ชำแหละ ‘โฆษณาดิจิทัล’ คาดโตกว่า 13% แตะ 2.9 หมื่นล้าน! ‘สกินแคร์’ ขึ้นแท่นอุตฯ อัดเงินมากสุด

จากการจับมือของ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) กับ คันทาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการสำรวจ 59 ประเภทอุตสาหกรรม และ 17 ประเภทสื่อดิจิทัล เพื่อประเมินมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2566 ที่ดูเหมือนว่าแม้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่แต่รวม ๆ แล้วคาดว่าเม็ดเงินจะเติบโตถึง 13% สูงกว่าที่เคยคาดไว้ช่วงต้นปีเกือบครึ่ง

โตกว่าที่เคยประเมินไว้เกือบเท่าตัว

แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยครึ่งปีแรกจะยังเติบโตได้ไม่เต็ม เนื่องจากเป็นช่วง Post-Covid โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่าที่ 13,210 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะมีมูลค่ามากกว่าครึ่งปีแรกที่ 15,789 ล้านบาท เนื่องจากการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น ดังนั้น คาดว่าทั้งปีเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลจะอยู่ที่ 28,999 ล้านบาท เติบโต 13% ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีว่าจะเติบโตเพียง 7% เท่านั้น

“เม็ดเงินโตกว่าที่คิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการท่องเที่ยวที่กลับมา เราเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 500% ในช่วงครึ่งปีแรก และในครึ่งปีหลังยังมีอีเวนต์ใหญ่ ๆ เช่น เทศกาล 11.11, 12.12 การเมืองที่นิ่ง ทำให้แบรนด์เข้ามาลงเงินกับดิจิทัลมากขึ้น” ราชศักดิ์ อัศวศุภชัย กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าว

รีเทลติด Top 5 ครั้งแรก

สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้จ่ายเงินโฆษณาสูงสุดในปีนี้ ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณหรือสกินแคร์ 3,268 ล้านบาท (ขึ้นจากอันดับ 2)
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ 2,520 ล้านบาท (ขึ้นจากอันดับ 3)
  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2,228 ล้านบาท (ลดลงจากอันดับ 2)
  • การสื่อสารและโทรคมนาคม 2,190 ล้านบาท (อันดับ 4 เท่าเดิม)
  • ห้างสรรพสินค้า, ค้าปลีกต่าง ๆ 1,682 ล้านบาท (ขึ้นมาติด Top 5 ครั้งแรก)

สำหรับกลุ่ม สกินแคร์ ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เป็นเพราะเป็นธุรกิจที่มีการ แข่งขันสูง ขณะเดียวกัน ความต้องการก็สูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคออกนอกบ้านมากขึ้น จากในช่วงที่โควิดระบาดต้องอยู่แต่บ้าน นอกจากนี้ สกินแคร์ยังเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาติมักซื้อ โดยมีมูลค่าการส่งออกถึง 18,000 ล้านบาท ทำให้ธุรกิจสกินแคร์เป็นกลุ่มที่ใช้เงินมากที่สุด

ส่วน รีเทล ที่ขึ้นมาเป็นอันดับ 5 เป็นเพราะในช่วง 2 ปีก่อนเจอโควิด พอประเทศเปิดรีเทลจึงกลับมาใช้จ่ายกับการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทำการตลาดแบบ ออมนิชาแนล เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า รวมถึงสื่อสารกับชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เช่น AR,VR เพื่อทำให้เกิด Metaverse Shopping ทำให้การใช้เงินโฆษณาออนไลน์เยอะขึ้น

เครื่องดื่ม Non-Alcohol ถือเป็นธุรกิจเดียวที่เม็ดเงินลดลงถึง -12% แต่ที่เม็ดเงินในดิจิทัลลดลงเป็นเพราะถูกโยกไปใช้กับ ออนกราวด์อีเวนต์ เพื่อเจาะ Gen Z อีกส่วนคือ ใช้เงินกับ อินฟลูเอนเซอร์โดยตรง ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ 

