ในอดีตมีหลายแบรนด์ในตลาด QSR ที่จะมีชุด “แถมของเล่น” แต่ปัจจุบันนี้ที่คุ้นเคยกันก็คงจะเหลือแค่ แมคโดนัลด์ (McDonald’s) ที่มีชุด แฮปปี้มีล ตัดภาพมาที่คู่แข่งอย่าง เบอร์เกอร์คิง (Burger King) ที่ไม่ได้มีชุดแถมของเล่นมานานแล้ว แต่ ธนวรรธ ดำเนินทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้แย้มว่า อาจจะได้เห็น ของเล่นจากเบอร์เกอร์คิง ในตลาดไทยอีกครั้ง
เด็ก เป้าหมายที่อยากจับมานาน
ธนวรรธ เล่าว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของเบอร์เกอร์คิง (40%) อยู่ในช่วง 30-39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยทำงานและบางส่วนก็มีครอบครัว ซึ่งเบอร์เกอร์คิงเองก็พยายามจะเจาะลูกค้ากลุ่มลูกค้าที่มีครอบครัวมานาน และคิดว่าแบรนด์สามารถทำได้ดีกว่านี้ถ้าสามารถดึงดูด เด็ก ให้เข้าหาแบรนด์ได้ เพื่อวันที่พวกเขาเติบโตจะได้กลับมาทานเบอร์เกอร์คิง
“เราคิดมานานหลายปีเเล้ว และมีการพูดกับต่างประเทศมานาน เพราะคู่แข่งมีของเล่น เราก็อยากจะเจาะกลุ่มเด็ก เพราะเราเห็นว่ามันมีมาร์เก็ตไซส์มหาศาลมาก”
ล่าสุด เบอร์เกอร์คิงได้จับมือกับ โซนี่ พิคเจอร์ส ในการนำเปิดตัว Burger King Spider-Verse Store ที่มาพร้อมดีไซน์และธีมใหม่ที่ใช้คาแรกเตอร์ของภาพยนตร์ Spider-Man Across the Spider-Verse มาตกแต่งร้าน ทั้ง 3 สาขา ประกอบด้วย สาขารัชดา สาขาสยาม พารากอน และสาขาเมกา บางนา โดยสาเหตุที่เลือกแค่ 3 สาขาดังกล่าวเพราะเป็นแฟลกชิปสโตร์ และเป็นโลเคชั่นที่มีกลุ่มครอบครัวมาใช้บริการเยอะ
นอกจากนี้ ได้ออกออกโปรโมชันใหม่ เมนูคิงจูเนียร์ ราคาเริ่มต้น 99 บาท ซึ่งถือเป็น ครั้งแรกที่ออกเมนูสำหรับเด็ก ของเบอร์เกอร์คิง ซึ่งได้ออกแบบให้ทานง่าย มีผักไม่เยอะ และไม่เผ็ด โดยเมนูดังกล่าวจะเป็นเมนูถาวรของทางร้านด้วย
“แคมเปญนี้เป็นโกลบอลแคมเปญ แต่เมนูสำหรับเด็กทางเราเป็นคนคิด ซึ่งแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันไป และภายในปีนี้คาดว่าจะมีแคมเปญที่ล้อกับภาพยนตร์อีกประมาณ 1 แคมเปญ”
อาจได้เห็น ของเล่น กลับมาอีกครั้ง
นอกเหนือจากการทำแคมเปญล้อกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นแคมเปญระดับโลกแล้ว ธนวรรธ แย้มว่า เบอร์เกอร์คิงอาจกลับมา แถมของเล่น และถ้าหากมีของเล่นเข้ามาก็จะทำการตลาดให้ครบ 360 องศา อย่างไรก็ตาม ธนวรรธ ย้ำว่า เบอร์เกอร์คิง ไม่ได้ตั้งเป้าเรื่องยอดขาย แต่ขอโฟกัสที่การสร้างการรับรู้ของกลุ่มเด็กก่อน อย่างเมนูคิงจูเนียร์ก็สามารถรีชน้อง ๆ ได้ถึง 10 ล้านคน โดยภายในปีหน้า เบอร์เกอร์คิงต้องการเพิ่มสัดส่วนลูกค้าเด็กให้เป็น 10%
