เปิดเทรนด์ “ทาสแมว” มาแรงเพราะคอนโดฯ “โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ” เดินกลยุทธ์​โตด้วย “M&A”

โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ทาสแมว
(Photo by Tranmautritam / Pexels)
  • ตลาดสินค้า “สัตว์เลี้ยง” พุ่งช่วงโควิด-19 เติบโต 16% หลังคนเลี้ยงสัตว์แก้เหงาช่วงล็อกดาวน์
  • “โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ” หนึ่งในผู้เล่นใหญ่ในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ชี้เทรนด์ “ทาสแมว” มาแรงมากเพราะคนอาศัยในคอนโดฯ มากขึ้น
  • กระแสเลี้ยงสัตว์ยังเป็นขาขึ้น ทำให้ รพส.ทองหล่อ เร่งขยายสาขาต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมกลยุทธ์ M&A ควบรวมหรือร่วมทุนในโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงที่มีศักยภาพ

ยุคนี้หันไปทางไหนก็เจอป้าย ‘pet-friendly’ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ศูนย์การค้า หรือแม้แต่คอนโดมิเนียม ต่างปรับตัวมาเป็นสถานที่ที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง เพราะวันนี้ใครๆ ก็เป็น “ทาสหมา” หรือ “ทาสแมว” กันทั้งนั้น

สพ.ญ.กฤติกา ชัยสุพัฒนากุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จำกัด อธิบายปรากฏการณ์ในยุคนี้ว่าเป็นยุคแห่ง “Pet Humanization” หรือ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยงไม่ใช่แค่สัตว์ แต่หลายคนรักเหมือนลูก จึงต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดกับน้องหมาน้องแมว เจ้าของพร้อมที่จะใช้จ่ายเต็มที่ทั้งอาหาร อุปกรณ์ เสื้อผ้า และการรักษาโรค

โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
สพ.ญ.กฤติกา ชัยสุพัฒนากุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จำกัด

ยิ่งในช่วงโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 เป็นช่วงที่ตลาดสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเติบโตสวนทางเศรษฐกิจ โดยโตเฉลี่ย 16% ต่อปี เทียบกับก่อนหน้าโควิด-19 โตเฉลี่ย 8-10% ต่อปี เป็นเพราะช่วงล็อกดาวน์ มีเจ้าของใหม่รับเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกันมากขึ้น รวมถึงเจ้าของเก่ามีเวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยง จึงพบรอยโรคที่ต้องรักษา และซื้อสินค้าอาหารต่างๆ ให้น้องหมาน้องแมว

ตลาดสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง (Pet Care) เมื่อปี 2565 จึงเติบโตขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาท และ Euromonitor คาดว่าปี 2566 นี้จะโตต่อเนื่องอีก 10% เป็น 55,000 ล้านบาท

 

“ทาสแมว” มาแรงเพราะอยู่คอนโดฯ

สำหรับเทรนด์ในช่วงหลายปีมานี้ คือการเติบโตของบรรดา “ทาสแมว” โดย สพ.ญ.กฤติกากล่าวว่า ในอดีตโรงพยาบาลจะมีลูกค้าส่วนใหญ่ 80% เป็นสุนัข 15% แมว และ 5% กลุ่มสัตว์เอ็กซอติก เช่น นก เต่า กระต่าย

แต่ปัจจุบันสัดส่วนเปลี่ยนไปมากเพราะมีคนเลี้ยงแมวเพิ่มขึ้น 55% เป็นสุนัข 40% แมว และ 5% กลุ่มสัตว์เอ็กซอติก

ทาสแมว

เหตุที่แมวได้รับความนิยมมาก เพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไปอยู่อาศัยใน “คอนโดฯ” ซึ่งเหมาะกับการเลี้ยงแมวมากกว่าสุนัข เพราะแมวไม่ค่อยส่งเสียงดัง ไม่ต้องใช้พื้นที่พาออกกำลังกายหรือขับถ่าย และแมวติดคนน้อยกว่า เหมาะกับชีวิตคนหนุ่มสาวที่ไม่ค่อยอยู่บ้าน

