RS มองแลนด์สเคปธุรกิจเพลงที่เปลี่ยนไป กลับมาบุกตลาดมากขึ้น ปิดดีลพาร์ตเนอร์ต่างประเทศต่อยอดธุรกิจ เตรียมสปินออฟดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ปีหน้า บุกตลาดสัตว์เลี้ยงปั้นให้ครบอีโคซิสเท็ม ขึ้นแท่นดาวรุ่งตัวต่อไป
ทรานส์ฟอร์มไม่หยุดนิ่ง
RS หรือ “อาร์เอส กรุ๊ป” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้เห็นการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรับกับเทรนด์ กับกระแสที่เปลี่ยนของผู้บริโภค รวมไปถึงกระแสของโลกธุรกิจ เชื่อว่าหลายคนเติบโตมากับอาร์เอส เติบโตมากับบทเพลง ศิลปินที่มอบความบันเทิงให้แก่พวกเรา แต่อดีตธุรกิจเพลงมีรายได้หลักจากการขายเทป ซีดี การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลจึงทำให้ธุรกิจเพลงซบเซาลงไปบ้าง
ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นอาร์เอสเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างรวดเร็ว จากธุรกิจเพลงสู่ธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” ในนามช่อง 8 และธุรกิจสุขภาพความงาม ในธุรกิจไลฟ์สตาร์ ตั้งแต่ปี 2557 เพราะมูลค่าตลาด และโอกาสในการเติบโตสูงมากขึ้นทุกปี ประกอบกับเทรนด์ของคนไทยที่ใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว
หลังจากที่ทรานส์ฟอร์มมาเรื่อยๆ อาร์เอสก็ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจในปี 2562 อย่างเต็มตัว เปลี่ยนหมวดหมู่ของธุรกิจจากธุรกิจสื่อ เป็นธุรกิจคอมเมิร์ซ หรือเรียกเต็มๆ ว่า Multi-Platform Commerce หรือ MPC เพราะในจังหวะนั้น รายได้จากการขายสินค้าแซงหน้าธุรกิจสื่อไปแล้ว
อาร์เอสใช้โมเดลขายสินค้าผ่านช่องทางสื่อในเครือ ทั้งทีวีดิจิทัล ช่อง 8 ทีวีดาวเทียม ช่อง 2, ช่องสบายดีทีวี, ช่องเพลินทีวี, วิทยุคูลฟาเรนไฮต์, สื่อออนไลน์ www.shop1781.com, LINE@shop1781, LINE@COOLanything รวมทั้งตัวแทนขายตรง LifestarBIZ โมเดิร์นเทรด และร้านค้าปลีกทั่วประเทศ
อีกหนึ่งการทรานส์ฟอร์มล่าสุดที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่ออาร์เอสกลับมาบุกธุรกิจ “เพลง” อีกครั้ง หลังจากเงียบหายไป 15 ปี โดยที่ “เฮียฮ้อ” ได้ประกาศแผนตั้งแต่ปี 2563 ในปีนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนยิ่งขึ้น ควงคู่มากับธุรกิจ “สัตว์เลี้ยง” วางแผนทำเป็น Petconomy หรือครอบคลุมอีโคซิสเท็มทั้งหมด เนื่องจากเป็นธุรกิจขาขึ้น และเฮียฮ้อเองก็เป็นทาสหมาด้วยเช่นกัน
เมื่อธุรกิจเพลง “ไม่เหมือนเดิม”
ย้อนกลับไปในอดีต ธุรกิจเพลงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่โดนดิสรัปต์มาตลอด ตั้งแต่ยุคเทปผีซีดีเถื่อน ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียรายได้ให้กับแผ่นเถื่อน และเมื่อยุคดิจิทัลเข้ามามีบทบาท คนก็ฟังผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น บททาทของเทอ หรือซีดี หรือที่เราเรียกกันว่า Physical ก็เริ่มลดลง
ซึ่งในอดีตตัวสินค้า Physical ทั้งเทป และซีดี เป็นรายได้หลักของผู้ประกอบการ และศิลปิน เพราะในยุคก่อนๆ ไม่คอ่ยมีงานอีเวนต์ หรือคอนเสิร์ตมากนัก รวมไปถึง Music Marketing ด้วย เมื่อรายได้การเทป ซีดีลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จึงทำให้เฮียฮ้อตัดสินใจให้น้ำหนักกับธุรกิจเพลงน้อยลง แต่ไม่ถึงกับยุบธุรกิจไป เพราะยังมีรายได้ในส่วนของลิขสิทธิ์ต่างๆ อยู่บ้าง
