กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBX Group) ชูยุทธศาสตร์ 4 เสาหลักด้านความยั่งยืน ‘เมล็ดพันธุ์ดิจิทัล สังคมแห่งโอกาส เศรษฐกิจเพื่ออนาคต และภูมิอากาศที่ยั่งยืน’ มุ่งขับเคลื่อนการเข้าถึงโอกาสทางการเงินและสังคมให้กลุ่มที่เข้าไม่ถึงหรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Underserved) กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และชุมชน รวมกว่า 6 ล้านคน ภายในปี 2025 พร้อมผลักดันเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 เพื่อสนับสนุนประเทศและประชาคมโลกจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)
กลุ่ม SCBX ในฐานะองค์กรขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ตระหนักถึงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมและคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางความท้าท้ายทั้งในด้านความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (Income Inequality) เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technologies) และวิกฤตสิ่งแวดล้อม (Environmental Concerns) จึงได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน 4 เสาหลัก ‘เมล็ดพันธุ์ดิจิทัล สังคมแห่งโอกาส เศรษฐกิจเพื่ออนาคต และภูมิอากาศที่ยั่งยืน’ ภายใต้พันธกิจ ‘ทุกคนมีโอกาส ทุกวันเป็นไปได้ (Opportunities for Everyone, Possibilities Everyday)’ สำหรับเป็นแนวทางให้บริษัทในกลุ่ม SCBX ร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับคุณค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการผสานศักยภาพของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ทั่วถึงสำหรับทุกคนและสนับสนุนทุกภาคส่วนในการเร่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายเสถียร เลี้ยววาริณ Chief Sustainability Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “Global Risks Report 2023 ที่เผยแพร่โดยสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum เมื่อต้นปี สะท้อนให้เห็นว่า ‘วิกฤตค่าครองชีพ’ พุ่งติดอันดับ 1 ของความเสี่ยงโลกที่มีแนวโน้มจะรุนแรงในระยะสั้น 2 ปี ขณะที่ ‘การเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ’ ซึ่งติดอันดับ 1-3 ยังคงเป็นภัยคุกคามของโลกในระยะยาว 10 ปี โดยผลการสำรวจดังกล่าวตอกย้ำถึงความเร่งด่วนและความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะดำเนินงานในทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทั้งนี้ กลุ่ม SCBX เชื่อมั่นว่ากรอบยุทธศาสตร์ 4 เสาหลัก ซึ่งพัฒนาโดยพิจารณาบริบททางธุรกิจ ภูมิทัศน์ด้านความยั่งยืนและ Climate ตลอดจนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน จะช่วยให้กลุ่ม SCBX สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมสนับสนุนวาระโลกที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน และบรรเทาวิกฤตโลกร้อนด้วย”
เพื่อผลักดันกรอบยุทธศาสตร์ 4 เสาหลัก ซึ่งประกอบด้วย 7 เป้าประสงค์ (Strategic Goals) กลุ่ม SCBX ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายความยั่งยืน 3 ปี ระหว่างปี 2021-2025 ไว้ดังนี้
เมล็ดพันธุ์ดิจิทัล
- โซลูชั่นและความปลอดภัยทางดิจิทัล: สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลด้วยเงินลงทุน 14,000 ล้านบาท ภายใต้ความมุ่งมั่น Zero Tolerance ด้านความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ (Cybersecurity)
- ทักษะดิจิทัลเพื่ออนาคต: พัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับพนักงานและคนในสังคม จำนวน 200,000 คน
สังคมแห่งโอกาส
- บริการทางการเงินและดิจิทัลอย่างทั่วถึง: ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่กลุ่มที่เข้าไม่ถึงหรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Underserved) จำนวน 4 ล้านคน
- พลังเสริมธุรกิจและคนตัวเล็ก: สนับสนุน SME, Star-ups และชุมชน จำนวน 2 ล้านราย ด้วยเงินลงทุนราว 5,800 ล้านบาท เพื่อโอกาสทางธุรกิจและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
เศรษฐกิจเพื่ออนาคต
- การเงินที่ยั่งยืน: สนับสนุนทางการเงินจำนวน 100,000 ล้านบาทให้กับลูกค้าที่ร่วมเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจ-สังคมคาร์บอนต่ำและส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภูมิอากาศที่ยั่งยืน
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และเทคโนโลยีเพื่อโลก: บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จากการดำเนินงาน ภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อและการลงทุน ภายในปี 2050
- ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ: ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานร้อยละ 50 ภายในปี 2027
นายเสถียร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กลุ่ม SCBX มีความมุ่งมั่นที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินของคนไทย จึงได้นำ AI มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ซึ่งมีความแม่นยำและประสิทธิภาพสูง สามารถคัดกรอง วิเคราะห์ความเสี่ยง และอนุมัติสินเชื่อที่เหมาะสมให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เพียงข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ขณะเดียวกัน จะผลักดันการนำ AI มาใช้ในการบริหารจัดการประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจขององค์กร การสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน (Green/ Sustainable Finance) ให้กับลูกค้า และการลงทุนที่มุ่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero เพื่อก้าวสู่การเป็น AI-First Organization และ Net Zero Leader ไปพร้อมกัน”