“สยามพิวรรธน์” เดินหน้าสู่ Net Positive Impact ตั้งเป้าศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030


เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นเพียงแค่กระแสอีกต่อไป ในโลกธุรกิจนั้นได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับตั้งเป้าเป็นเป้าหมายใหญ่ขององค์กรอีกด้วย เราจึงได้เห็นหลายองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG หรือตั้งเป้าหมายเรื่อง Net Zero กันถ้วนหน้า


สร้าง Net Positive Impact พร้อมจับมือพันธมิตรทุกภาคส่วน

“สยามพิวรรธน์” เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมายาวนาน ไม่ใช่เพิ่งเริ่มทำเมื่อเป็นกระแส แต่ทำมากว่า 10 ปีแล้ว ได้เดินหน้าสู่ Net Positive Impact ตั้งเป้าศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030 และเป้าหมายใหญ่คือ Net Zero ในปี 2050

พร้อมกับเตรียมนำนำร่องยกระดับย่าน “ปทุมวัน” สู่แนวคิดการสร้างสรรค์เมืองให้เป็นย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ ซึ่งสยามพิวรรธน์ไม่ได้สร้างแค่ศูนย์การค้าอย่างเดียวอีกต่อไป แต่สร้างเมืองขนาดย่อมๆ สร้างพื้นที่ให้คนใช้ชีวิต

นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า

“สยามพิวรรธน์ใช้แนวคิดและมาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจนได้รับการยอมรับจากแบรนด์ชั้นนำของโลกมาอย่างยาวนาน  ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับคนจำนวนมาก และเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สยามพิวรรธน์จึงใช้ธุรกิจเป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสและพัฒนาศักยภาพของคน ส่งเสริมให้ผู้คนที่มีส่วนร่วมกับสยามพิวรรธน์ได้เติบโตและประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กับเรา  คำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกๆ พื้นที่ที่ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า  การนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ในปีนี้  สยามพิวรรธน์ยังมีความมุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพ และเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมขับเคลื่อนเมืองต้นแบบมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางที่ใส่ใจฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมใจกลางเมือง ผลักดันเรื่องพลังงานหมุนเวียน บริหารจัดการขยะแบบ 360 องศา และเตรียมพร้อมประกาศลงนามความร่วมมือเรื่องความยั่งยืนกับแบรนด์ระดับโลกในต้นปี 2024 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050”

สยามพิวรรธน์จะเป็นค้าปลีกแห่งแรกในประเทศไทยที่ร่วมมือกับแบรนด์ดังและองค์กรชั้นนำระดับโลก ผนึกกำลังด้านความยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติร่วมกันอันเป็นการดำเนินธุรกิจตาม Global Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานในระดับสากล


พลังงานสะอาด-จัดการขยะ เป้าหมาย Net Zero

นราทิพย์เสริมว่า สยามพิวรรธน์ประกาศเป็นศูนย์การค้ารายแรกที่จะทำ Net Zero ภายในปี 2050 แต่แนวทางที่จะทำไม่ใช่เพิ่งเริ่มทำ มีการทำมามากกว่า 10 ปีแล้ว พร้อมกับมีพันธมิตรมากมายทำให้เกิดพลังงานทางเลือก

ที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ได้บรรจุการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด พลังงานทางเลอืก การจัดการบริหารขยะ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยเริ่มต้นจากการอนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ LED ช่วยประหยัดพลังงาน และการใช้ระบบ AI ในการควบคุมการทำงานของระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร เป็นต้น ตลอดจนขยายผลไปสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยการนำนวัตกรรมโซลาร์รูฟท็อปมาติดตั้งที่ไอคอนสยาม สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อ/ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 550 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ต่อปี

ร่วมมือกลุ่มบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพัฒนาและติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) บนพื้นที่สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ กว่า 20,000 ตารางเมตร ให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่าปีละ 4,800,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 4,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายองค์กรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ให้กับโลกของเราโดยร่วมมือกับพันธมิตรติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการที่ศูนย์การค้า

ในขณะนี้ สยามพิวรรธน์กำลังศึกษาร่วมกับองค์กรชั้นนำทางด้านพลังสะอาดของประเทศไทยอีกหลายแห่ง อาทิ บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท  บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยมุ่งเพื่อให้ทุกศูนย์การค้าภายในกลุ่มสยามพิวรรธน์ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy (RE) โดยร่วมมือกับองค์กรชั้นนำ ในการจัดหาพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในพื้นที่ศูนย์การค้าต่างๆ โดยมีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 30% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่สยามพิวรรธน์บริหารจัดการเอง ภายในปี 2026 และ 100% ภายในปี 2030

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะต่างๆ ผ่านโครงการ Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste ส่งเสริมให้คนไทยจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยจุดบริการรับขยะ (Recycle Collection Center ; RCC) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร นำขยะที่ทำความสะอาด และคัดแยกแล้วส่งต่อเข้ากระบวนการรีไซเคิล (Recycle) เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือนำมาเข้าสู่กระบวนการอัพไซเคิล (Upcycle) เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยส่วนหนึ่งยังกลับมาวางจำหน่ายบนพื้นที่สำหรับสินค้ารักษ์โลก “อีโค่โทเปีย” (ECOTOPIA) โดยมีเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบของขยะจากการดำเนินงาน 50% ภายในปี 2030

รวมไปถึงปัญหาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) จึงร่วมสนับสนุน Synnex ในโครงการ ทิ้งให้ถูกที่่กับ Trusted By Synnex E-Waste โดยจะเปิดจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ Electronic Waste (E-waste) ณ. บริเวณ NextTech สยามพารากอน


เปิดยุทธศาสตร์พัฒนาย่านปทุมวัน

สยามพิวรรธน์เป็นหัวหอกในการนำร่องยกระดับย่านปทุมวันสู่ย่านต้นแบบอัจฉริยะภายใต้แนวคิด SMART ECO -DISTRICT ผ่านความร่วมมือกับ “รศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล” ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ขับเคลื่อนย่านปทุมวันสูย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมรักษาบทบาทการเป็นผู้นำย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

“ปทุมวันเป็นศูนย์กลาง Shopping Destination สำหรับชาวไทย ชาวต่างประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย โดยมี ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ทั้งแนวดิ่งและแนวราบหลากหลายให้เลือกเดินตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน และพื้นที่แห่งนี้ยังมีสถานศึกษา สถาบันกวดวิชา สำนักงาน อาคารมิกซ์ยูส และอื่นๆ อีกมากมาย การที่สยามพิวรรธน์เป็นหัวหอกในการนำร่องยกระดับย่านปทุมวันสู่ย่านต้นแบบอัจฉริยะภายใต้แนวคิด SMART ECO-DISTRICT จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมรักษาบทบาทการเป็นผู้นำย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป” 

มีการวางโรดแมปของยุทธศาสตร์นี้ ตั้งแต่ปัจจุบัน ไปจนถึงช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 เริ่มจัดทำวิสัยทัศน์ และผังยุทธศาสตร์ย่านปทุมวันก่อน

สยามพิวรรธน์มีพันธกิจสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนเพื่อให้บรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย” และ เพื่อโลกที่ดีขึ้นของทุกคน