เอไอก็เอาไม่อยู่! ‘Meta’ รับ ยังดีไม่พอจัดการ ‘มิจฉาชีพ’ วอนผู้ใช้ช่วย ‘รีพอร์ต’ บัญชีสแกมอีกแรง

หลังจากคนไทยคุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ต การช้อปออนไลน์ก็กลายเป็นอีกสิ่งที่ทำติดอันดับโลก รวมถึงการใช้ QR Payment ไทยถือเป็น Top5 ของโลกเลยทีเดียว และเมื่อคนไทยคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีก็คือ มิจฉาชีพ

อาชญากรรมออนไลน์ไทยเฉลี่ย 2.5 แสนคดี/ปี

พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการ กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่เปิดให้มีการแจ้งอาชญากรรมทางออนไลน์พบว่า มีการแจ้งรวมกว่า 3 แสนคดี หรือเฉลี่ยกว่า 700 คดี/วัน

รูปแบบอาชญากรรมออนไลน์ สามารถแยกได้เป็น 14 ประเภท แต่ที่มีจำนวนเยอะสุดอันดับ 1 คือ การซื้อขายออนไลน์ เช่น ได้ของไม่ตรงปก คิดเป็น 40% หรือกว่า 130,000 คดี ตามด้วย

  • หลอกทำภารกิจหรือเล่นเกม
  • หลอกทำงานออนไลน์
  • แก๊งคอลเซ็นเตอร์
  • หลอกลงทุน

“ในแต่ละปีความเสียหายจากมิจฉาชีพในไทยมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งมิจฉาชีพก็เอาเงินไปลงทุนเทคโนโลยี และคนเพิ่มเติม ทำให้เครือข่ายมีความซับซ้อนและกระจายในหลายประเทศ ทำให้จับได้ยากขึ้น มีกลโกงรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น โอกาสหลงเชื่อก็เยอะขึ้น” พ.ต.อ.เจษฎา กล่าว

พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการ กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

98% ของบัญชีสแกมที่เจอถูกปิดโดยเอไอ

เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้โฆษณาบนแพลตฟอร์มถูกใช้งานเพื่อการหลอกลวงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งแพลตฟอร์มก็ได้ กำหนดมาตรฐานการโฆษณาที่ได้รับอนุญาต และหากตรวจจับโฆษณาที่ละเมิดมาตรฐานการโฆษณา แพลตฟอร์มก็จะดำเนินการ ไม่อนุมัติ โฆษณาดังกล่าวในทันที

โดย Meta ได้ใช้ เอไอ เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของแพลตฟอร์ม โดยไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 Meta ได้เดินหน้าลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลก โดย 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกไปโดยเอไอก่อนที่จะมีการรายงานจากผู้ใช้

นอกจากนี้ Meta ก็มี คน ที่คอยตรวจสอบ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน อย่างไรก็ตาม ทาง Meta ไม่ได้เปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลส่วนนี้มากน้อยเพียงใด

เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ซ้ายของภาพ) อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta (ขวาของภาพ)

ยอมรับว่ายังมีช่องโหว่เพราะมิจฉาชีพเก่งขึ้น

เฮเซเลีย ยอมรับว่า แม้บัญชีหรือโพสต์สแกมจะถูกเอไอสกัดกั้นนับล้านบัญชีแต่ก็ยังมีบางส่วนที่หลุดรอดมาได้ ซึ่งแพลตฟอร์มไม่ได้พอใจ และจะพยายามหาทางสกัดกั้นเพิ่มเติม รวมถึงอยากขอให้ ผู้ใช้งานช่วยกันรีพอร์ตบัญชีสแกม ซึ่งเพียงแค่คนเดียวรีพอร์ตทาง Meta ก็เทคแอคชั่นทันที แต่ไม่สามารถระบุระยะเวลาในการดำเนินการได้ เพราะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบเบื้องต้นจะใช้เอไอ และมีมนุษย์คอยตรวจสอบอีกครั้ง

“เราพยายามเต็มที่ และต้องพยายามเพิ่ม ระบบก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป และต้องยอมรับว่ามิจฉาชีพพยายามหาช่องโหว่เพื่อให้หลุดรอดการตรวจสอบ เช่น ใช้สัญลักษณ์แปลก ๆ แทนพยัญชนะ ซึ่งเราก็พยายามสอนเอไอให้ฉลาดขึ้นเพื่อตรวจจับให้ได้ และใช้มนุษย์คอยตรวจซ้ำ”

ปัจจุบัน Meta มีผู้ใช้งานกว่า 3.88 พันล้านคน/เดือน มีมากกว่า 10 ล้านธุรกิจทั่วโลกใช้โฆษณาบน Meta และมากกว่า 200 ล้านธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีของ Meta ในการทำธุรกิจ

พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสกัดกั้น

อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Meta ได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเมื่อทางหน่วยงานแจ้งข้อมูลเข้ามาก็พร้อมดำเนินการปิดกั้น

นอกจากนี้ Meta ยังสร้างการตระหนักรู้และแคมเปญการให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถรู้เท่าทันกลลวงและรู้วิธีการรายงานเนื้อหาเข้ามาได้ อาทิ แคมเปญ #StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailand โครงการหลักในการเสริมทักษะดิจิทัลของ Meta โดยแคมเปญดังกล่าวได้เข้าถึงชาวไทยเป็นจำนวนกว่า 30 ล้านคนแล้วในปัจจุบัน ตั้งแต่มีการเปิดตัวในปี 2564

ปัจจุบัน ตำรวจไซเบอร์ได้เปิดสายด่วน 1441 เพื่อขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงแจ้งเบาะแสได้ทันที