หลายเมืองในยุโรป-อเมริกา สั่งแบน-จำกัดจำนวน “เรือสำราญ” เข้าท่า หลังส่งผลเสียมากกว่าผลดี

เรือสำราญ
(Photo: Shutterstock)
หลายเมืองในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการสั่งแบนหรือจำกัดจำนวน “เรือสำราญ” ขนาดใหญ่ที่จะเข้าจอดในท่าเรือ เพราะพบว่าส่งผลเสียหลายประการต่อเมือง และไม่ได้ช่วยสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร

เมืองที่ว่านี้ เช่น เวนิซ ประเทศอิตาลี, บาร์เซโลนา ประเทศสเปน, ซานโตรินี ประเทศกรีซ, ดูบรอฟนิก ประเทศโครเอเชีย, อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ส่วนเมืองที่เลือกแบนหรือจำกัดจำนวนเรือสำราญในสหรัฐฯ​ มักจะเป็นเมืองเล็กๆ ที่รู้สึกว่ารับนักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่ไหว เช่น มอนเทอร์รีย์ เบย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย, คีย์เวสต์ รัฐฟลอริดา, บาร์ ฮาร์เบอร์ รัฐเมน

——————

กิจการเรือสำราญนั้นเป็นวิธีการท่องเที่ยวแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม ผู้โดยสารจะมีโอกาสได้ล่องเรือผจญภัยไปตามริมฝั่งเส้นทางต่างๆ แต่ละเส้นทางสั้นยาวไม่เท่ากัน บางเส้นทาง 7 วัน ขณะที่บางเส้นทางเที่ยวรอบโลก อาจได้อยู่บนเรือกันนานนับเดือน

บนเรือสำราญจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย บางลำที่มีขนาดใหญ่มโหฬารอาจเป็นเหมือน ‘เมืองลอยน้ำ’ เลยทีเดียว เพราะนอกจากห้องพักแล้ว บนเรือยังมีทั้งสวนน้ำ ห้องอาหาร ร้านช้อปปิ้ง กาสิโน โรงภาพยนตร์ โรงละคร

เรือเหล่านี้มักจะแวะตามท่าเรือต่างๆ เพื่อพักเติมน้ำมันและเสบียง ระหว่างแวะพักผู้โดยสารจะมีเวลาได้ลงไปเที่ยวชมเมืองชายทะเล อาจมีเวลาให้ไม่กี่ชั่วโมงหรือแวะ 1 วัน

——————

กลุ่มเรือสำราญที่มีขนาดใหญ่เหล่านี้ จะจุผู้โดยสารได้หลักหลายพันคน และยังมีลูกเรือกลุ่มพนักงานอีกนับพันคนเช่นกัน ทำให้การแวะพักแต่ละครั้งจะมีคนบนเรือจำนวนมากลงมาใช้บริการต่างๆ ในเมือง

ดังนั้น ก่อนหน้านี้ใครๆ ต่างก็ต้องการต้อนรับเรือสำราญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลายปีมานี้กลับมีหลายเมืองที่ ‘ไม่ต้อนรับ’ เรือสำราญอีกต่อไป โดยมีเหตุผลหลักๆ เช่น

1) เรือขนาดใหญ่เกินไป จนมีผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานของเมือง

2) คนจากบนเรือลงมาท่องเที่ยวพร้อมกันหลายพันคน แต่เมืองเล็กๆ ไม่สามารถจะรับนักท่องเที่ยวได้ไหว นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะมากเกินไป

3) นักท่องเที่ยวแวะเพียงชั่วครู่ จึงไม่ได้ใช้จ่ายมากนัก และแพ็กเกจทัวร์เรือสำราญส่วนใหญ่รวมค่าอาหาร-เครื่องดื่มบนเรือไว้แล้ว หลายคนจึงรอกลับไปทานอาหารบนเรือมากกว่า เคยมีการศึกษาจากเมืองเบอร์เกน ประเทศนอร์เวย์ พบว่าคนจากเรือสำราญจะใช้จ่ายเฉลี่ย 23 ยูโรต่อคนเท่านั้น

4) นักท่องเที่ยวจากเรือสำราญไม่มีเวลาพอที่จะเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะมีเวลาแวะพักเฉลี่ย 8 ชั่วโมงเท่านั้น

5) เรือสำราญทำลายสิ่งแวดล้อม ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากเรือสำราญที่แวะเมืองท่าในยุโรปในปี 2022 รวมกันแล้วเท่ากับเที่ยวบินไปกลับปารีส-นิวยอร์ก 50,000 เที่ยว และเรือสำราญ 63 ลำจะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกมาเท่ากับรถยนต์ทั้งหมดที่มีในยุโรป

6) เรือสำราญขนาดใหญ่ยังทำลายระบบนิเวศทางทะเลได้ โดยอาจทำลายแนวปะการัง และสัตว์น้ำต่างๆ เช่น วาฬ

——————

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับการแบนหรือจำกัดจำนวนเรือสำราญ

ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของธุรกิจหลายรายในบาร์ ฮาร์เบอร์ รัฐเมน สหรัฐอเมริกา รวมกันฟ้องหน่วยงานราชการ เพราะการจำกัดจำนวนผู้โดยสารเรือสำราญให้เข้าท่าได้ไม่เกิน 1,000 คนต่อวัน ทำให้ธุรกิจเสียหายมาก

เมื่อธุรกิจบางส่วนก็ยังหวังพึ่งพิงเรือสำราญ ทำให้ทางออกที่เป็นไปได้ของท่าเรือเหล่านี้คือการเก็บ “ภาษี” ต่อหัวในการเข้าท่าให้สูงขึ้น เพื่อเป็นเงินตั้งต้นไว้ก่อนว่าเมืองนั้นๆ จะได้รายได้คุ้มค่ากับการบำรุงรักษา และต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อม

ที่มา: Insider, Business Insider, Euronews