เจาะลึกตลาด ‘รถเช่า’ สมรภูมิ 5 หมื่นล้านที่มีแต่ ‘รายใหญ่’ เท่านั้นที่ได้ไปต่อ

หากพูดถึงบริการ รถเช่า เชื่อว่าหลายคนจะนึกถึงการเช่ารถแบบรายวันสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ความจริงแล้วตลาดคอนซูมเมอร์คิดเป็นเพียง 10% เท่านั้น และปัจจุบันตลาด 50,000 ล้านบาทก็ไม่หมูที่รายเล็กจะสอดแทรกเข้ามาได้ เป็นสมรภูมิของรายใหญ่เต็มรูปแบบ

ตลาด 5 หมื่นล้านยังหดตัว

แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จะมองเห็นธุรกิจรถเช่าแค่ในส่วนของการเช่ารายวันที่ให้บริการกับคอนซูมเมอร์ทั่วไป แต่จริง ๆ แล้วตลาดใหญ่จะเป็นฝั่ง B2B ใหญ่สุด โดย 70% เป็น ตลาดองค์กร (Operating Lease) อีก 20% เป็นการ เช่าเพื่อการเงินหรือลงทุน (Finance Lease) และสุดท้ายก็คือ เช่าระยะสั้น (Rent) ส่วนใหญ่เป็นการเช่าเพื่อการท่องเที่ยวระยะสั้นตั้งแต่เป็นวันหรือยาวเป็นเดือน

อย่างไรก็ตาม พิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ. กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส หรือ KCAR ตลาดเช่ารถ 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าปีนี้จะหดตัวลงเล็กน้อย 2-3% เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีทำให้บริษัทต่าง ๆ อาจยังไม่แข็งแรงและยังไม่ลงทุน หรือเริ่มหันไปลงทุนระยะยาวมากขึ้นจาก 3 ปี เป็น 5 ปี โดยปัจจุบันลูกค้า KCAR ราว 80% ขยายสัญญาเป็น 5 ปี ส่วนการ เช่าระยะสั้น แม้ฟื้นตัวกลับมาประมาณ 70% เพราะการท่องเที่ยวเริ่มฟื้น แต่ด้วยขนาดตลาดที่เล็กเมื่อเทียบกับตลาดทั้งหมด จึงไม่ส่งผลมากนัก

เช่ารถไม่หมู เลยเหลือแต่รายใหญ่

ปัจจุบัน ตลาดเช่ารถมีผู้เล่นประมาณ 10 ราย และ 90% เป็นผู้เล่นรายใหญ่ โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเลย โดย พิชิต มองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ การแข่งขันที่รุนแรง นอกจากนี้ยังเข้ายากเพราะต้องมี กระแสเงินสด และ ประสบการณ์ เพราะจุดที่ยากของอุตสาหกรรมก็คือ การบริหารค่าเสื่อมต่าง ๆ เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ในการประเมิน

“อุตสาหกรรมนี้โตง่าย แต่ยั่งยืนไหมอีกเรื่อง เพราะเบอร์ 1 เปลี่ยนทุก 5 ปี โดยตลาดสามารถโตได้ทันทีถ้ามีการ ดั้มพ์ราคา ดังนั้น ผู้เล่นรายเล็กจึงเข้ามายาก”

หนึ่งในจุดที่ทำให้การนี้ประเมินค่าเสื่อมยากก็คือ ไม่มีกฎหมายจำกัดไมล์ ต่างจากในต่างประเทศ ทำให้ผู้เช่าใช้งานรถหนัก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมเลขไมล์วิ่งให้อยู่ในระดับคุ้มทุนได้ ซึ่งธุรกิจกว่าจะรู้ว่ากำไรหรือไม่ก็ต้องจนขายรถมือสองได้

