ทุกวิกฤตไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟป่า พายุ ดินถล่ม ฝุ่น PM2.5 ฯลฯ ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกทั้งสิ้น และจากการประเมินพบว่า ความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สูงถึง 391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/วัน ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เผยให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่าแสนล้านต่อปีตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2562 หรือเฉลี่ยประมาณ 391 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน (ราว 1.4 หมื่นล้านบาท)
“เราพบว่าค่าเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศสูงถึงปีละ 1.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี โดย 63% เกิดจากการสูญเสียชีวิตของมนุษย์ ส่วนที่เหลือเกิดจากการทำลายทรัพย์สินและทรัพย์สินอื่น ๆ”
โดยปีที่มีการสูญเสียมากที่สุดคือปี 2551 ตามมาด้วยปี 2546 และ 2553 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง ไม่ว่าจะเป็น พายุไซโคลนนาร์กิสถล่มพม่าในปี 2551 คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 80,000 ราย หรือในปี 2546 เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงทั่วทวีปยุโรปคร่าชีวิตผู้คนไป 70,000 ราย และในปี 2553 เกิดคลื่นความร้อนในรัสเซีย และความแห้งแล้งในโซมาเลีย
ยิ่งเมื่ออุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นและภัยพิบัติรุนแรงขึ้น โดยในปี 2566 นี้ โลกได้บันทึกสถิติว่าเป็นปีที่ ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ปีนี้จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นมากมาย อาทิ ไฟป่าที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่เมืองเมาวี รัฐฮาวาย และทั่วยุโรปต้องดิ้นรนกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดและน้ำท่วมที่รุนแรง
นอกจากนี้ ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่รูปแบบสภาพอากาศเอลนิโญยังคงดำเนินอยู่แม้เข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก เช่น ทางตอนเหนือของอลาสกาและชายฝั่งอ่าวไทย มีแนวโน้มที่จะเผชิญฝนที่ตกในช่วงฤดูหนาวมากกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม แม้การประเมินความเสียหายจะดูมีมูลค่าสูงหลักหมื่นล้านบาทต่อวัน แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการประเมินต้นทุนที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่ำเกินไป เนื่องจากยังไม่มีการนำปัจจัยอย่าง การสูญเสียผลิตภาพที่เกิดจากคลื่นความร้อน ผลกระทบด้านสุขภาพจิตที่เกิดจากผู้คน หรือการสูญเสียการเข้าถึงการศึกษาและงานหากสถานที่ทำงานได้รับความเสียหาย
ด้วยความเสียหายที่มหาศาล รัฐบาลทั่วโลกจึงเห็นพ้องในข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกรุงปารีสปี 2558 ที่จะจำกัดความร้อนทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และดำเนินการพยายามที่จะจำกัดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นให้เหลือ 1.5 องศาเซลเซียส
ก็ต้องดูกันว่ามาตรการต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนรถอีวี การนำพลังงานสะอาดมาใช้ จะช่วยลดอุณหภูมิให้โลกได้สำเร็จหรือไม่? เพราะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะเป็นสัญญาณเตือนว่าโลกต้องการการเยียวยาอย่างรอไม่ได้