เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลแม้จะผ่านการบําบัดแล้วก็ตาม ท่ามกลางการต่อต้านอย่างหนักจากทั้งประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลีใต้ รวมถึงกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกังวลถึงความปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสี ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล รวมถึงอาหารทะเลที่มีผู้บริโภคทั่วโลกรวมอยู่ด้วย
แม้ว่าจะมีไฟเขียวจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ รวมถึง UN ที่ออกมายืนยันถึง ความปลอดภัย สำหรับการปล่อย น้ำเสียซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล แต่ รัฐบาลจีน ก็ได้สั่ง ห้ามการนําเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่น หลังจากปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการ บําบัดแล้วลงสู่ทะเล
ที่ผ่านมา จีนได้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ รัสเซีย เห็นช่องทางที่จะ เพิ่มการส่งออกอาหารทะเลไปยังจีน จากที่ผ่านมา รัสเซียถือเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์อาหารทะเล รายใหญ่ที่สุดของจีน โดยมีบริษัทรัสเซีย 894 แห่ง ได้รับอนุญาตให้ส่งออกอาหารทะเล โดยในปี 2020 มูลค่าการนำเข้าอาหารทะเลจากรัสเซียของจีนมีมูลค่าถึง 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์
“เราหวังว่าจะเพิ่มจํานวนบริษัทและเรือของรัสเซียที่ได้รับการรับรอง รวมไปถึงปริมาณและประเภทผลิตภัณฑ์” Rosselkhoznadzor หน่วยเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของรัสเซีย กล่าว
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลของรัสเซียในปี 2022 มีปริมาณถึง 2.3 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6.1 พันล้านดอลลาร์ โดยครึ่งหนึ่งถูกส่งออกไปที่จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนในฝั่ง ยุโรป นั้นได้ คว่ำบาตร รัสเซียตั้งแต่ที่เปิดฉากรุกรานยูเครน ดังนั้น การที่จีนแบนญี่ปุ่นก็จะเป็นโอกาสในการยุดช่องว่างส่วนนี้ของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ทางรัสเซียได้เพิ่มการตรวจสอบอาหารทะเลที่จับได้ในน่านน้ำรัสเซีย ซึ่งค่อนข้างใกล้กับฟุกุชิมะ แต่ด้วยทิศทางของกระแสน้ำในพื้นที่ตะวันออกไกลของรัสเซียจะช่วยป้องกันการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารทะเลของรัสเซียได้
ทั้งนี้ จีนถือเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าอาหารทะเลชั้นนําของโลก แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียที่มีกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อน รัฐบาลจีนก็ได้สั่งห้ามการนําเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นทั้งหมดทันที โดยระบุว่า เพราะต้อง ปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคชาวจีนและรับรองความปลอดภัยของอาหารนําเข้า