KTC จัดทัพองค์กรครั้งใหญ่ หลังจากที่ “ระเฑียร ศรีมงคล” CEO ที่อยู่กับองค์กรยาวนานถึง 11 ปี ถึงคราวเกษียณอายุ พร้อมกับได้ส่งไม้ต่อให้กับ “พิทยา วรปัญญาสกุล” นั่งแท่น CEO คนใหม่ โดยมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ทั้งนี้ยังคงมีภารกิจสำคัญกับเป้าหมายกำไรหมื่นล้านภายใน 5 ปี
CEO คู่บุญของ KTC
ถ้าพูดถึงชื่อ “ระเฑียร ศรีมงคล” ขึ้นชื่อว่าเป็น CEO คู่บุญของ KTC หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่อยู่กับบริษัทมายาวนาน 11 ปี เตรียมปิดฉากอำลาตำแหน่งในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 หลังจากที่ต่ออายุเกษียณอายุมาแล้วถึง 2 รอบ
ระเฑียรได้เข้ารับตำแหน่ง CEO ของ KTC เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2555 ในตอนนั้นสถานการณ์ของบริษัทเรียกได้ว่าย้ำแย่สุดๆ มีผลการดำเนินงานขาดทุนกว่าพันล้าน แต่พ่อมดระเฑียรสามารถเสกผลกำไรภายในปีแรกตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งได้ แม้จะเริ่มที่หลักร้อยล้าน แต่ก็ค่อยๆ ไต่เป็นระดับพันล้านได้ในปีต่อๆ มา
ระเฑียรจบการศึกษาหลากหลายสาขา เช่น แพทยศาสตรบัณฑิต (ศิริราช) มหาวิทยาลัยมหิดล, บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปริญญาโทรัฐประศาสนศาตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พร้อมกับมีประสบการณ์ทำงานหลากหลาย ตั้งแต่การเป็นหมอรักษาโรคทั่วไป เข้าสู่วงการธนาคารและผ่านหน้าที่หลากหลาย เช่น Chief Dealer ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, กรรมการรองผู้จัดการ บงล. เอกธนา, เข้าร่วมงานกับธนาคารนครหลวงไทย ที่กลายธนาคารธนชาตหลังรวบกิจการ ซึ่งเป็นแบงก์ล่าสุดก่อนออกมาร่วมงานกับ KTC และเคยเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เช่น บริษัท ทีโอที ประธานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
นับเป็น CEO ที่มีความผสมผสานอย่างหลากหลาย จากประสบการณ์และการสั่งสมความรู้ทุกมิติ ตั้งแต่การเรียนหมอ เคยใช้วิชาชีพในการรักษาผู้คน การเรียนบริหารธุรกิจ เป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน รวมไปถึงความสนใจวิชาโหราศาสตร์ พยากรณ์ศาสตร์ ที่มาจากความชอบ และอ่านหนังสือทุกประเภท รวมไปถึงหนังสือพระ
เปิดใจการคัดเลือก CEO ใหม่
หลังจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มติบอร์ดบริหารได้แต่งตั้ง “พิทยา วรปัญญาสกุล” ขึ้นแท่น CEO คนใหม่อย่างเป็นทางการ และในขณะเดียวกันระเฑียรก็ได้เปิดใจครั้งแรกที่ทริปขอบคุณสื่อมวลชนที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้เดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐทูร์เคีย (ตุรกี) ภายใต้ธีม “The Story Continues…The Next Journey Begins” เป็นการส่งไม้ต่อถึงกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ ภายใต้ DNA เดิม
ระเฑียรกล่าวเปิดว่า “ใครที่จะขึ้นมาเป็น CEO ต่อจะต้องไม่เปลี่ยนแปลง ต้องมีกำไรต่อ มีเป้าหมายมีกำไรหมื่นล้านภายใน 4-5 ปี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความท้าทายรอบด้าน กระบวนการที่จะคัดเลือก CEO จึงสำคัญ หลายคนให้ความแข็งแกร่งด้าน Hard Skills แต่ที่ KTC มีสกิลในการปรับตัวสูง Hard Skills จึงไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือ ผู้นำต้องมี Leadership OS (The Operating System) ก็เลยมาดูว่าใครที่มีความเป็นผู้นำ สามารถสร้าง Leadership OS ใน KTC ได้ ก็เลยเลือกพิทยาที่มีคุณสมบัติพร้อม”
ระเฑียรขยายความถึง Leadership OS มีใจความสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่
- สร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับคน ห่วงใยผู้ที่เกี่ยวข้อง พาร์ตเนอร์ ลูกค้า มีความอบอุ่นใจ ลูกน้องสามารถแสดงความเห็นที่แตกต่างได้ ชัดเจน ไม่ปลิ้นปล้อนกลับไปกลับมา และแฟร์ คนที่ทำมากต้องได้มากกว่าคนที่ทำน้อย
- มีความชัดเจนในการดำเนินการ มีความคิด การตัดสินใจที่เฉียบขาด
- มีทิศทางการทำงานที่ต่อเนื่อง ทำสิ่งที่ทำมาแล้ว และส่งต่อเนื่องในอนาคตได้ มีการสร้างแรงจูงใจที่ดี สร้างสิ่งแวดล้อมให้อยากทำงาน มีความมั่นใจในงานที่ตัวเองทำ และมีคอนเนกชั่นที่ดี
พิทยาเป็นลูกหม้อร่วมงานในสายงานการตลาดกับ KTC มายาวนานถึง 26 ปี และมีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันองค์กรเคทีซีให้เติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันพิทยาดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงาน การตลาดและสื่อสารองค์กร (Chief Marketing & Communications Officer) ดูแลสายงาน การตลาดบัตรเครดิต การตลาดดิจิทัล และช่องทางออนไลน์ รวมทั้งสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์องค์กร ก่อนหน้านี้เป็นกรรมการและกรรมการตรวจสอบ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจจัดการกองทุน
