ความมั่งคั่งของครัวเรือนทั่วโลก ลดลง 11.3 ล้านล้านดอลลาร์ หลังเจอปัญหาเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยสูงทำพิษ

จากรายงานของ ธนาคารยูบีเอส (UBS) และ เครดิตสวิส (Credit Suisse) เปิดเผยว่า ความมั่งคั่งของครัวเรือนทั่วโลก (UBS Global Wealth) ในปี 2022 ลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลให้จำนวนมหาเศรษฐีทั่วโลกลดลงอีก

ความมั่งคั่งของครัวเรือนทั่วโลก ลดลง –2.4% คิดเป็นมูลค่า 11.3 ล้านล้านดอลลาร์ เหลือ 454.4 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วน ความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อผู้ใหญ่หนึ่งคน ก็ลดลง –3.6% คิดเป็นมูลค่า 3,198 ดอลลาร์ เหลือ 84,718 ดอลลาร์

โดยการลดลงส่วนใหญ่นี้เกิดจากการขาดทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะความมั่งคั่งของเหล่าเศรษฐีเงินล้าน ส่งผลให้จำนวน มหาเศรษฐีทั่วโลก ลดลง 3.5 ล้านคน เหลือ 59.4 ล้านคน เมื่อเทียบกับในปี 2021 ซึ่งในปีดังกล่าวจะมีจำนวนเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 60 ล้านคน

การสูญเสียส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอย่างมากในแถบ อเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 10.9 ล้านล้านดอลลาร์ โดย สหรัฐอเมริกา ถือเป็นประเทศที่ขาดทุนมากที่สุด รองลงมาคือญี่ปุ่น จีน แคนาดา และออสเตรเลีย ส่วนประเทศที่รวยเพิ่มขึ้น ได้แก่ รัสเซีย เม็กซิโก อินเดีย และบราซิล

โดยในภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก สูญเสียความมั่งคั่งรวม 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่ ละตินอเมริกา กลับมี ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นรวม 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของสกุลเงินเฉลี่ย 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าปี 2022 ความมั่งคั่งครัวเรือนโลกจะลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตในปี 2008 แต่ภายในปี 2027 มีการคาดการณ์ว่า ความมั่งคั่งครัวเรือนโลกจะสูงถึง 629 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น +38% กลุ่มประชากรที่มี รายได้ปานกลาง จะขับเคลื่อนแนวโน้มโลก โดยความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่หนึ่งคนคาดว่าจะสูงถึง 110,270 ดอลลาร์ ส่วนจำนวนมหาเศรษฐีทั่วโลกจะมีจํานวน 86 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม แม้อนาคตค่าเฉลี่ยของชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันเหล่า มหาเศรษฐี 1% แรก ยังคงถือครองความมั่งคั่งสูงถึง 44.5% ของความมั่งคั่งทั่วโลก ซึ่งลดลงเพียงเล็กน้อยจาก 45.6% ในปี 2021

Source