ยุโรปทดลอง “ดิจิทัล พาสปอร์ต” โชว์ในสมาร์ทโฟนผ่าน ตม. ได้เลย นำร่องก่อนที่ฟินแลนด์

ครั้งแรกในโลกที่มีการข้ามพรมแดนด้วยการใช้ “ดิจิทัล พาสปอร์ต” บนสมาร์ทโฟน เริ่มนำร่องครั้งแรกในกลุ่มประชากรฟินแลนด์ โดยสหภาพยุโรป (EU) คาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถผลักดันให้ประชากร 80% สามารถข้ามพรมแดน 27 ประเทศด้วยดิจิทัล พาสปอร์ตได้ภายในปี 2030

ตั้งแต่สิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โครงการนำร่อง “ดิจิทัล พาสปอร์ต” ในทวีปยุโรปเริ่มทดลองใช้กับกลุ่มประชากร “ฟินแลนด์” ก่อนเป็นกลุ่มแรก โดยมีการใช้งานในกลุ่มพาร์ทเนอร์ 3 ฝ่าย คือ สนามบินเฮลซิงกิ, สายการบิน Finnair และสนามบินอีก 3 แห่งในสหราชอาณาจักร

ประชากรฟินแลนด์ที่บินด้วย Finnair ผ่านเข้าออกระหว่างสนามบินเฮลซิงกิกับ 3 สนามบินในสหราชอาณาจักร สามารถเลือกใช้บริการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ด้วยระบบ “Digital Travel Credential” (DTC) ได้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2024

สำหรับระบบ DTC จะทำให้ผู้เดินทางสามารถผ่าน ตม. ได้เร็วขึ้นและสะดวกขึ้นกว่าปกติ ไม่ต้องต่อคิวอีกต่อไป

โครงการนี้เกิดขึ้นจากการสนับสนุนเงินทุนของ EU ด้วยเม็ดเงิน 2.3 ล้านยูโร (ประมาณ 88 ล้านบาท) หลังจากผ่านช่วงทดลอง 6 เดือนแรกในฟินแลนด์ไปแล้ว EU จะเดินหน้าขยายการนำร่องต่อไปที่สนามบินซาเกร็บ ฟรานโจ ทุดจ์มัน ในประเทศโครเอเชีย และสนามบินสคิปโพล กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

โครงการนี้เป็นโครงการสืบเนื่องมาจากกฎหมาย eIDAS ที่ EU ผ่านกฎหมายออกมาเมื่อปี 2014 ระเบียบนี้สนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบ ‘Digital ID’ ร่วมกันของทั้งสหภาพยุโรป เพื่อทำให้การทำธุรกิจและธุรกรรมระหว่างบุคคลสามารถทำได้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องกังวลว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในส่วนใดของ EU

ระบบ DTC ของยุโรปที่เริ่มใช้นี้ จะไม่เหมือนกับระบบ “หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “ไบโอเมตริกพาสปอร์ต” เพราะ DTC เป็นการเก็บข้อมูลตรวจสอบตัวตนบุคคลไว้ในมือถือ แต่หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นการฝังไมโครชิปไว้ในตัวเล่มหนังสือเดินทางเลย และในไมโครชิปจะมีการบรรจุข้อมูลทางชีวภาพที่ระบุตัวตนเจ้าของเล่มหนังสือเดินทาง

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนมาใช้ไบโอเมตริกพาสปอร์ตกันแล้ว เพราะเมื่อเปลี่ยนมาฝังไมโครชิปไว้ในเล่ม จะทำให้การปลอมแปลงหนังสือเดินทางทำได้ยากขึ้น เนื่องจากบริเวณหน้าที่ฝังไมโครชิปจะผลิตขึ้นในลักษณะคล้ายกับบัตรเครดิต ทำด้วยพลาสติกเป็นชั้นๆ ที่อัดติดกัน จนไม่สามารถแยกชิ้นส่วนออกมาได้โดยไม่สร้างความเสียหายต่อหน้าพาสปอร์ตนั้นทั้งแผ่น

Source