คุยกับทีมผู้บริหารหญิง “ลุฟท์ฮันซ่า” กับมุมมองอุตสาหกรรมการบิน และการนำเครื่องบิน Airbus รุ่น A380 มาให้บริการในไทยอีกครั้ง

คุยกับทีมผู้บริหารหญิงของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า โดยล่าสุดสายการบินได้นำเครื่องบิน Airbus A380 นำกลับมาบินในเส้นทางกรุงเทพ-มิวนิก นอกจากนี้ยังได้พูดคุยในเรื่องของภาพรวมอุตสาหกรรมสายการบิน หรือแม้แต่ความท้าทายของลุฟท์ฮันซ่าหลังจากนี้

Positioning ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารหญิงของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า ได้แก่ เอลิเซ่ เบกเกอร์ รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซาบริน่า วินเทอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก รวมถึง อันลี โด ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ประเด็นที่ 3 ผู้บริหารได้เล่าให้ฟังนั้นไม่ว่าจะเป็นภาพรวมอุตสาหกรรมการบิน ความท้าทายของลุฟท์ฮันซ่า หรือแม้แต่การนำเครื่องบินรุ่นยักษ์อย่าง Airbus รุ่น A380 เข้ามาให้บริการในประเทศไทย

ลุฟท์ฮันซ่ากับประเทศไทย

สำหรับกลุ่มสายการบินใหญ่สุดจากเยอรมัน มีเส้นทางการบิน 200 เส้นทางทั่วยุโรป 300 เส้นทางนอกยุโรป มีเครื่องบินให้บริการมากกว่า 700 ลำ มีผู้โดยสารมากกว่า 100 ล้านคนต่อปี รายได้ของสายการบิน 32,800 ล้านยูโร รายได้สายการบินอันดับ 4 ของโลก

กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่ามีเส้นทางบินมายังประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนานถึง 64 ปีแล้ว ปัจจุบันมีเส้นทางการบิน กรุงเทพ-ซูริก กรุงเทพ-เวียนนา กรุงเทพ-มิวนิก นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินช่วง Seasonal ฤดูหนาว มีภูเก็ต-ซูริค ผ่านสายการบินลูกด้วย

ปัจจุบันกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าโฟกัสเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มประสบการณ์การเดินทางของลูกค้า เช่น การลงทุนเพิ่มในชั้นโดยสาร มีการจัดที่นั่งให้เหมาะกับลูกค้า หรือแม้แต่ที่นั่งแบบ Economy ปรับเป็นที่นอนได้ การมีหลายฮับการบิน รวมถึงการปรับธุรกิจไปเป็นกลุ่มสายการบิน

กลับมาใช้ A380 บินจากกรุงเทพ-มิวนิก

กลุ่มผู้บริหารหญิงของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า ได้กล่าวว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 4 ฮับการบินที่ลุฟท์ฮันซ่านำเครื่องบิน Airbus รุ่น A380 กลับมาบินอีกครั้ง โดยทีมผู้บริหารได้กล่าวเสริมว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตของการบินอย่างมาก เมื่อเทียบกับเอเชียเหนือ

ทีมผู้บริหารหญิงยังกล่าวว่า ประเทศไทยเองถือเป็นฮับที่เชื่อมต่อของกลุ่มสายการบินด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย นอกจากนี้ยังมองถึงการเติบโตของชนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากหลายประเทศที่สัดส่วนกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่เพียงแค่นั้น ประเทศยังเป็นประเทศที่เป็นฮับไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว แต่ยังเป็นเส้นทางสำคัญในการเดินทางด้านธุรกิจจึงเป็นโอกาสที่ทำให้สายการบินนำเครื่องบินลำยักษ์กลับมาให้บริการอีกครั้ง

เหตุผลที่กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าเลือกปลายทางเป็นสนามบินมิวนิก ทีมผู้บริหารหญิงได้ให้เหตุผลเพราะว่าเป็นสนามบินระดับ 5 ดาวของยุโรป และเชื่อมกับหลายเมืองในทวีปยุโรป รวมถึงใช้เวลาเชื่อมเที่ยวบินแค่ 30 นาทีเท่านั้น

ขณะเดียวกันการนำเครื่องบิน Airbus A380 นำกลับมาบินอีกครั้ง ยังทำให้กลุ่มสายการบินมีชั้นโดยสารให้บริการทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น First Class จนไปถึงชั้น Economy ซึ่งมีที่นั่งรวม 509 ที่นั่ง และเริ่มบิน 29 ตุลาคม โดยมีเที่ยวบินทุกวัน

Airbus A380 ที่สายการบินเตรียมนำกลับมาใช้งานในเที่ยวบินกรุงเทพ-มิวนิก (ภาพจาก Lufthansa)

ความท้าทายของสายการบิน

ทีมผู้บริหารหญิงของสายการบินได้กล่าวถึงความท้าทายของสายการบินคือ ปัญหาของ Supply Chain ซึ่งกลุ่มสายการบินฯ เจอปัญหาดังกล่าวเหมือนกัน ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการให้การบริการ ปัญหาอีกเรื่องคือการดึงเจ้าหน้าที่กลับมาทำงานอีกครั้ง หลายปัญหาในปัจจุบันถือว่าดีขึ้นมาก

ขณะเดียวกันปัญหาในการนำเครื่องบินแต่จอดไว้กลับมาใช้งานนั้น ทีมผู้บริหารหญิงกล่าวว่าใช้เวลาในการนำเครื่องบินกลับมาใช้งานอีกครั้งแต่ละลำใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการนำเครื่องบินไปจอดทิ้งไว้ หรือแม้แต่การตรวจสอบของเครื่องบินที่ใช้เวลาไม่เท่ากัน

นอกจากนี้กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่ายังมีแผนทื่จะเปลี่ยนเครื่องบิน ซึ่งแผนดังกล่าวอยู่ในงบลงทุน 2,500 ล้านยูโร ทีมผู้บริหารหญิงของกลุ่มสายการบินได้กล่าวว่า การเผาผลาญเชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นเก่า

ไม่เพียงเท่านี้กลุ่มสายการบินเปลี่ยนน้ำมันที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม (SAF) แต่ทั่วโลกผลิตได้แค่ 0.1% เท่านั้น ซึ่งสายการบินกำลังทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อที่จะผลิตน้ำมันชนิดดังกล่าวให้ได้มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันผู้บริหารของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า ได้กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มสายการบินยังไม่มีแผนที่จะยกเลิกการใช้เครื่องบินหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Boeing รุ่น 747 หรือแม้แต่ Airbus รุ่น A380 โดยจะใช้งานไปก่อน อย่างไรก็ดีขึ้นอยู่กับ Supply Chain และผู้ผลิตเครื่องบิน ซึ่งปัจจุบันทุกๆ 10 วัน สายการบินต้องตรวจรับเครื่องบินลำใหม่

สำหรับปัญหาค่าตั๋วที่มีราคาเพิ่มขึ้น ผู้บริหารหญิงของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า กล่าวว่าเนื่องจากเพราะคนต้องการบินเยอะ ขณะเดียวกันปัญหาที่พบคือเครื่องบินไม่พอ และยังมีปัญหาราคาน้ำมันเครื่องบินที่แพงขึ้น รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อด้วย

โดยทีมผู้บริหารได้กล่าวถึงความมั่นใจกับลูกค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ามีความต้องการเดินทางสูงมาก ซึ่งส่งผลทำให้สายการบินมีความมั่นใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย ในการนำเครื่องบินรุ่นดังกล่าวกลับมาบินในเส้นทางดังกล่าวอีกครั้ง