SME โอกาสใหม่ของตลาด

สำหรับตลาดเช่ารถในช่วง 3 ปีข้างหน้าเชื่อว่าจะยังไม่เติบโต เพราะไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไทย แต่มองว่าเศรษฐกิจทั่วโลกก็ยังไม่ดี อีกทั้งการแข่งขันในตลาดจะยิ่งสูงขึ้น ขณะที่ลูกค้าองค์กรใหญ่ตอนนนี้ดีมานด์เต็ม และหันไปเช่าระยะยาวมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม โอกาสของตลาดที่ KCAR เห็นคือกลุ่ม SME ที่เริ่มหันมาเช่ารถมากขึ้น นอกจากนี้ เชื่อว่าจะมีดีมานด์ใหม่ ๆ จากกลุ่มภาครัฐ

“องค์กรมักคิดว่าซื้อดีกว่าเช่า เพราะคิดว่าครบ 5 ปีก็ขายได้เงินกลับมาครึ่งหนึ่ง แต่เขาลืมคิดถึงค่าบริหารจัดการต่าง ๆ ลงไปในต้นทุน ขนาดแบงก์ยังใช้การเช่าเลย แปลว่าเขาคิดแล้วว่ามันคุ้มกว่าซื้อ”

อีวียังไม่ตอบโจทย์องค์กร

แม้ว่าภาพรวมตลาดรถอีวีในไทยจะเติบโตอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ พิชิต มองว่า ตลาดอาจเติบโตกว่าความเป็นจริง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นเรื่องของกระแสที่กำลังมาแรง ทำให้เชื่อว่าในปีหน้าดีมานด์อาจลดลง ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจต้องรอดูนโยบายสนับสนุนของภาครัฐอีกที

ในส่วนของตลาดเช่ารถ รถอีวียังไม่ตอบโจทย์ภาคองค์กร โดยหลังจากที่ KCAR ได้ลองให้เช่ากับลูกค้ากว่า 200 บริษัท แต่มีเพียง หลักสิบที่กลับมาเช่าซ้ำ เนื่องจากยังหาที่ชาร์จไฟยาก ขณะที่การทำโปรโมชันของ KCAR ก็เปลี่ยนไป จากที่เคยให้บัตรเติมน้ำมันก็เปลี่ยนเป็นการชาร์จไฟแทน อย่างไรก็ตาม มองว่ากลุ่มรถอีวีจะได้รับความสนใจมากขึ้นจาก บริษัทข้ามชาติ และเทรนด์ของ คาร์บอนเครดิต

“รถอีวีอาจได้รับความสนใจจากผู้ใช้รายย่อย แต่สำหรับภาคองค์กรยังไม่ตอบโจทย์ และที่สำคัญ จริง ๆ แล้วรถอีวีมันมีรายละเอียดเยอะ แม้อะไหล่รถจะน้อยก็จริง แต่จะมีเรื่องของซอฟต์แวร์ เช่น การอัปเดตเฟิร์มแวร์ต่าง ๆ ที่อาจเป็นปัญหาที่เราไม่ได้คิด”

รายได้โตไม่เยอะเน้นกำไร

ปัจจุบัน KCAR มีจำนวนรถที่ปล่อยเช่าอยู่ที่ประมาณ 9,000 คัน และมีฐานลูกค้าบริษัทจำนวน 1,200 บริษัท โดยรายได้จากธุรกิจรถเช่าคิดเป็น 59% รองมาเป็นรายได้จากรถมือสอง 39% และอื่น ๆ อีก 2% โดยในช่วงครึ่งปีแรก KCAR มีรายได้ 1,153 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 132.1  ล้านบาท โดยกำไรเติบโต 30% สำหรับภาพรวมทั้งปีคาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้น 3-4% แต่ปีหน้าตั้งเป้าเติบโต 10%

“สิ่งแตกต่างคือวิสัยทัศน์ คนอื่นมองว่าเป็นองค์กรการเงิน แต่เรามองว่านี่คือธุรกิจบริการ คนเราจะเยอะ มีแผนกดูแลลูกค้าทั่วถึง ต่างจากคนอื่นที่ใช้คนน้อยเพื่อลดต้นทุน ดังนั้น เราไม่เน้นการเติบโตอย่างเดียว แต่เน้นสมดุลในการทำธุรกิจ แม้เราขายได้ไม่เยอะ แต่กำไรเรามาเพราะการบริหารจัดการ”