ความท้าทาย กับเป้าหมายกำไรหมื่นล้าน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา KTC สร้างผลประกอบการ New High อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกธุรกิจต่างหยุดชะงัก เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้า ระเฑียรได้เคยวางเป้าหมายใหญ่ไว้ว่า KTC จะต้องมีกำไรหมื่นล้านให้ได้ภายในปี 2570 หรือราวๆ ภายใน 4-5 ปี
เมื่อพิทยาเข้ามารับช่วงต่อ ก็ต้องเจอกับโจทย์ยากนี้เช่นกัน เพียงแต่พิทยาได้เปิดใจว่า “จะพยายามทำให้ได้เร็วที่สุด” โดยที่ไม่กดดันตัวเอง และทีมงานจนเกินไป
พิทยา เล่าถึงแผนธุรกิจในปี 2567 ว่า ยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อทั้ง 3 ธุรกิจ คือธุรกิจบัตรเครดิต, สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน เพราะเชื่อว่ายังมีผู้บริโภคที่ต้องการสินเชื่ออยู่อีกมาก โดยจะเน้นขยายฐานสมาชิกไปยังผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อเป็นหลัก และไม่ชักจูงให้สมาชิกมีภาระหนี้ที่เกินความจำเป็น สอดคล้องกับแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
“การนำพาธุรกิจเคทีซีต่อจากนี้จะตั้งอยู่บน 3 องค์ประกอบคือ คน-กระบวนการ-เทคโนโลยี เริ่มจาก คน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญที่เราดูแลและให้ความสำคัญมาตลอด ในปีหน้าจะมุ่งพัฒนาและส่งเสริมความเป็นผู้นำของผู้บริหารรุ่นใหม่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาผู้บริหารระดับกลาง โดยเน้นการสร้างความเป็นผู้นำเพื่อจะร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ สำหรับกระบวนการจะให้ความสำคัญกับการออกแบบและปรับกระบวนการทำงานให้กระชับรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยยึดสมาชิกเป็นศูนย์กลาง มีความเข้าใจความต้องการของสมาชิกและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อทำการตลาด พร้อมทั้งปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และบริการของเคทีซี
ส่วนเรื่องเทคโนโลยีนั้น เคทีซียังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานคลาวด์ (Cloud Computing) ในโครงสร้างระบบทางด้านไอที รวมถึงการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งจะมีการใช้งานมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลดีในเรื่องความปลอดภัย ความเสถียร ยืดหยุ่น คล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในด้านต้นทุนการดำเนินงานและคุณภาพการให้บริการ นอกจากนี้ เคทีซียังเล็งเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเพิ่มศักยภาพขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงวิธีการที่ปัจจุบันเคทีซีได้ใช้ AI อยู่แล้วให้ใช้งานได้ดีขึ้น หรือการเริ่มศึกษาทดลองและใช้ Generative AI ในกระบวนการทำงานต่างๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อสมาชิก หรือเพื่อปรับปรุงคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ”
ธุรกิจบัตรเครดิต
สำหรับแผนในปี 2567 ธุรกิจบัตรเครดิต ปัจจุบันมีจำนวนบัตร 2.6 ล้านใบ จากลูกค้า 2.2 ล้านราย ยอดแอคทีฟ 90% ตั้งเป้ามีสมาชิกบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 230,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ เติบโต 15% จากปี 2566 โดยในปี 2567 จะเป็นปีที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยสำหรับสมาชิกในทุกขั้นตอนของการใช้บริการบัตรเครดิตเคทีซี ด้วยการพัฒนาแอปฯ “KTC Mobile” ต่อเนื่อง รวมทั้งต่อยอดผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต “เคทีซี ดิจิทัล” (KTC DIGITAL CREDIT CARD) ให้ตอบโจทย์การใช้งานออนไลน์มากขึ้น ด้วยการพัฒนาช่องทางสมัครบัตรออนไลน์ E-Application เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนออนไลน์
เน้นทำการตลาดในกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมเติบโตได้ดี อีกทั้งจะเดินหน้าสร้างคุณค่าร่วม (Co-creating value) กับพันธมิตรหลากหลายธุรกิจ ทั่วประเทศกว่า 2 พันราย เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิกบัตร
ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล
สินเชื่อส่วนบุคคลยังเป็นธุรกิจที่เน้นการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินเชื่อคุณภาพ โดยในปี 2567 ตั้งเป้าเติบโต 5% จำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เพิ่มขึ้น 100,000 ราย ด้วยแผนกลยุทธ์หลัก 2 เรื่อง คือ 1. สรรหาสมาชิกใหม่ที่มีคุณภาพ เน้นการรับสมัครผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์ E-Application เพื่อให้สมาชิกทำรายการได้ด้วยตนเอง และรู้ผลอนุมัติแบบเรียลไทม์ พร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีทันที รวมทั้งจะพัฒนากระบวนการรับสมัครผ่านเว็บไซต์ของเคทีซีและของพาร์ตเนอร์