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ต้องยอมรับว่าธุรกิจเพลงในตอนนี้มีหลากหลาย Business Model และมีช่องทางการหารายได้ที่หลากหลายขึ้นกว่าในอดีตมาก ในช่วงกลางปี 2563 อาร์เอสจึงตัดสินใจคัมแบ็กธุรกิจอีกครั้งในรอบ 15 ปี ภายใต้ยูนิต RS Music ปัดฝุ่นค่ายเพลง และแตกเป็น 3 ค่ายหลักๆ ได้แก่ 1. RSIAM 2. Kamikaze และ 3. RoseSound
ในปีนี้แผนธุรกิจเพลงมีความชัดเจนยิ่งขึ้น เฮียฮ้อถึงกับเอ่ยปากว่า เตรียมสปินออฟบริษัทเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์สำหรับระดมทุน และหารายได้ให้มากขึ้น โดยจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ของปี
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
“แต่ก่อนที่เลิกทำธุรกิจเพลง เพราะว่ารายได้มาจากแค่แผ่นซีดีอย่างเดียว แต่ตอนนี้เห็นเทรนด์จากออนไลน์ สตรีมมิ่ง กิจกรรมต่างๆ คอนเทนต์ไปได้ไกลกว่านั้น เป็น Music Marketing รายได้มาจากทุกมิติ ขายโฆษณา แอดออนไลน์ สตรีมมิ่ง คอนเสิร์ต ละในมุมลูกค้าที่ซื้อสื่อ ซื้อกิจกรรมคอนเสิร์ต ก็สามารถเก็บเม็ดเงินโฆษณาได้ด้วย แผนตอนนี้จะมีการสปินออฟบริษัททำให้ธุรกิจมีมูลค่าเพิ่ม เพื่อได้ระดมทุนทำธุรกิจเพลง และจะมีพาร์ตเนอร์ต่างประเทศที่จะมาพร้อมเงินทุน ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจนี้ 700 ล้านบาท”
เฮียฮ้อยังเสริมอีกว่า เพลงจะกลับมาเป็นธุรกิจหลักที่ให้ความสนใจ จริงๆ ธุรกิจเพลงยุคใหม่อาจจะไม่มากมายนัก แต่มีมาร์จิ้นดีมาก อีกทั้งธุรกิจเพลงยังน่าสนใจ เป็นคลื่นลูกใหม่ เป็น Soft Power ได้ด้วย
RS Music ยังมีแผนปิดดีลกับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นดีลขนาดใหญ่ที่จะสร้างมูลค่าให้ทั้งกลุ่ม และเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการผลักดัน RS Music ให้มีศักยภาพ ขยายธุรกิจให้เติบโตได้ทั้งในประเทศ และระดับโลก และมีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงใหม่ โดยรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเสียงเพลงทั้งหมดมาไว้ด้วยกัน ได้แก่ 3 ค่ายเพลงหลัก, สถานีเพลง COOLFahrenheit, โชว์บิส, การทำการตลาดออนไลน์และ ออนกราวนด์ รวมถึง Artist Management
“สัตว์เลี้ยง” ขึ้นแท่นดาวรุ่ง
อีกหนึ่งธุรกิจที่อาร์เอสได้เริ่มบุกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 นั่นก็คือ ธุรกิจ “สัตว์เลี้ยง” เปิดตัวแบรนด์ Lifemate เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เริ่มจากการทำอาหารเม็ดก่อน และแตกไลน์เป็นกลุ่มอาหารเปียก อาหารเสริม และของใช้ต่างๆ แต่เดิมรายได้ของ Lifemate จะอยู่รวมกับธุรกิจคอมเมิร์ซ แต่อาร์เอสได้ปรับโครงสร้าง แตกเป็นยูนิต Pet All สร้างอาณาจักรสัตว์เลี้ยงครบวงจร ตั้งเป้าสปินออฟเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3 ปีข้างหน้าให้ได้
เฮียฮ้อบอกว่า “ตลาดสัตว์เลี้ยงน่าสนใจมาก ส่วนตัวเป็นทาสหมาอยู่แล้วด้วย และได้ติดตามอุตสาหกรรมนี้มานาน อยู่ในเทรนด์เติบโตทุกปี ล้อกับพฤติกรรมคนไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย หรือครอบครัวเล็กลง คนเมืองมีลูกน้อยลง หลายคนเอาสัตว์เลี้ยงมาเป็นเพื่อน เลี้ยงสัตว์แทนการมีลูก รักสัตว์เหมือนลูก ในแผนปีนี้มีทั้งการเติบโตด้วยตัวเอง และ M&A จะทำอาณาจักรให้มีทั้งช็อป และศูนย์ Wellness สำหรับสัตว์เลี้ยง”