“กลุ่มเด็กเราเริ่มจากศูนย์เลย ดังนั้น ยอดขายไม่ใช่ตัวชี้วัดหลัก แต่เป็นการสร้างฐานลูกค้า และเราอยากโฟกัสที่กลุ่มฐานลูกค้าเราก่อน ไม่ได้โฟกัสจะไปเเย่งของคู่เเข่งมา นั่นจะเป็นอีกสเต็ปหนึ่ง แน่นอนว่ามันท้าทายเพราะเราเริ่มจากศูนย์ และคู่แข่งทำมานาน ดังนั้น ตอนนี้เราต้องมาโฟกัสที่การสื่อสารว่าเราจะมีของให้เด็กแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ยากว่าจะสื่อสารอย่างไรให้เขารู้”
ยังไม่กังวลค่าแรง
ปัจจุบัน วัตถุดิบกว่า 70% ของเบอร์เกอร์คิงนั้นนำเข้าทั้งหมดโดยเฉพาะเนื้อและเฟรนช์ฟรายส์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาต้นทุนถือว่าผ่อนคลายลงมากในปัจจุบัน ส่วนเรื่อง ค่าแรง ทางแบรนด์ก็เฝ้าติดตามอยู่ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าแรงเป็นเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง เพราะมีอีกหลายปัจจัย เช่น ค่าไฟ ซึ่งที่ผ่านมาแบรนด์เองก็พยายามบริหารจัดการเพื่อลดภาระต้นทุน
ในส่วนของการเปิดสาขา แบรนด์ไม่ได้มีมาตรการว่าจะต้องเปิดไซส์เล็ก แต่ดูตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก แต่จะยังเน้นที่สาขาสแตนด์อะโลน โดยปัจจุบันสาขาสแตนด์อะโลนคิดเป็นประมาณ 60% ของจำนวนสาขาทั้งหมด
วางเป้า 2,400 ล้าน โต 20%
สำหรับเป้าหมายปีนี้วางไว้ที่ 2,400 ล้านบาท เติบโต 20% เทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 2,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันเบอร์เกอร์คิงมี 123 สาขา ใน 20 จังหวัด โดยราว 50% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อีก 20% อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยในปีนี้เปิดสาขาใหม่แล้ว 2 สาขา ได้แก่ ปั้มเชลล์บางนา และคอมมูนิตี้มอลล์หาดใหญ่ คาดว่าภายในสิ้นปีจะเปิดเพิ่มอีก 8 สาขา เน้นในจังหวัดท่องเที่ยวเป็นหลัก
“ปีนี้ท่องเที่ยวกลับมาจะโฟกัสที่เมืองท่องเที่ยวเยอะหน่อย เนื่องจากช่วงที่โควิดระบาดเราต้องปิดตัวไป เมื่อนักท่องเที่ยวกลับมาเราเลยต้องมาโฟกัส”
แม้ปีนี้จะเปิดสาขาในเมืองท่องเที่ยว แต่ ธนวรรธ ย้ำว่า เบอร์เกอร์คิงยังต้องการเพิ่มสัดส่วน ลูกค้าคนไทยเป็น 90-95% จากปัจจุบันคิดเป็น 80% เพราะในอดีตลูกค้าเบอร์เกอร์คิงที่เป็นชาวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 25% และเมื่อเจอการระบาดของโควิดทำให้ได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญว่าต้องเพิ่มสัดส่วนลูกค้าคนไทยให้มากขึ้น
“สุดท้าย เราเชื่อมั่นว่าแบรนด์เบอร์เกอร์คิงมีศักยภาพพอจะเป็น Top 3 ของเครือไมเนอร์ โดยเราตั้งเป้าจะไปถึงจุดนั้นให้ได้ภายใน 5 ปี”