอเตอร์รู้สึกผูกพันกับแฟนๆ และผู้ติดตามอย่างลึกซึ้ง จนเกิดเป็นชุมชนที่มีความแน่นแฟ้น (2) ด้านการสร้างรายได้ (Financially Rewarding) ให้ครีเอเตอร์ได้รับผลตอบแทน ผ่านโปรแกรมพาร์ทเนอร์ YouTube เพราะเราเชื่อมั่นว่า YouTube จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อครีเอเตอร์ประสบความสำเร็จเท่านั้น (3) ด้านความสร้างสรรค์ (Creatively Rewarding) มอบความสุขสนุกสนานไปกับการสร้างสรรค์ผลงานที่ยอดเยี่ยมได้อย่างอิสรภาพในรูปแบบที่หลากหลาย”
YouTube เปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ได้สร้างสรรค์คอนเทนต์และเชื่อมต่อกับผู้ติดตามและแฟนๆ ได้อย่างมีอิสระ โดยชูจุดเด่นด้าน Creative Freedom ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
- การสร้างสรรค์ข้ามประเภทเนื้อหา (Freedom on Genres): จากเดิมที่คอนเทนต์มีการแบ่งประเภทไว้อย่างชัดเจน สู่การปลดล็อคการสร้างผลงานที่ผสมผสานเพื่อความแปลกใหม่และการมีส่วนร่วมของผู้ชมอย่างท่วมท้น เช่น การนำคอนเทนต์วาไรตี้และทอล์คโชว์กับกระแสนักการเมือง หรือการโต้วาทีในรูปแบบเกมโชว์
- การสร้างสรรค์ที่หลากหลายรูปแบบ (Freedom on Formats): สามารถสร้างผลงานได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ วิดีโอยาว-สั้น สตรีมแบบสด ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันเพื่อตอบสนองแต่ละกลุ่มเป้าหมาย อย่างที่ผ่านมา ศิลปินเพลงประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจากการเปิดตัวเพลงโดยการใช้ประโยชน์จาก Shorts เพื่อสร้างกระแสและชาเลนจ์กับแฟนๆ ให้มาร่วมสนุกกัน
- การสร้างสรรค์วิธีสร้างรายได้หลายช่องทาง (Freedom on Monetization): YouTube ยังช่วยสนับสนุนให้เหล่าครีเอเตอร์สามารถรับส่วนแบ่งรายได้และสร้างรายได้จากเนื้อหาของตนเองด้วยรูปแบบที่หลากหลาย นอกเหนือจากโฆษณา ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา YouTube ได้จ่ายค่าตอบแทนให้กับครีเอเตอร์ ศิลปิน และบริษัทสื่อรวมแล้วกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์
ปัจจุบัน เหล่าบรรดาครีเอเตอร์สามารถรับส่วนแบ่งและสร้างรายได้บน YouTube จากคอนเทนต์ผ่านโปรแกรมพาร์ทเนอร์ YouTube (YouTube Partner Program: YPP) รวมถึงช่องทางต่างๆ สำหรับครีเอเตอร์ในการสร้างรายได้ที่นอกเหนือจากโฆษณา เช่น การเป็นสมาชิกของช่อง (Channel Memberships), Super Chat, Super Stickers และ Super Thanks ในประเทศไทย โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา YouTube ก็ได้นำเสนอรูปแบบการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากโฆษณาบน Shorts
เอกอนันต์ (เจ) เลิศพงษ์อนุกูล ครีเอเตอร์ หนึ่งในนักแคสเกมอันดับต้นๆ ของเมืองไทยจาก ช่อง Maser กล่าวว่า “ผมชอบที่ YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่ให้อิสระในการทดลองสร้างเนื้อหาหลายๆ รูปแบบ สำหรับผมการสตรีมสดเป็นสิ่งที่ผมชอบมากที่สุด เพราะเราได้มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยโต้ตอบกับแฟนๆ แบบเรียลไทม์อย่างใกล้ชิด ทำให้เรารู้สึกผูกพันกับคนดูเหมือนเรากำลังเล่นเกมกับเพื่อน รวมถึงการทำวิดีโอ Shorts ที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ช่อง Maser เติบโตอย่างน่าทึ่งในปีนี้ โดยมียอดวิวที่เพิ่มขึ้นถึง 450% ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน ผู้ติดตามและรายได้ก็เพิ่มขึ้นด้วย แน่นอนว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ดังนั้น สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังเริ่มต้นทำ YouTube ผมแนะนำให้เริ่มจากการลองสร้างคอนเทนต์รูปแบบที่เราชอบและถนัด แล้วค่อยๆ ทดลองสิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้ลองค้นหาตัวเองจนเจอสูตรสำเร็จในแบบของคุณ”
YouTube เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลก โดยสิ่งหนึ่งที่ YouTube ยึดมั่นมาตลอดการเดินทาง 9 ปี ของ YouTube ในประเทศไทย คือ การยึดครีเอเตอร์เป็นหัวใจสำคัญในทุกการดำเนินงาน และจะไม่หยุดยั้งในการพัฒนาเพื่อให้ YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ทุกคนได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างมีอิสระเต็มที่