เมื่อไม่นานมานี้ได้จัดตั้ง บริษัท อาร์เอส เพ็ท ออล จำกัด (RS pet all) เพื่อลงทุนในธุรกิจสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร (Petconomy) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยล่าสุดได้เข้าทุ่มงบลงทุน 100 ล้านบาท เข้าลงทุนใน บริษัท ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์ จำกัด (Hato Pet Wellness Center) ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงครบวงจร และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน “Preventive Program” โปรแกรมการป้องกันดูแลและส่งเสริมให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรง โดยมีสัดส่วนการลงทุน 51%
ในปี 2565 ฮาโตะ มีรายได้รวม 60 ล้านบาท หลังจากที่อาร์เอสเข้าลงทุนคาดว่าน่าจะมีรายได้เติบโตขึ้นเป็น 100 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ โดยจะโฟกัสที่ 2 โมเดลธุรกิจด้วยกัน ได้แก่ การเปิด HATO Animal Hospital จำนวน 2 แห่งใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสัตว์ระดับ 5 ดาว ที่ครบและครอบคลุมการรักษาทุกด้าน รวมถึงการพัฒนาสินค้าในกลุ่ม HATO Vet Select ภายใต้แบรนด์ HATO ซึ่งจะมีมากกว่า 10 SKUs ทั้งผลิตภัณฑ์กรูมมิ่ง แอนด์ สปา รวมถึง wellness treats ที่เป็นขนมเพื่อสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยจะออกวางจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ และเพ็ทช็อปทั่วประเทศ
ปัจจุบันแบ่งธุรกิจออกเป็น เซอร์วิส และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ทั้งนำเข้าและผลิตในไทย โดย เซอร์วิส มีทั้งหมด 5 สาขา แบ่งเป็น 3 รูปแบบหลักๆ คือ 1. Hato Pet Wellness Center ให้บริการคลินิก และบริการอาบน้ำ, สปา 2. Hato Cat Wellness Center คลินิกยกระดับคุณภาพชีวิตแมวครบวงจร และ 3. HATO Home ที่มีโมเดลแบบ Private Pet Community ซึ่งประกอบด้วย คลินิก โรงแรม Pet Shop รวมถึงส่วนพักผ่อนหรือสถานที่ทำกิจกรรม อาทิ สนามหญ้าหรือสระว่ายน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยงที่รวมการดูแลสัตว์เลี้ยงไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร นอกจากนี้ยังรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งขณะนี้ เปิดบริการแล้ว 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสัตว์กรุงเทพ-ชัยพฤกษ์
นอกจากที่ร่วมทุนกับ Hato แล้ว อาร์เอสเตรียมเป็น Pet Shop เป็นของตัวเอง ที่รวบรวมสินค้า และบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงเดือนกรกฎาคม และขยายเพิ่มเติมอีก 6-7 สาขา
การที่อาร์เอสหันมาบุกธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจคอมเมิร์ซได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแรงลง ทำให้ต้องกระจายความเสี่ยงไปธุรกิจอื่นมากขึ้น
ทั้งนี้อาร์เอส กรุ๊ป ผลประกอบการไตรมาส 1/2566 ทำกำไรที่ 92 ล้านบาท จากรายได้รวม 813 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของธุรกิจสื่อ และรายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่สูงขึ้น รวมไปถึงการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้น CHASE บางส่วน
ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวมที่ 5,000-5,500 ล้านบาท มีกำไร 10-12% แบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจคอมเมิร์ซ 55% และธุรกิจมีเดีย และบันเทิง 45%
อ่านเพิ่มเติม
- เปิดใจ ‘เฮียฮ้อ’ จาก ‘ทาสน้องหมา’ สู่การปั้นแบรนด์ ‘Lifemate’ ธุรกิจที่ทำแล้วมีความสุขที่สุด
-
อาร์เอส กรุ๊ป ทุ่ม 100 ลบ. ส่ง RS pet all เข้าลงทุน 51% ใน HATO เปิดเกมรุกธุรกิจ Pet Wellness