จำนวนบริษัทเกาหลีใต้ที่ขอลงทุนในอาเซียน อย่างเวียดนาม หรือแม้แต่ญี่ปุ่น มีจำนวนแซงจีนไปแล้ว ด้วยสาเหตุไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันกับบริษัทจีน ค่าแรงที่สูงขึ้น หรือแม้แต่ทางการจีนออกมาตรการกีดกันทางการค้า
South China Morning Post รายงานข่าวโดยอ้างอิง Chosun สื่อในประเทศเกาหลีใต้ว่าบริษัทในเกาหลีใต้สนใจลงทุนในอาเซียนและญี่ปุ่นมากกว่าในประเทศจีนแล้ว ประเด็นสำคัญมากจากโดนบริษัทคู่แข่งในแดนมังกร การกีดดันทางการค้า หรือแม้แต่ค่าแรงที่แพงไป
ในส่วนของอาเซียนนั้นในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเกาหลีใต้สนใจที่จะมาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ที่เป็นฐานการผลิตของบริษัทเกาหลีใต้หลายแห่ง โดยที่เห็นชัดสุดคือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Samsung ที่ย้ายกำลังการผลิตออกจากจีน ไม่ว่าจะเป็นสายการผลิตโทรทัศน์ หรือสายการผลิตหน้าจอแสดงผล ในปี 2020
ขณะเดียวกันการลงทุนในประเทศจีนเอง บริษัทเกาหลีใต้เริ่มสนใจน้อยลงแล้ว อ้างอิงรายงานจากธนาคารส่งออกและนำเข้าของเกาหลีใต้ (Export-Import Bank of Korea) ได้รายงานว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2023 บริษัทจดทะเบียนใหม่ที่ขอลงทุนในญี่ปุ่นนั้นมีจำนวนมากถึง 118 บริษัท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 46 บริษัทเท่านั้น
ตรงข้ามกับทางด้านบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่ขอลงทุนในจีนตกลงเหลือ 87 บริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จากเดิมอยู่ที่ 99 บริษัทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2022
โดยจำนวนบริษัทเกาหลีที่ขอลงทุนในประเทศจีนมีจำนวนน้อยกว่าในญี่ปุ่นต้องย้อนไปถึงปี 1989 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังอยู่ในจุดสูงสุด
ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 บริษัทเกาหลีใต้จดทะเบียนลงทุนในเวียดนามมีมากถึง 233 บริษัท มากกว่าจีนที่มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 156 บริษัทเท่านั้น และถือเป็นครั้งแรกที่การลงทุนในจีนตามหลังเวียดนาม
สาเหตุที่ทำให้บริษัทจากเกาหลีใต้ลงทุนในจีนลดลงมีหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่แข่งในจีนที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันมีมากขึ้น ขณะเดียวกันความขัดแย้งของสหรัฐอเมริกาและจีนเพิ่มมากขึ้น ค่าแรงในประเทศจีนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงกรณีที่เกาหลีใต้ติดระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ส่งผลทำให้จีนออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ South China Morning Post ยังยกรายงานของสำนักข่าว Yonhap สื่อในเกาหลีใต้รายงานโดยอ้างอิงจากคำกล่าวของตัวแทนธนาคารส่งออกและนำเข้าของเกาหลีใต้ว่า “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ช้ากว่าคาด ขณะเดียวกันจีนยังมีมาตรการต่างๆ ที่ควบคุมสังคมเพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยทางตรงและทางอ้อม” ส่งผลทำให้บริษัทเกาหลีใต้ลงทุนในจีนลดลง
Zhang Huizhi ศาสตราจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือศึกษาที่มหาวิทยาลัย Jilin ได้กล่าวกับ South China Morning Post อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่อง ความยืดหยุ่นและความมั่นคงของเรื่อง Supply Chain ซึ่งบริษัทเกาหลีใต้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก ส่งผลทำให้บริษัทจากแดนกิมจิย้ายกำลังการผลิตออกจากจีน
อย่างไรก็ดีศาสตราจารย์ท่านดังกล่าวยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าบริษัทเกาหลีใต้ที่ลงทุนอยู่ในประเทศจีนหลังจากนี้ก็ต้องปรับตัวอย่างหนักเช่นกัน เนื่องจากจะต้องผลิตสินค้าที่ไม่ได้เน้นเรื่องการใช้ค่าแรงเป็นหลัก ต้องผลิตสินค้าที่ทันสมัยและไฮเทคมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงมาตรการของทางการจีนที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้วย