เมื่อเทรนด์เปลี่ยน ทำให้โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อมีการปรับตัว เกือบทุกสาขาที่มี 18 สาขาขณะนี้มีการปรับแยกโซน “Cat Zone” ออกมาโดยเฉพาะ โดย 90% ได้รับการรับรองว่าปรับพื้นที่ให้เหมาะกับแมวแล้ว เช่น การใช้ไฟไม่แสบตาแมว, อุณหภูมิห้องเหมาะสม, โซนเงียบเพื่อให้แมวไม่ตกใจกลัว รวมถึงโรงพยาบาลรับสมัครสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคแมวมาประจำสาขา

 

แผน 5 ปีขยายสาขาไทยและเวียดนาม

สพ.ญ.กฤติกากล่าวต่อถึงแผนการขยายธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ปี 2566-2567 จะมีการเปิดสาขาใหม่เพิ่ม 2 สาขา คือ สาขาประชาชื่น เปิดเดือนสิงหาคมนี้ และสาขาเชียงใหม่ แอร์พอร์ต ช่วงต้นปี 2567 ใช้งบลงทุนรวมประมาณ 200 ล้านบาท

ขณะที่แผนอนาคตอีก 5 ปีจากนี้ โรงพยาบาลฯ วางเป้าเปิดสาขาของโรงพยาบาลฯ เองแบ่งเป็นในประเทศไทยปีละ 1-2 สาขา และเวียดนามปีละ 1 สาขา

โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
บรรยากาศใน Thonglor Bangkok Pet Hospital สาขาโฮจิมินห์

ทั้งนี้ ในเวียดนามเป็นโครงการร่วมทุนกับ Greenpet JSC กลุ่มทุนด้านวงการยาและอาหารสัตว์เวียดนาม โดยฝั่ง Greenpet JSC ลงทุน 60% และโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อลงทุน 40% เปิดสาขาแรกที่โฮจิมินห์ซิตี้ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2565 และบริษัทจอยต์เวนเจอร์นี้ตั้งเป้าจะเปิดโรงพยาบาลสัตว์ให้ครบ 8 สาขาในเวียดนาม

 

M&A โรงพยาบาลสัตว์ศักยภาพสูง

ในตลาดประเทศไทย นอกจากจะเปิดสาขาภายใต้ชื่อโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อเองแล้ว สพ.ญ.กฤติกากล่าวว่าโรงพยาบาลฯ ยังมีกลยุทธ์​ M&A กับโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์เลี้ยงที่มีศักยภาพอื่นด้วย ที่ผ่านมามีการ M&A แล้ว 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลสัตว์ฉลองภูเก็ต จ.ภูเก็ต กับ โรงพยาบาลสัตว์กรุงศรี จ.อยุธยา

“M&A เป็นโอกาสที่ดีเพราะบางโรงพยาบาลในพื้นที่อาจจะทำจนมาถึงจุดที่ตันๆ เขาจะดึงเราเข้าไปดูว่าเราจะช่วยตอบโจทย์อะไรได้บ้าง” สพ.ญ.กฤติกากล่าว “เราไม่ได้ทำตรงนี้เพื่อจะหารายได้อย่างเดียว แต่เราต้องการไปช่วยพัฒนามาตรฐาน ทำให้โรงพยาบาลสามารถรักษาโรคเฉพาะทางได้มากขึ้น รวมถึงมีระบบหลังบ้านที่ดีขึ้น ทำให้ลดต้นทุนลงได้ อย่างโรงพยาบาลสัตว์ฉลองภูเก็ต หลังร่วมทุนกัน 5 ปี ปัจจุบันกำไรเขาเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า”

โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อวางแผนจากนี้น่าจะมีการ M&A ปีละ 3 แห่ง โดยเป็นการร่วมทุนที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อถือหุ้นข้างน้อย 49% ทำให้ผู้ร่วมทุนยังมีความเป็นเจ้าของและไม่ต้องเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาล มีการวางงบสำหรับการลงทุนส่วนนี้ไว้ 10-15 ล้านบาทต่อแห่ง และขณะนี้มีคู่เจรจาแล้ว 6-7 ราย

เมื่อปี 2565 โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อทำรายได้ 1,143 ล้านบาท กำไรสุทธิ 134 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 18% ปี 2566 นี้ยังคาดหวังว่าจะเติบโตต่อเนื่อง 15-20% เพราะกระแสคนรักสัตว์ยัง พร้อมเปย์มากขึ้นเรื่อยๆ