ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้อาหารทางการแพทย์เป็นเทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคตสอดรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด คาดมูลค่าตลาดเติบโตต่อเนื่องแตะ 1 หมื่นล้านบาทในอีก 7 ปีข้างหน้า แนะผู้ประกอบการไทยเร่งสร้างโอกาสเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยเฉพาะโรค พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานด้านโภชนาการ
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society)โดยมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ในระยะ 5-6 ปีข้างหน้า จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารของไทยในการพัฒนาอาหารทางการแพทย์ (Medical Foods) ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเฉพาะโรค
“Medical Foods เป็นหนึ่งในอาหารแห่งอนาคต (Future Foods) ที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตสูง จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคไตเรื้อรัง รวมทั้งเทคโนโลยีด้านอาหาร (FoodTech) และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้การพัฒนาอาหารทางการแพทย์สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางโภชนาการของแต่ละบุคคลมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2573 มูลค่าตลาด Medical Foods ของโลกจะสูงถึง 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 2.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับประเทศไทย คาดว่า ในปี 2573 ตลาด Medical Foods จะมีมูลค่าประมาณ 9.5 พันล้านบาท หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6.2% จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 5.9 พันล้านบาท”
นางสาวสุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Medical Foods ที่มีแนวโน้มเติบโตดี ได้แก่ อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร เช่น ผู้สูงอายุ โดยกลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตลาด Medical Foods ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตส่วนผสมอาหารทางการแพทย์ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตอาหารทางการแพทย์ รวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจต่อเนื่องที่มีโอกาสพัฒนาสูตรอาหารทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย เป็นต้น
“ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเริ่มมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดสู่อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย มีส่วนช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ จากปัจจุบันที่มีมูลค่านำเข้าประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุและผู้ป่วยเพราะอาหารทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศมีราคาต่ำกว่าการนำเข้าประมาณ 10% ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารทางการแพทย์ได้มากขึ้น และคาดว่าผู้ผลิตอาหารทางการแพทย์จะมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 23% เป็น 42% หรือเพิ่มขึ้น19% เมื่อเทียบกับการผลิตอาหารทั่วไป นอกจากนี้ หากต่อยอดสู่ Organic/Plant-based Medical Foods จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรของไทยประมาณ 12-22 เท่า และคาดว่าจะทำให้ผู้ผลิตอาหารทางการแพทย์มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 55%”
นางสาวอังคณา สิทธิการ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ธุรกิจอาหารทางการแพทย์ของไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรธุรกิจ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังรับรู้ถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ไม่มาก และเผชิญการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการจึงควรเน้นการลงทุนในเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและได้มาตรฐานสากลศึกษากฎระเบียบและมาตรฐานส่งออกอาหารทางการแพทย์ของประเทศคู่ค้า รวมทั้งสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของอาหารทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการหรือบรรเทาอาการของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษานอกจากนี้ ควรสร้างความร่วมมือทั้ง Ecosystem ตั้งแต่ผู้ประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ให้การรับรองมาตรฐานและให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานอาหารทางการแพทย์ เพื่อยกระดับศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยมากขึ้น