Meta ยังครองแชมป์โกยเงินสูงสุด

แพลตฟอร์มที่โกยเงินจากแบรนด์มากสุดยังคงเป็น Meta หรือ Facebook และ Instagram คิดเป็นสัดส่วนถึง 28% หรือประมาณ 8,183 ล้านบาท ตามด้วย YouTube (16%) คิดเป็นมูลค่า 4,751 ล้านบาท แต่ที่น่าจับตาคือ TikTok แม้มีสัดส่วนเพียง 7% ครองเม็ดเงิน 2,048 ล้านบาท แต่ขยับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วนเพียง 4% เท่านั้น

“Meta แม้จะยังเป็นแชมป์แต่สัดส่วนก็ลดลงจาก 32% ส่วน YouTube และ TikTok เติบโตชัดเจน แสดงให้เห็นว่าเทรนด์ของวิดีโอยังคงมาแรง”

TikTok ผู้สร้างเทรนด์ Affiliate Marketing

การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์วิดีโอนั้นล้อไปกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยปัจจุบันกลุ่มผู้ชมหลักไม่ใช่กลุ่มอายุ 18-24 ปี แต่เพิ่มเป็น 18-50 ปีขึ้นไป แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุดูวิดีโอมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะคอนเทนต์เกี่ยวกับความรู้ How To ต่าง ๆ ไม่ได้มีแค่คอนเทนต์บันเทิง ขณะที่คอนเทนต์ รีวิว ถือเป็นคอนเทนต์ที่กระตุ้นให้เกิด การซื้อ ได้มากขึ้นด้วย ซึ่งจากการเติบโตดังกล่าวทำให้แบรนด์ โยกเงินจากทีวีมาลงในแพลตฟอร์มวิดีโอแทน

และนอกจากเทรนด์วิดีโอสั้น TikTok ยังเป็นผู้สร้างเทรนด์ Affiliate Marketing ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมากในแพลตฟอร์ม จากที่แบรนด์จ่ายค่าโฆษณาให้ Influencers ทำคอนเทนต์ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น ส่วนแบ่งยอดขาย โดยข้อดีคือ แทร็กได้ว่า Influencers ที่ใช้สามารถทำยอดขายได้เท่าไหร่ แบรนด์เองก็จะสามารถเลือกใช้งาน Influencers ได้ตรงจุดมากขึ้น

TikTok Tako แชตบอต
(Photo by cotton bro studio / Pexels)

LIVE อีกเทรนด์ที่ยังโตได้อีก

Live กลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้บริโภคไปแล้ว เพราะสามารถใช้ฟรี ทำให้การขายของเยอะขึ้น แพลตฟอร์มก็สนับสนุนการ Live เพราะอยากจะเพิ่มทราฟฟิกผู้ใช้ในแพลตฟอร์มมากขึ้น ส่งผลให้ทุกแพลตฟอร์มสามารถไลฟ์ขายของได้หมด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการไลฟ์ขายของของไทยยังอยู่กลาง ๆ ยังไม่แอดวานซ์เท่าจีน ที่ใช้ AI ขายของ 24 ชั่วโมง ดังนั้น เทรนด์นี้ยังเติบโตได้อีก

“นักการตลาดต้องเป็นมนุษย์มัลติฟังก์ชันมากขึ้น เพราะคนใช้งานแพลตฟอร์มหลากหลายมากขึ้น ใช้ดีไวซ์มากขึ้น ทำให้การใช้สื่อมีความแฟลกเมนต์มากขึ้น การหา ROI ทำได้ยากขึ้น การเรียนรู้ก็ยากขึ้น ดังนั้น นักการตลาดในปัจจุบันนอกจากขายของเป็น เรียนรู้เรื่องการตลาด แต่ตอนนี้ต้องทำไลฟ์เป็น ต้องหาช่องทางใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค และ ต้องสื่อสารแบบพอดี เพราะคนสมัยนี้มีอคติกับโฆษณา”