จีนแบนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น ประท้วงกรณีปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

ภาพจาก Unsplash
จีนแบนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น โดยมาตรการดังกล่าวตอบโต้กรณีที่ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อน ซึ่งจีนถือเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท

กรมศุลกากรของจีน ได้ออกแถลงการณ์ว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหาร จากการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคชาวจีน ทำให้จีนระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นไป

มาตรการดังกล่าวตามหลังมาจาก Tepco ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวลงสู่ทะเลเป็นครั้งแรกถึง 1.3 ล้านตัน เมื่อตอนบ่ายของวันนี้ (24 สิงหาคม)

สำหรับน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะมาจากการนำน้ำเข้าไปหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในปี 2011 ซึ่งพื้นที่ในการจัดเก็บน้ำเสียดังกล่าวลดลงเรื่อยๆ ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจต้องทิ้งน้ำเสียดังกล่าว แม้ว่าจะมีการบำบัดน้ำเสียเพื่อขจัดสารกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่แล้วก็ตาม และมีการเจือจางด้วยน้ำทะเลอีกรอบ

การปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นครั้งนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศยืนยันถึงความปลอดภัย รวมถึง UN ก็ออกมาไฟเขียวในเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าน้ำเสียปริมาณทั้งหมดจะต้องใช้เวลาปล่อยลงสู่ทะเลยาวนานถึง 30 ปีด้วยกัน

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จีนได้จำกัดการนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงฟุกุชิมะและโตเกียว ก่อนที่ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวข้างต้น ในปี 2022 ที่ผ่านมาจีนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 20,000 ล้านบาท

แถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมหาสมุทรเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของมนุษยชาติ การกระทำของญี่ปุ่นถือว่าขาดความรับผิดชอบ และไม่สนใจผลประโยชน์สาธารณะระหว่างประเทศ

แผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้รับแรงต่อต้านอย่างหนักจากทั้งประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลีใต้ ไปจนถึงกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกังวลถึงความปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสี ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล รวมถึงอาหารทะเลที่มีผู้บริโภคทั่วโลกรวมอยู่ด้วย

ที่มา – CNN, NBC News