2. สร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บัตรกดเงินสดให้กับสมาชิก “เคทีซี พราว” กว่า 700,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นการ “รูด โอน กด ผ่อน” โดยจะเพิ่มฟังก์ชันการเบิกถอนและใช้วงเงินผ่านแอปฯ “KTC Mobile” ให้รองรับการโอนเงินไปยังบัญชีพร้อมเพย์ เพิ่มเติมจากการโอนเงินเข้าบัญชีได้หลากหลายธนาคารในปัจจุบัน รวมทั้งจะยังคงจัดแคมเปญ “เคลียร์หนี้เกลี้ยง” ที่โดนใจสมาชิกมาตลอด 10 กว่าปี เพื่อส่งเสริมและตอบแทนให้ผู้ที่ใช้สินเชื่ออย่างมีวินัย ได้รับสิทธิ์ลุ้นเคลียร์หนี้กับเคทีซี
ธุรกิจเคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน
สำหรับธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ยังคงเน้นการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 2567 ที่ 6,000 ล้านบาท ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1. เน้นสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ด้วยคอนเทนต์ที่เน้นความบันเทิง เข้าถึงง่ายผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียล มีเดีย เสริมด้วยโฆษณาออฟไลน์ และสื่อตามพื้นที่สาขาของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ
2. ผนึกกำลังกับธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้า ผ่านสาขาธนาคารกว่า 900 แห่งเป็นหลัก เสริมด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ของธนาคาร อย่าง NEXT ถุงเงินและเป๋าตัง โดย “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อเดียวของธนาคารกรุงไทย ที่สามารถทำรายการอนุมัติได้แบบเรียลไทม์ พร้อมรับเงินทันที 3. ตอกย้ำและเสริมความแกร่งให้กับจุดแข็งผลิตภัณฑ์ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ในฐานะผู้บริการรายเดียวที่ให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที และยังขยายฐานไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อทะเบียนรถบิ๊กไบค์ เคทีซี พี่เบิ้ม” พร้อมบัตรกดเงินสด เคทีซี พี่เบิ้ม อีกด้วย
ในส่วนของ MAAI by KTC ในปี 2567 มีแผนจะขยายจำนวนพันธมิตรธุรกิจขนาดกลางและใหญ่อีกไม่ต่ำกว่า 20 ราย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิก MAAI ประมาณ 2 ล้านราย โดยพันธมิตรเป้าหมายของแพลตฟอร์ม MAAI จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เน้นสร้างความถี่ในการกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการซ้ำ แพลตฟอร์ม MAAI ยังมีการนำเสนอโมเดลการให้บริการที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยพันธมิตรร้านค้าบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับผลประกอบการของเคทีซี แจ้งงบการเงินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กำไรสุทธิ 5,534 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% โดยกำไรสุทธิไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 1,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% พอร์ตสินเชื่อรวมขยายตัว 10% อยู่ที่ 106,701 ล้านบาท จากปัจจัยสนับสนุนของการบริโภคภาคเอกชน
มีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 14.9% และมีส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 12.1% ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ในขณะที่สัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) อยู่ที่ 6.2% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม
มีฐานสมาชิกรวม 3,331,065 บัญชี แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,616,269 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 69,225 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวม 9 เดือนเท่ากับ 192,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.3% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 714,796 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” และดอกเบี้ยค้างรับ 30,246 ล้านบาท
เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 2,058 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 3.1% ยอดสินเชื่อลูกหนี้ใหม่ (New Booking) ของ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ในไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 794 ล้านบาท และรอบเก้าเดือนของปี 2566 มีมูลค่า 1,929 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อมีมูลค่า 3,369 ล้านบาท โดยมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ของรถขนาดใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรม (Commercial Loan) ในรอบ 9 เดือนของปี 2566 ที่ 1,446 ล้านบาท